xs
xsm
sm
md
lg

จับตาภาวะเงินเฟ้อ-เงินฝืด อีกหนึ่งตัวเเปรสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมกราคม 2552 ไปเมื่อหลายวันก่อน ทำให้นักวิเคราะห์หากหลายสถาบันต่างพากันจับตาดูสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเเน่นอนว่าจะมีทั้งข้อดีเเละข้อเสียที่กำลังจะตามมา ถ้ายังจำกันได้ประมาณกลางปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในบ้านเราพุ่งสูงเกือบ 10% ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนี้มาจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นนั้นเอง ลองมาดูกันว่าทิศทางเงินเฟ้อในปีนี้กันบ้างว่าจะมีเเนวโน้มเป็นอย่างไร

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) เป็นอัตราที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปี (111 เดือน) โดยก่อนหน้านี้เคยเกิดภาวะอัตราเงินเฟ้อลดลงครั้งหลังสุดคือเมื่อเดือนตุลาคม 2542ซึ่งอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ตามราคาน้ำมันและอาหารสดที่ปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2551 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ก่อนที่จะเข้าสู่แดนลบในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ราคาอาหารยังคงปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับราคาน้ำมันค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2551

ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.6 (Y-o-Y) ลดลงจากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อนหน้า ตามราคาสินค้าอาหารสำเร็จรูป และการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถสาธารณะ โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ซึ่งเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปี ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0-0.5 ลดลงจากคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมอยู่ที่ร้อยละ 0.0-1.2

สำหรับในเดือนถัดๆ ไป แนวโน้มเงินเฟ้ออาจจะมีปัจจัยผลักดันจากการทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ หลังจากรัฐบาลเห็นชอบให้ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 หลังสิ้นสุดระยะการใช้ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทย ในวันที่ 31 มกราคม ซึ่งจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (Month-on-Month) จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังมีแนวโน้มเป็นตัวเลขติดลบอย่างต่อเนื่อง จากผลของฐานที่สูงในปีก่อน

ซึ่งอัตราเงินเฟ้อจะยังคงมีแนวโน้มลดลง (Y-o-Y) ต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยลงลึกและยาวนานกว่าที่เคยมีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะค่อยๆ ขยับขึ้นเล็กน้อย เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคหลักของโลกเริ่มผ่านพ้นจุดต่ำสุด แต่การฟื้นตัวอย่างแท้จริงอาจจะเกิดขึ้นในปี 2553 ซึ่งผลดังกล่าวเมื่อรวมกับผลของฐานเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ต่ำในช่วงปลายปี จึงน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี แต่คงต้องรอจนถึงช่วงไตรมาสที่ 3/2552 กว่าที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมามีตัวเลขเป็นบวกได้อีกครั้ง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 1.0 ถึง 1.8

แนวโน้มตลอดทั้งปี 2552 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วงระหว่างลดลงร้อยละ 1.0 ถึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 5.5 ในปี 2551 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ค่าเฉลี่ยทั้งปีน่าจะยังคงเป็นตัวเลขบวก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2552 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.0-1.0 ลดลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 2551

แม้ว่าเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 9 ปีนี้ ส่วนหนึ่งจะเป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานของปีก่อนหน้า ที่ราคาสินค้าส่วนใหญ่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งผลของฐานดังกล่าวคงจะหมดไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พร้อมๆ กับราคาน้ำมันอาจจะค่อยๆ เริ่มขยับขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลที่มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น และน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสที่ 4/2552 มีแนวโน้มที่จะกระโดดกลับขึ้นมาเป็นบวกในระดับที่สูง อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อมีอัตราติดลบติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายเดือนย่อมไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่จะทยอยประกาศออกมาในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า ไม่ว่าตัวเลขภาคการผลิต การส่งออก หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะหดตัวลง พร้อมกับกระแสการเลิกจ้างที่อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจซื้อของภาคครัวเรือนให้ลดลงตามภาวะรายได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการไม่ควรปล่อยให้สภาวะเงินเฟ้อติดลบนี้ส่งผลลบในทางจิตวิทยา จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยควรเร่งดำเนินการทั้งมาตรการการเงินและการคลัง เพื่อลดความกังวลของประชาชนและภาคธุรกิจในด้านการใช้จ่ายและการลงทุน โดยแนวโน้มเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำน่าจะเอื้ออำนวยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง

ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และลดภาระต้นทุนการเงินให้แก่ภาคครัวเรือนซึ่งมีแนวโน้มเผชิญปัญหาการว่างงานเพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจที่อาจมีปัญหาสภาพคล่องจากยอดขายและคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่ลดลงอย่างมาก นอกจากนี้ จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังค่อนข้างที่จะมีเสถียรภาพ โดยมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ตัวเลขเฉลี่ยทั้งปีจะยังคงอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (พื้นฐาน) ไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ซึ่งอาจยังสนับสนุนนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของทางการต่อไปได้ในช่วงปี 2552 นี้ แม้ว่าอาจจะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นนำไปก่อนหน้าในช่วงท้ายของปีก็ตาม

"เงินฟืด" ความเสี่ยงยังน้อยต่อศก.ไทย
ส่วนแนวโน้มภาวะเงินฝืด (Deflation) สถาบันวิจัยนครหลวงไทย มองว่าภาวะเงินฝืดในขณะนี้ว่า ยังคงไม่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงมากนักกับระบบเศรษฐกิจของไทย โดยถ้ามองไปถึงการคาดการณ์ระดับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 ที่หลายๆฝ่ายมีการประเมินแล้ว ตัวเลขระดับอัตราเงินฟ้อโดยเฉลี่ยในปี 2552 ออกมาเป็นลบนั้น ได้ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่าอาจจะเกิดปัญหาเงินฝืด(Deflation) ตามมา ซึ่งถือได้ว่า จะเป็นสาเหตุสำคัญที่จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยถดถอยลงเป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่อง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อมองไปถึงการปรับตัวลดลงของระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 2552 โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีสาเหตุจากความไม่สมดุลของปัจจัยที่ควบคุมกลไกตลาด ในด้านของการชะลอตัวลงของภาคอุปสงค์เพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยสำคัญจากการเข้าบิดเบือนในกลไกระดับราคาสินค้าต่างๆ ของนโยบายลดค่าครองชีพต่างๆของทางรัฐบาล และนอกจากนั้นยังรวมไปถึงปัจจัยจากภายนอกประเทศที่ควบคุมไม่ได้ อย่างเช่น ระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มในด้านการปรับลดลงค่อนข้างจะรุนแรงเมื่อเทียบกับในปี 2551

ดังนั้น โดยสถาบันวิจัยนครหลวงไทยเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์ของตลาดเข้าสู่ระดับภาวะปกติมากขึ้น ระดับราคาสินค้าต่างๆจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกในระดับปกติได้มากขึ้น ซึ่งในเบื้องต้น ระดับอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส3-4 ในปีนี้เป็นต้นไป และนอกจากนั้น ณ ระดับราคาสินค้าดังกล่าว จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของอุปสงค์ในตลาดให้ยังคงขับเคลื่อนขยายตัวต่อไปได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้ในภาพรวมแล้วความเสี่ยงในการเกิดปัญหาเงินฝืดขึ้นในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ยังคงถือได้ว่ามีโอกาสน้อยอยู่ในขณะนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น