xs
xsm
sm
md
lg

ดอกเบี้ยทั่วโลกยังมีสัญญาณลงอีก ไทยอาจหนีไม่พ้นต้องปรับลดตามกระแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวติดลบหรือหดตัวลงในบางไตรมาสของปี 2552 นี้ ดังนั้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยดังกล่าว นโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยก็ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวอยู่ในช่วงขาลงต่อไปเช่นเดียวกันกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของนานาประเทศทั่วโลก"


ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล 1 วันซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 1% เหลือ 2.75% ขณะที่ก่อนหน้านี้ตลาดคาดการณ์ว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมาก 0.25% หรือ 0.50% เท่านั้น ซึ่งจุดนี้รู้สึกชื่นชมกับการตัดสินใจอย่างกล้าหาญธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศและช่วยเหลือธุรกิจส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่กำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้

โดยถ้อยแถลงของ กนง. ค่อนข้างหนักแน่นว่าในขณะนี้ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอยมีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อ ในมุมมองวิเคราะห์ว่า ถ้อยแถลงดังกล่าวบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ กนง. จะต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องไปอีกในอนาคต ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วย หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวลงอย่างหนัก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ลดลงอย่างมากจากระดับ 6.05% ในเดือนกันยายนและ 3.89% ในเดือนตุลาคม เหลือเพียง 2.19% ในเดือนพฤศจิกายน

ขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงอ่อนแอและดูเหมือนจะหดตัวลงอีกตามรายได้ภาคเกษตรที่ลดต่ำลง, ปัญหาการเมืองที่เขม็งเกลียวในกรุงเทพฯ, การใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆของภาครัฐหยุดชะงักและมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการปลดคนงานในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น เหนืออื่นใดคาดว่าจะเห็นการปรับตัวลงอย่างหนักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแม้จะเป็นช่วง high season ก็ตามจากผลกระทบของการปิดสนามบินกรุงเทพฯ

ภาคการส่งออกซึ่งเคยเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงตลาดส่งออกหลักที่ยังคงผจญปัญหาวิกฤตการเงินและภาวะเศรษฐกิจถดถอยในขณะนี้ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วจากระดับ 15.5% ในเดือนสิงหาคมและ 19.5% ในเดือนกันยายนเหลือเพียง 4.7% ในเดือนตุลาคม หากตัดผลด้านราคาออก ปริมาณการส่งออกในเดือนตุลาคมคาดว่าจะหดตัวลง 3.07% yoyคาด GDP ปี 2551 เติบโตราว 4.0-4.5% แต่ GDP ปี 2552 มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเติบโตต่ำกว่าประมาณการเดิมของเราที่ 3.5% จากปัจจัยลบล่าสุดที่เกิดขึ้น คาดว่า กนง. จะหยุดรอดูผลของนโยบาย หลังจากลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมากในครั้งนี้

ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่า กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในครั้งนี้และอีก 0.50% ในการประชุมสองครั้งแรกต้นปีหน้าในวันที่ 14 มกราคมและ 25 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตามหลังจากการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างมหาศาลในครั้งนี้ ยังเชื่อว่า กนง.จะรอดูผลของการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก่อนตัดสินใจลดดอกเบี้ยต่อ

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐสะท้อนคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยแล้ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นซึ่งมีอายุระหว่าง 1 เดือนถึง 1ปีได้ปรับตัวลงกว่า 0.52-0.74% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานับแต่วันที่ 1 กันยายน หลังจากธปท. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ซึ่งมีอายุ 2 ปีขึ้นไปปรับตัวลงกว่า 0.79%-1.06% ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนเคลื่อนต่ำลงมามาก โดยคาดว่าเงินทุนบางส่วนได้ไหลไปยังสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางวิกฤตความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินทั่วโลก แต่ไม่เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลหลักเนื่องจากระบบสถาบันการเงินของไทยยังมีสถานะที่แข็งแกร่งทำให้คาดว่าเหตุผลหลักน่าจะเป็นการคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตของตลาดและ กนง. ก็ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาตามที่ตลาดคาดไว้แล้วด้วย

สำหรับในต่างประเทศ ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าไทยมากเท่าไร จากผลผลิตอุตสาหกรรม ยอกการนำเข้า-ส่งออกที่ลดลง ล้วนเป็นการส่งสัญญาณในธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้


เฟดหนีไม่พ้นลดดอกเบี้ยลงอีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 ในการประชุมตามวาระปกติเป็นรอบสุดท้ายของปีในวันที่ 15-16 ธันวาคม 2551 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ขยับลงมาใกล้ร้อยละ 0.00 และเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินทางด้านราคาของเฟดที่ค่อนข้างจะเต็มที่แล้ว เพราะหลังจากนี้ เฟดคงเหลือพื้นที่จำกัดแล้วสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก

นอกจากนี้ เฟดคงจะสานต่อการดำเนินนโยบายการเงินทางด้านปริมาณต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการอัดฉีดสภาพคล่องด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่เฟดอาจจะดำเนินการเป็นลำดับถัดไป ขณะเดียวกัน ก็คงจะต้องติดตามประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายดังกล่าว ควบคู่กันกับการใช้นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้นจากทางการสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายบารัค โอบามา ในช่วงเดือนมกราคม 2552 ที่ถูกจับตาดูว่าจะสามารถช่วยให้ภาคธุรกิจเอกชนสหรัฐฯ มีการปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอดและสามารถจะแข่งขันได้ในระยะยาว หรือว่าจะเป็นเพียงการต่อลมหายใจและประวิงเวลา ก่อนที่จะกลายมาเป็นปัญหาอีกครั้งในอนาคต

โดยหลังจากที่ล่าสุดแผนการเข้าช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐไม่ผ่านการลงมติจากวุฒิสภาสหรัฐ ประกอบกับปัจจัยลบด้านการเมืองในประเทศที่ยังไม่ยุติ อาจทำให้ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ ยังคงมีน้ำหนักอยู่ต่อไปในช่วงปีข้างหน้า ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวติดลบหรือหดตัวลงในบางไตรมาสของปี 2552 สอดคล้องกันกับการประเมินของกระทรวงการคลังก่อนหน้านี้ ดังนั้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยดังกล่าว นโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยก็ย่อมหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวอยู่ในช่วงขาลงต่อไปเช่นเดียวกันกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของนานาประเทศทั่วโลก

อินเดียเตรียมปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้ง

ที่อินเดีย ผลผลิตอุตสาหกรรมได้ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ซึ่งได้สร้างแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายต้องปรับลดดอกเบี้ย หลังจากที่ได้ปรับลดดอกเบี้ยจาก 7.5% ลงสู่ระดับ 6.5% เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งปรับลดเงินภาษีเพื่อป้องกันเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญภาวะอ่อนแอลงจากวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก

สำนักงานสถิติอินเดียเปิดเผยว่า ผลผลิตในโรงงานและเหมืองร่วงลง 0.4% ในเดือนต.ค. จากปีก่อนหน้านี้ หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.45% ในเดือนก.ย. ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 2.1% ขณะที่ธนาคารกลางอินเดียคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวช้าที่สุดในรอบกว่า 4 ปี ซึ่งผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียกล่าวในสัปดาห์นี้ว่า เศรษฐกิจอาจชะลอตัวหนักกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ในก่อนหน้านี้

นักวิเคราะห์จากโนมูระ อินเตอร์เนชั่นเนล ให้ความเห็นว่า ยังไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยและการปรับลดภาษีจะเพียงพอที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้หรือไม่ เนื่องจากความต้องการทั้งในและต่างประเทศปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจากวิกฤตสินเชื่อที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ ขณะที่ราคาสินทรัพย์ที่ร่วงลงอย่างหนัก และความเชื่อมั่นผู้บริโภครวมถึงภาคธุรกิจปรับตัวลดลง ซึ่งนายคามาล นาธ รมว.การค้าของอินเดียกล่าวว่า รัฐบาลอาจประกาศใช้มาตรการทางการเงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในสัปดาห์นี้

เกาหลีใต้ใจเดียวกับไทยปรับลดลง1%

ส่วนเกาหลีใต้ อีกหนึ่งประเทศที่นักลงทุนไทยให้ความสนใจเข้าไปลงทุนนั้น เมื่อเร็วๆนี้ นายลี ซอง แต ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ และคณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางเกาหลีใต้ มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% สู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3% โดยมีเป้าหมายที่จะยับยั้งเศรษฐกิจภายในประเทศให้รอดพ้นจากภาวะถดถอย พร้อมกับคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากยอดส่งออกทรุดตัวลงมากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 8 สัปดาห์ และถือเป็นการลดดอกเบี้ยในสัดส่วนที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยหลังจากธนาคารกลางเกาหลีใต้ลดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่นาน ค่าเงินวอนพุ่งขึ้นแข็งแกร่ง 3.6% เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองที่เป็นบวกว่าการตัดสินใจลดดอกเบี้ยเกินความคาดหมายจะช่วยลดผลกระทบต่างๆที่มีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศได้ หลังจากที่ธนาคารกลางทั่วโลกได้ลดดอกเบี้ยไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อยับยั้งเศรษฐกิจในประเทศของตนเองไม่ให้ถดถอย

ฮ่องกง-สิงคโปร์-ลอนดอนวูบตาม

หลังจากที่ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ตลาดฮ่องกง (Hibor) ได้ปรับตัวลดลงลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่ 1.75% ส่วนอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ตลาดสิงคโปร์ (Sibor) ร่วงลงหนักสุดในรอบหนึ่งเดือนอยู่ที่ระดับ 2.13% ส่วนอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์สกุลเงินดอลลาร์ประเภท 3 เดือนที่ตลาดลอนดอน (Libor) ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ 2.1% ขณะเดียวกัน รัฐบาลและเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายทางการเงินทั่วโลกกำลังหาทางกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญปัญหาขาดทุนและมีตัวเลขการปรับลดมูลค่าทางบัญชีในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดปล่อยกู้จำนองถึง 9.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจนทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

แดนมังกร-แดนปลาดิบส่อแววลดดอกเบี้ยลงอีก

สำนักงานสถิติจีนเปิดเผยว่า ดัชนี CPI เดือนพ.ย.ขยายตัว 2.4% เมื่อเปรียบเทียบกับระดับปีที่แล้ว นับเป็นตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัวที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี และเป็นการส่งสัญญาณของการขยายตัวที่ดิ่งลงและเศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืดและยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับผู้บริหารระดับนโยบายของจีนให้ลดดอกเบี้ยครั้งใหญ่ ขยายขอบเขตแผนการใช้งบประมาณ 4 ล้านล้านหยวน และปล่อยเงินหยวนอ่อนค่า

หลี่ เหว่ย นักเศรษฐศาสตร์ของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด แบงก์ ให้ความเห็นว่า เงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงนี้ทำให้ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยมากขึ้น เพื่กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และหากเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นเราก็คงจะได้เห็นกลุ่มผู้ผลิตลดราคาสินค้า รายได้ที่อ่อนตัว และการลดค่าแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในที่สุดขณะที่ สำนักงานสถิติแห่งชาติของญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ว่า ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้ร่วงลงติดลบที่ 0.5% ในไตรมาส 3 แล้ว ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปีอ่อนแรงลงมาอยู่ที่ 1.8% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น ในรอบ 7 ปี ซึ่งการทิ้งตัวลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยิ่งเป็นการเพิ่มความวิตกถึงแนวโน้มการดำเนินธุรกิจ ที่คาดว่าเผชิญกับภาวะที่เลวร้ายยาวนานกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และอาจกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับศูนย์ด้วย

ทั้งนี้ ภาพรวมที่นำเสนอคือแนวโน้มการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยในประเทศต่างๆ ไม่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ซึ่งมีที่มาและสาเหตุมาจากเรื่องเดียวกันนั่นคือภาวะวิกฤตการเงินโลก แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนในต่างแดนนั้น นักลงทุนควรให้ความสนใจกับอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไปลงทุนในประเทศนั้นๆ แล้วนำมาเปรียบกับในประเทศของเราด้วยว่าหลักจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของเกาหลีใต้ ผู้จัดการกองทุนได้ออกมายืนยันแล้วว่ายังมีผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศแน่นอน แม้ธนาคารกลางแดนกิมจิจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไป 1% ก็ตาม อันนี้ก็อุ่นใจกันได้....

กำลังโหลดความคิดเห็น