xs
xsm
sm
md
lg

จับตานโยบายการเงินของเฟด ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


" เฟดอาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม เนื่องจากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2553 อาจไม่สามารถรักษาการขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง"

ช่วงนี้คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีกำหนดประชุมเพื่อพิจารณาทิศทางนโยบายการเงินรอบแรกของปี 2553 มาดูกันว่านักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองอย่างไรก็กับการนโยบายการเงินครั้งนี้ของเฟด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เฟดอาจมีมติคงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม และอาจยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า เนื่องจากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2553 อาจไม่สามารถรักษาการขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งเหมือนเช่นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ที่ถูกประเมินว่า อาจขยายตัวได้สูงกว่าร้อยละ 4.5 ต่อปี

โดยเร่งขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี เนื่องจากยังคงมีหลายปัจจัยที่สะท้อนความเปราะบางของพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาทิ การทรงตัวสูงของอัตราการว่างงาน การฟื้นตัวอย่างไม่เต็มที่ของการใช้จ่ายภาคเอกชน การทยอยลดทอนบทบาทของแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการของทางการ ตลอดจนความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและภาคธนาคาร

ทั้งนี้ แม้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สร้างแรงกดดันมากนักต่อนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายของเฟด แต่สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2552 อาจทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ขยับสูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่า นโยบายการเงิน-การคลังเชิงผ่อนคลายของทางการสหรัฐฯ สามารถบรรลุผลในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงไตรมาส 3/2552 หลังจากที่ทรุดตัวลงอย่างหนักและต่อเนื่องในช่วง 4 ไตรมาสก่อนหน้า โดยสัญญาณเชิงบวกทางเศรษฐกิจได้ทยอยปรากฏขึ้น พร้อมๆ กับการปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ

แต่หากประเมินภาพในระยะข้างหน้า จะพบว่า ความมั่นคงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายภาคเอกชน การแผ่วลงของแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการของทางการ รวมถึงความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและภาคธนาคารของสหรัฐฯ ทั้งนี้

นโยบายการของเฟดยังไม่ชัดเจนเมื่อเทียบกับธนาคารกลางในแถบเอเชีย

แนวโน้มการฟื้นตัวของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียมีความแข็งแกร่งกว่าการฟื้นตัวของประเทศแกนหลักของโลกที่ยังคงแบกรับความเปราะบางของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ประเทศในแถบเอเชียหลายประเทศต่างก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็ทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น จำต้องส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงิน และทยอยดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง

ณ เวลานี้ สัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน มีความชัดเจนที่สุดในบรรดาธนาคารกลางในแถบเอเชีย เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2552 หลังจากที่ชะลอการขยายตัวลงในช่วงหลายไตรมาสก่อนหน้าจากผลกระทบของเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก มาอยู่ที่ร้อยละ 10.7 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 นั้น เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อและความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ธนาคารกลางจีนจึงดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินผ่านหลากหลายวิธีการ/ช่องทาง ประกอบด้วย การประกาศปรับขึ้นสัดส่วนเพดานการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประมูลตั๋วเงินคลัง
 
การเพิ่มระดับการดูดซับสภาพคล่องผ่านการดำเนินการผ่านตลาดเงิน ตลอดจนการแจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ระงับการปล่อยสินเชื่อในช่วงที่เหลือของเดือนมกราคม 2553 ทั้งนี้ แม้ธนาคารกลางอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ ธนาคารกลางอินเดีย และธนาคารกลางเกาหลีใต้ จะยังไม่ดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินดังเช่นธนาคารกลางจีน แต่ก็ได้ส่งสัญญาณคุมเข้มทางการเงินให้ตลาดรับรู้ ซึ่งทั้งตลาดเงิน-ตลาดทุนก็ได้ปรับตัวรับการคาดการณ์การคุมเข้มนโยบายการเงินธนาคารกลางในแถบเอเชียไว้บ้างแล้วบางส่วน

อนึ่ง เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจต้องเผชิญกับหลากหลายอุปสรรคในปี 2553 นี้ อาทิ การฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายภาคเอกชน การแผ่วลงของแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการของทางการ รวมถึงความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและภาคธนาคารของสหรัฐฯ อาจทำให้เฟดยังคงมีความจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาส่วนใหญ่ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกลางจีน ที่ต้องเผชิญกับโจทย์การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง พร้อมๆ กับการก่อตัวขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อและความเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่

ทั้งนี้ แม้เฟดอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อย่างชัดเจนมากนัก แต่คาดว่า แรงขายสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางสัญญาณคุมเข้มทางการเงินของธนาคารกลางในภูมิภาคต่างๆ อาจส่งผลทำให้เงินดอลลาร์ฯ ไม่อ่อนค่าลงมากนักในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของเงินสกุลหลักอื่นๆ

สำหรับประเทศไทย ผลกระทบในระยะใกล้จากการเปลี่ยนแปลงท่าทีเชิงนโยบายการเงินของทั้งเฟด และธนาคารกลางอื่นๆ ที่สะท้อนถึงสัญญาณคุมเข้มทางการเงินในช่วงจังหวะเวลาที่แตกต่างกันนั้น น่าที่จะทำให้กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง ซึ่งก็เป็นนัยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังคงต้องเผชิญกับโจทย์รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทต่อเนื่องในปีนี้

แต่สำหรับจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท.นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท.น่าที่จะประเมินจากปัจจัยภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งในเรื่องความมั่นคงของเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรทางการเมือง และการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ตลอดจนแรงกดดันในช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและเงินเฟ้อพื้นฐาน อย่างไรก็ดี ธปท.ยังคงมีเวลาอีกระยะหนึ่งในการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ก่อนที่จะเริ่มส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

กำลังโหลดความคิดเห็น