พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อเดือน เม.ย. ลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยติดลบต่อเนื่องกัน 4 เดือนแล้ว ยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ( อัตราเงินเฟ้อ) และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ ประจำเดือน เม.ย. 2552 โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. 2552 เทียบกับ มี.ค. 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.0 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อลดลงร้อยละ 0.9 ทำให้อัตราเงินเฟ้อ 4 เดือนแรกของปีนี้เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อลดลงร้อยละ 0.4
เหตุผลที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน เม.ย. เมื่อเทียบกับมีนาคมปีนี้สูงขึ้น มาจากราคาอาหารสดปรับขึ้นเกือบทุกประเภท ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อหมู ไข่ ปลา และ สัตว์น้ำ ข้าวสารเจ้า และเครื่องประกอบการอาหาร และอื่น ๆ เป็นต้น แม้ว่า ราคาอาหารมีการปรับขึ้น เพราะเป็นช่วงฤดูกาล แต่หากเทียบเงินเฟ้อในเดือน เม.ย. ปีนี้กับปีที่ผ่านมา ที่ลดลงร้อยละ 0.9 เป็นอัตราลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยสาเหตุมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันว่า แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเป็นเดือนที่ 4 และมีแนวโน้มติดลบต่อไป แต่ยังมั่นใจจากสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ย 50-60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อยู่ที่ 35-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็จะทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี เป็นไปตามคาดการณ์ที่ร้อยละ 0- 0.5 ซึ่งคงจะไม่สูงกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อปีนี้จะติดลบร้อยละ 1-2 และคิดว่าเงินเฟ้อที่ปรับลดลงคงยังไม่ถึงภาวะเงินฝืด เพราะการเกิดภาวะเงินฝืด สัญญาณราคาน้ำมันต้องลดลงต่อเนื่อง และราคาสินค้าก็ต้องลดลง แต่ขณะนี้ภาพรวมราคาน้ำมันในตลาดโลกยังปรับเพิ่มขึ้นและลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าก็ปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลงตามฤดูกาล
นายศิริพล กล่าวอีกว่า โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อในครึ่งปีหลังอาจจะติดลบในอัตราที่น้อยลง คงต้องมีการติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการในการกระตุ้น หรือช่วยเหลือผู้บริโภค เช่น มาตรการลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยผ่านทางการชดเชยค่าขนส่ง ไฟฟ้า ประปา ซึ่งคงต้องดูว่ารัฐบาลจะมีการประกาศมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องอีก 6 เดือนหรือไม่ หากมีมาตรการเหล่านี้ก็อาจจะทำให้เงินเฟ้อครึ่งปีหลังอาจจะไม่ติดลบ แต่ก็คงไม่สูงขึ้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในเดือน เม.ย. 52 เมื่อเทียบกับ มี.ค. 52 สูงขึ้นร้อยละ 0.1 แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 1.0 ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สูงขึ้นร้อยละ 1.4