เอเอฟพี – มังกรเผย ดัชนีเงินเฟ้อ (ซีพีไอ) เดือนเมษายนตกอีกร้อยละ 1.5 สะท้อนจีนเผชิญภาวะเศรษฐกิจช่วงขาลงหนักสุดในรอบสองทศวรรษ
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นปรอทวัดเงินเฟ้อ ในเดือนเมษายน ปรากฏว่าอ่อนแรงลงอีกร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 0.2 จากเดือนมีนาคม ส่งผลให้ดัชนีซีพีไอช่วง 4 เดือนแรกของปีลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.8
แนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องนั้น มีสาเหตุมาจากการที่จีนกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากวิกฤตการเงินโลก
ด้าน สตีเฟน กรีน นักเศรษฐศาสตร์จากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดในประเทศจีนแสดงทัศนะต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า ภาวะเงินฝืดสะท้อนถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กรีนเชื่อว่า “ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวในลักษณะกราฟรูปตัว U ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป” พร้อมคาดการณ์ว่าราคาสินค้าน่าจะเริ่มคงที่ราวปลายปีนี้
ทั้งนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดัชนีซีพีไอลดลงร้อยละ 1.6 ซึ่งถือว่าร่วงแรงที่สุดนับจากเคยร่วงเกือบร้อยละ 2 ในช่วงเกิดวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อกว่าสิบปีก่อน โดย ชีว์ หงปิน นักเศรษฐศาสตร์จาก HSBC กล่าวในฮ่องกงว่า “สถานการณ์เช่นนี้น่าจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยอีก 2-3 เดือน”
พร้อมยังได้กล่าวเสริมว่า ภาวะเงินฝืดส่วนใหญ่เกิดมาจากปัจจัยภายนอก อาทิ ราคาสินค้าโลกตก ซึ่งเกินขีดความสามารถของหน่วยงานกำหนดนโยบายที่จะไปกระตุ้นราคาขึ้น
แต่ชีว์เชื่อว่า “สิ่งที่จีนให้ความสำคัญจะยังคงเป็นการหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ เพื่อชดเชยอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง”
โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลกจะขยายตัว 6.5% ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ พ.ศ.2533 เป็นต้นมา