xs
xsm
sm
md
lg

ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการแก้ปัญหาที่ยังต้องมีต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายวิจัย บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเรื่องของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันปรับตัวลงเหลือ 2.00% ซึ่งมากกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ระดับ 0.5% เล็กน้อย โดยนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยควรยินดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตระหนึกถึงระดับความรุนแรงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและได้เร่งออกมาตรการมาช่วยฟื้นความเชื่อมั่น ขณะที่มาตรการทางการคลังซึ่งกำลังดำเนินการและวางแผนโดยรัฐบาลใหม่อาจต้องใช้เวลานานกว่าถึงจะเห็นผล

โดยแถลงการณ์ของ ธปท. ระบุอย่างชัดเจนว่ามูลค่าการส่งออกหดตัวลงจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก, อุปสงค์ในประเทศที่อ่อนตัวลง, ภาวะการลงทุนค่อนข้างเบาบางและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลงมากขึ้นหลังจากที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนที่ กนง.ไม่ได้กล่าวถึงแต่ตลาดเองก็รับรู้เป็นอย่างดีคือ นักลงทุนไม่มีเหตุผลที่จะต้องกลัวเงินทุนต่างประเทศไหลออก เนื่องจากประเทศหลักๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างหนัก และเข้าใกล้ระดับ 0% ในบางประเทศ นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะไม่เป็นผลลบ และความเป็นไปได้ที่เงินทุนจะไหลออกยิ่งน้อยขึ้นไปอีก เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพแล้วในตอนนี้

ทั้งนี้คาดว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยตาม แต่ขนาดของการปรับลด รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ในการปรับลดอาจอยู่ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกันธนาคารพาณิชย์ในประเทศเองก็ต้องการรักษาระดับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่สินเชื่อชะลอตัวลงด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นผู้นำในการปรับอัตราดอกเบี้ย อาจลดอัตราดอกเบี้ย MLR ทันที 0.25%-0.5% โดยธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆจะทยอยลดตาม เรามองว่าการแข่งขันลดอัตราดอกเบี้ย MLR ในอุตสาหกรรมจะไม่รุนแรงนัก เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เองมีทางเลือกที่จะเสนออัตราดอกเบี้ย MLR บวกส่วนลดอีกเล็กน้อยแก่ลูกค้ารายใหญ่เพื่อรักษาฐานลูกค้าจากคู่แข่ง จากความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวลง
**เรามองว่าการแข่งขันดึงเงินฝากของธนาคารต่างจะผ่อนคลายลงและทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากได้เร็วกว่าอัตราดอกเบี้ย MLR และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อื่นๆ ซึ่งได้เริ่มขึ้นแล้วในช่วงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา**

ธปท.ยังอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงมาเท่ากับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0.75% พอดีสำหรับปี 2552 จากมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจที่เป็นลบมากขึ้น โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบอย่างน้อย 2 ไตรมาสทำให้เชื่อว่าธปท.ยังมีช่องว่างที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อย 0.5% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล 1 วันเหลือ 1.5% ซึ่งจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปี 2546 และ 2547เล็กน้อย (ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.25% ในตอนนั้น) แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่แตกต่างไปจากช่วงนั้น เราคาดว่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลงต่ำกว่า

ภาวะเศรษฐกิจดูเป็นลบมากขึ้น

ขณะเดียวกันประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก่อนหน้าของเราที่ระดับ -1.22% ในไตรมาส 4/2551 และ -3.43% ในไตรมาส 1/2552 เริ่มดูเหมือนจะมองในแง่ดีเกินไปแล้ว หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนพฤศจิกายนออกมาค่อนข้างแย่และคาดว่าจะแย่ต่อเนื่องในเดือนธันวาคม แม้รัฐบาลอภิสิทธิ์จะเพิ่มการขาดดุลงบประมาณอีก 1 แสนล้านบาท โดยพุ่งเป้าไปที่การลดค่าครองชีพให้กับคนที่มีรายได้น้อย แต่ยังคงไม่แน่ใจว่ามาตรการเหล่านี้จะมีผลมากน้อยเพียงไรในระยะต่อไป ดังนั้นเรามีแนวโน้มจะปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหลังจากได้เข้าพบนักเศรษฐศาสตร์ที่ธปท. กระทรวงการคลัง และภาคอุตสาหกรรม

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลง
ด้านกระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนธันวาคมชะลอตัวลงเหลือ 0.42% และ 1.79% ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามประมาณการที่ระดับ 0.72% และ 1.79% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงอย่างหนักนั้นมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง, การลดค่าโดยสาร และนโยบายต่อสู้เงินเฟ้อของรัฐบาล ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในปี 2551 อยู่ที่ระดับ 5.48% และ 2.34% ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยคือการที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง ประกอบกับสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ทำให้โอกาสที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 0.75% เหลือ 2.00% ในปี 2552 มีสูงขึ้นมาก นอกจากนั้นการที่สินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัวลงในอีกหลายเดือนข้างหน้า ทำให้เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยตามไปด้วย

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลงอย่างมากจากระดับ 3.89% ในเดือนตุลาคมและ 2.20% ในเดือนพฤศจิกายนเหลือ 0.4% ในเดือนธันวาคม ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงและการปรับลดค่าโดยสาร ส่งผลให้ดัชนีราคาในหมวดขนส่ง (มีน้ำหนัก 16% ของดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI) ปรับตัวลงจากระดับ 0.07% yoy ในเดือนตุลาคม และ -10.50% yoy ในเดือนพฤศจิกายน เป็น -16.17% yoy ในเดือนธันวาคม

ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา (มีน้ำหนัก 5.10% ของ CPI) ตามคาดปรับตัวลง 37.27% yoy ตามมาตรการต่อสู้เงินเฟ้อของรัฐบาลชุดที่แล้ว ขณะที่ดัชนีราคาในหมวดอาหาร (สัดส่วน 36% ของ CPI) ชะลอตัวลงจากระดับ 15.35% ในเดือนพฤศจิกายนเหลือ 13.88% ในเดือนธันวาคมเนื่องจากราคาสินค้าในหมวดผักและผลไม้ (สัดส่วน 4.77% ของ CPI) ปรับตัวลง 6.25% จากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากผลผลิตผักที่ลดลงจากปัญหาน้ำท่วมและอากาศหนาวในเดือนที่ผ่านมาได้คลี่คลายลงไปแล้ว นอกจากนี้ราคาสินค้าอาหารตัวอื่นๆยังค่อนข้างมีเสถียรภาพด้วย

ตลาดพันธบัตรสะท้อนการลดอัตราดอกเบี้ย
จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงอย่างหนักและสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมครั้งอื่นๆของปีนี้อีกอย่างน้อย 0.75% เหลือ 2.00% ณ สิ้นปีหลังจากที่ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 1% ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ตลาดพันธบัตรได้สะท้อนแนวโน้มดังกล่าวแล้ว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น (1 เดือนถึง 1 ปี) ได้ปรับตัวลงมากว่า 1.10%-1.15% นับแต่วันที่ 1 ธันวาคมอยู่ที่ระดับ 1.95%-2.10% ในปัจจุบัน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (2ปีขึ้นไป) ได้ปรับตัวลงแล้ว 1.12%-1.25% นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม
กำลังโหลดความคิดเห็น