xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าวิกฤต ตลาดเงินหั่นสเปรด ดบ.2-3% แบงก์อยู่ได้-ลูกค้าอยู่รอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.สมาคมแบงก์ ยอมรับ ดบ.ออมทรัพย์ มีโอกาสลดลง หลัง กนง.หั่น ดบ.ลงอีก 0.75% วานนี้ ยันแบงก์พาณิชย์ พร้อมสนองนโยบายรัฐ ขยับสเปรด ดบ.2-3% แต่ต้องอยู่ได้ด้วย เพราะยังมีภาระอื่นๆ ซ่อนอยู่ ทั้งภาษีและค่าใช้จ่าย ค่าบริหารจัดการ 2% และความเสี่ยงหนี้เสีย ที่เพิ่มต้นทุน ช่วง ศก.ชะลอตัว แม้สภาพคล่องจะล้นระบบ 4-5 แสนล้าน “ขุนคลัง” เผย ส่วนต่าง 6% สูงเกินไป เพราะในต่างประเทศเฉลี่ยแค่ 1.5% เท่านั้น ในต้นทุนที่ไม่ต่างกัน แนะปรับลดให้ลูกค้าอยู่ได้ เพื่อให้แบงก์อยู่รอด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ยอมรับว่า ในปีนี้มีโอกาสที่บรรดาธนาคารพาณิชย์จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ลงไปอีก หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกมาส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาลง จากการปรับลดดอกเบี้ยอาร์/พีลงไปแล้วกว่า 1.75% พร้อมระบุว่า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของกรุงไทย ขณะนี้อยู่ในระดับ 0.75%

อย่างไรก็ตาม มองว่า หากมีการปรับลดดอกเบี้ยออมทรัพย์ ก็อาจจะกระทบกับการออมบ้าง แต่เชื่อว่า หากมีการโยกเงินฝากออกไปจริง แต่ละธนาคารก็อาจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากแข่งกันได้ และยังมีตลาดทุนอื่นๆ เป็นทางเลือก โดยเฉพาะขณะนี้ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดพันธบัตรรัฐบาล ก็มีความเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น

ส่วนอัตราดอกเบี้ยตลาด หรือดอกเบี้ยฝากประจำ และดอกเบี้ยเงินกู้ MLR นั้น คาดว่า ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง ก็กำลังจะพิจารณาปรับลดลงตาม กนง.รวมถึงแบงก์กรุงไทยเอง ก็คาดว่าจะมีการปรับลดในเร็วๆ นี้ ทั้งเงินฝากและเงินกู้ในระดับเดียวกับตลาด แต่จะไม่เป็นผู้นำในการปรับดอกเบี้ย

นายอภิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับ 4-5 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับช่วงปลายปี 2551 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง

สำหรับข้อเรียกร้องของรัฐบาล ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ เร่งปรับลดส่วนต่าง (สเปรด) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงนั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้สเปรดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ในระดับ 2-3% หากเทียบกับต่างประเทศอย่างสหรัฐก็ถือว่าสูงกว่า เพราะสเปรดของสหรัฐอยู่ในระดับ 0.5%

นายอภิศักดิ์ เชื่อว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่พร้อมตอบสนอง แต่คงต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสำคัญที่ว่า ธนาคารจะต้องอยู่ได้ด้วย เนื่องจากสเปรด 2-3% ยังมีภาระอื่นๆ ซ่อนอยู่ ทั้งภาษีและค่าใช้จ่าย ค่าบริหารจัดการ 2% และยิ่งขณะนี้เศรษฐกิจชะลอตัว ก็ทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องหนี้เสียเป็นต้นทุนอีกตัวหนึ่งด้วย

ก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของบอร์ด กนง. 0.75% วานนี้ ยังไม่ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนลดลงมากนัก เพราะแม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะลงไปถึง 1% ในเดือนธันวาคม 2551 แต่ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเพียง 0.25% เท่านั้น

เหตุผลส่วนหนึ่ง มองว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น จึงต้องเผื่อสำรองส่วนต่างของดอกเบี้ยไว้

รมว.คลัง มองว่า ประเทศไทยมีทางเลือกน้อยในการระดมเงิน และส่วนใหญ่เป็นการระดมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ส่วนต่าง (สเปรด) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยยังสูงถึง 6% ในขณะที่ต่างประเทศมีสเปรดอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น และอำนาจการครอบครองส่วนแบ่งตลาดจะอยู่ที่แบงก์ขนาดใหญ่ ดังนั้น จึงต้องการเห็นสเปรดดอกเบี้ยลดลง

พร้อมยอมรับว่า สเปรดดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ระดับสูงเกิดจากความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งทำให้อดมองไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากส่วนแบ่งการตลาดที่แตกต่างกันมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยแบงก์พาณิชย์ต่างประเทศมีการแข่งขันมาก แต่ต้นทุนไม่ได้แตกต่างจากประเทศไทย

“อยากขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ให้ปรับลดสเปรด ซึ่งหากธนาคารคิดดอกเบี้ยสูงในระยะยาว ลูกค้าไปไม่รอด แบงก์ก็ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ ผมพร้อมที่จะเป็นตัวแทนเพื่อชี้แจง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับธนาคารพาณิชย์ในการขอความร่วมมือให้ช่วยลดสเปรด ซึ่งอยากให้พูดคุยกันด้วยเหตุและผล”

นายกรณ์ มองว่า การเพิ่มจำนวนธนาคารให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นและไม่ให้ส่วนแบ่งการตลาดกระจุกตัวอยู่ที่ธนาคารขนาดใหญ่นั้น อาจจะช่วยแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง โดยจะเห็นได้จากที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ธนาคารจากมาเลเซียเข้ามาถือหุ้นในธนาคารของไทยเพื่อให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ แต่จำนวนแบงก์ที่มีมากขึ้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อเข้าไปมีส่วนในการระดมทุนของเอกชนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามอนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนแล้ว และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้วางแนวทางการพัฒนาตลาดทุนโดยเร็ว และเปิดรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการหลายภาคส่วน

ทั้งนี้ รมว.คลัง ยอมรับว่า การพัฒนาตลาดทุนไทยยังมีปัญหาเรื่องขนาดของตลาดที่ยังมีขนาดเล็ก แม้จะผลักดันให้มูลค่าตลาดเท่ากับผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ได้ก็ตาม ดังนั้น ระยะยาวจึงมีแนวคิดจะผลักดันให้มีการควบรวมตลาดทุนเข้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความสำคัญในสายตานักลงทุนโลก โดยจะนำแนวคิดดังกล่าวหารือในการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียนในเดือนพฤษภาคม 2552 นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น