xs
xsm
sm
md
lg

"เฟด" อัดฉีด 3 หมื่นล. กู้วิกฤต "สภาคองเกรส" สวดยับแผนละเลงภาษี 7 $หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เฟด" อัดฉีดสภาพคล่อง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เข้าตลาดการเงินโลก โดยผ่านการทำสว็อปกับธนาคารกลาง "เบอร์นันกี" ผวาสภาคองเกรส ดองแผนกู้วิกฤต 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ชี้ หากล่าช้าอาจทำให้ความเสียหายลุกลามบานปลายจนคุมไม่อยู่ "รีพับลิกัน-เดโมแครต" เร่งตีโจทย์การละเลงเงินภาษีประชาชน

วันนี้ ( 24 ก.ย.) สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เริ่มแผนกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยดำเนินการร่วมธนาคารกลางสำคัญทั่วโลก อัดฉีดสภาพคล่อง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เข้าสู่ตลาดเงินโลกวันนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคลี่คลายวิกฤตการเงินโลก

โดยเมื่อเวลา 01.00 น.ตามเวลาในสหรัฐฯ เฟดได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดเงินโลกผ่านการทำสว็อปกับธนาคารกลางออสเตรเลีย เดนมาร์ค นอร์เวย์และสวีเดน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ทั้งนี้ เฟดจะทำสว็อปกับธนาคารกลางออสเตรเลียและสวีเดนแห่งละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคารกลางเดนมาร์คและนอร์เวย์ แห่งละ 5 พันล้านดอลลาร์

นายโจชัว วิลเลียมสัน นักวิเคราะห์จาก TD Securities Ltd. ในซิดนีย์ ออสเตรเลีย กล่าวว่า สหรัฐกำลังพยายามกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด หลังจากเกิดกระแสความวิตกกังวลที่ว่า มาตรการมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกอบกู้ระบบการเงินภายในประเทศอาจล่าช้าในระหว่างการพิจารณาของสภาคองเกรส โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เฟดได้ทำข้อตกลงสว็อปค่าเงินชั่วคราวกับธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางสวิส มูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ และก่อนหน้านี้ได้ข้อตกลงสว็อปค่าเงินกับธนาคารกลางญี่ปุ่น ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางแคนาดา มูลค่า 1.10 แสนล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การสว็อปค่าเงินที่ทางการสหรัฐพยายามงัดออกมาใช้ในเวลานี้ ก็เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยคาดหวังว่าจะช่วนฟื้นฟูบรรยากาศการลงทุนในตลาดให้กลับมาคึกคัก อีกทั้งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องที่เพียงพอ และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ยังคงขยายตัวต่อไปได้

รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า นายเบน เบอร์นันกี ประธานเฟด พร้อมด้วย เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลัง แถลงต่อสภาคองเกรสเมื่อคืนนี้ เรียกร้องให้สภาคองเกรสเร่งผ่านร่างแผนการช่วยเหลือสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมระบุว่า หากตลาดสินเชื่อไม่ทำงานตามกลไกที่ปกติ อัตราว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นอีก จำนวนบ้านถูกยึดจะเพิ่มขึ้น และตัวเลข GDP จะถดถอยลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะยิ่งฉุดรั้งเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวช้าลง พร้อมยื่นข้อเสนอแนะรัฐบาลควรเข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินในราคาที่สูงกว่ามูลค่าตลาด เพื่อกระตุ้นสภาพคล่องของสถาบันการเงินในยามที่ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.5% ในปีหน้า ซึ่งถือเป็นอัตราการขยายตัวที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสภาคองเกรส ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ทำให้แผนการดังกล่าวยังไม่ผ่านร่าง เพราะยังไม่มีรายละเอียดและยังไม่ครอบคลุมมากพอ ขณะที่นายเบอร์นันกี เตือนว่า ความล่าช้าในการอนุมัติแผนกู้วิกฤตการณ์ด้านการเงินจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น

ขณะที่ ส.ส.บางคนในสภาฯ ได้แสดงการคัดค้านแผนการดังกล่าว โดยกล่าวตำหนิว่า เป็นการเอางบประมาณแผ่นดินไปละลายแม่น้ำ และไม่เชื่อว่า การทุ่มงบ 700,000 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อหนี้เสีย จะช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ขึ้นมาได้ แม้แต่ประธานคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ก็ยังไม่ยอมรับในแผนการเข้าซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน

ขณะที่วุฒิสมาชิกจากรีพับลิกันและเดโมแครต ยังวิตกเรื่องที่จะเอาเงินภาษีประชาชนไปซื้อหนี้เสียที่ก่อขึ้นโดยสถาบันการเงิน และที่ผ่านมา สหรัฐก็ไม่เคยแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้มาก่อน จึงย้ำเตือนให้รัฐบาลสหรัฐคิดไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนเดินหน้าแผนการนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น