พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือน ก.พ.ติดลบ 0.1% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด เพราะกลไกมาตรการกระตุ้น ศก.เริ่มทำงานแล้ว ในเดือนนี้ โบรกฯ เชื่อไม่กระทบการลงทุน เพราะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้
กระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 103.1 ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือนมกราคม 2552 และเงินเฟ้อเฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2552) ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2552 (ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ระดับ 102.8 เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนมกราคม 2552 และเฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กุมถาพันธ์ 2552) เพิ่มขึ้น 1.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับดัชนีสินค้าหมวดอาหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 114.6 เพิ่มขึ้น 9.1% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.3% จากเดือนมกราคม 2552 ขณะที่ดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 95.6 ลดลง 6.4% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนแต่เพิ่มขึ้น 1.8% จากเดือนมกราคม 2552
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่า การที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 2 เดือน ในปี 2552 จะไม่ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญภาวะเงินฝืด เนื่องจากหลายมาตรการของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เริ่มมีผลแล้วในเดือนมีนาคม 2552 นี้
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือเงินเฟ้อทั่วไป ขยายตัวติดลบ 0.1% ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2552 ที่ติดลบ 0.4% ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2 เดือนแรก ขยายตัวติดลบ 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลได้ปรับ 6 มาตรการ 6 เดือน ในการลดอุดหนุนค่าไฟฟ้า และน้ำประปาลง ทำให้ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นายศิริพล มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ในเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 0-0.5%
น.ส.ศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวถึงตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ออกมาติดลบ ไม่ได้นอกเหนือความคาดหมายของภาคธุรกิจ และเชื่อว่า ไม่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนมากนัก