xs
xsm
sm
md
lg

การวัดสุขภาพของบริษัท (ตอน 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ถนนการลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต


การที่ผู้ลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ หรือหุ้นสามัญของบริษัทใดนั้น ผู้ลงทุนจะต้องทำการศึกษาถึงคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าบริษัทที่เราจะเลือกลงทุนด้วยนั้นมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้แก่เราเพียงใด การวัดถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทนั้น เปรียบได้กับการวัดสุขภาพของบริษัทโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน ผู้อ่านหลายท่านคงเคยไปตรวจร่างกายประจำปีที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นการวัดสุขภาพส่วนบุคคลว่า เรานั้นมีสุขภาพเป็นอย่างไรอย่างไร มีสิ่งใดบ้างที่เราจะต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิต การเลือกรับประทานอาหาร ซึ่งการวัดดังกล่าวจะทำให้เราทราบดีว่า สุขภาพของเรานั้นมีจุดเด่น จุดด้อยอะไรบ้าง และเราจะได้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของเราได้อย่างทันที เช่นเดียวกันกับการวัดสุขภาพของบริษัท ที่จะต้องมีการวัดว่าบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุนนั้นมีจุดเด่นและจุดด้อยใดบ้าง

การวัดสุขภาพของบริษัท ก็เปรียบเหมือนการวัดสุขภาพของบุคคล คือ การวัดสุขภาพของบริษัทจะต้องกระทำทุกปี เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพของบุคคลทั่วไป หรือหากเราต้องการทราบถึงสุขภาพของตัวเราเองโดยละเอียด เราก็จะสามารถของตรวจสุขภาพในรายการอื่น ๆ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพประจำปีได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการวัดสุขภาพของบริษัท เราก็สามารถวัดผลได้ในภาพรวม และลงรายละเอียดเฉพาะรายการก็ได้

การวัดสุขภาพของบริษัทนั้นสามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือทางการเงิน ที่นักการเงินหรือนักบริหารธุรกิจโดยทั่วไปทราบกันดี คือ การใช้อัตราส่วนทางการเงิน

อัตราส่วนทางการเงิน เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเปรียบเทียบรายการต่าง ๆ ทางการเงินของบริษัท เพื่อให้การอ่านงบการเงินของบริษัทนั้นมีความเข้าใจได้ง่ายขึ้น มากกว่าการอ่านเป็นตัวเลขโดยตรงจากงบการเงิน และการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทโดยใช้อัตราส่วนทางการเงินนั้น จะทำให้ผู้บริหารบริษัทมีความเข้าในในจุดแข็ง จุดอ่อนของบริษัทได้ชัดเจนขึ้น

การวัดอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทนั้น เราสามารถทำได้โดยการนำงบการเงิน คือ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกำไรสะสมของบริษัทมาใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการวัดอัตราส่วนทางการเงิน

เมื่อเราได้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินในแต่ละด้านของบริษัทออกมาแล้ว วิธีการในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินเหล่านั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินในด้านต่างๆ กับตัวเลขในอดีตของบริษัทเอง เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มในการบริหารงานของบริษัทว่า จะเป็นไปในทิศทางใดในอนาคต และยังทำให้เราทราบถึงผลการดำเนินงานในอดีตอีกด้วย

นอกจากนี้การเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินนั้น สามารถทำได้โดยเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทกับตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินของอุตสาหกรรมเฉลี่ย เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพการบริหารงาน เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมนั้นสามารถหาได้โดย การนำเอาตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินประเภทเดียวกัน ของบริษัททุกบริษัทที่ประกอบธุรกิจอยู่ภายในอุตสาหกรรมเดียวกันมาทำการหาค่าเฉลี่ย

การใช้ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมมาเป็นตัวเปรียบเทียบนั้น บางครั้งอุตสาหกรรมที่ประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่ ผสมกับบริษัทขนาดเล็ก ก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมนั้นมีค่าที่สูง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดเล็ก แต่พอเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่แล้วก็มีค่าที่น้อยเกินไป ในบางครั้งการเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสหกรรม อาจให้ค่าที่ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก

วิธีที่ใช้ในการเปรียบเทียบอีกวิธีหนึ่งคือ การนำค่าอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทเราเองนั้นไปเปรียบเทียบโดยตรงกับบริษัทคู่แข่งขัน วิธีนี้จะทำให้เราทราบถึงสถานะอันแท้จริงของเราเองเทียบกับคู่แข่งขันว่าสถานะของเราเป็นอย่างไร และวีนี้ยังช่วยในการลดความเบี่ยงเบนของค่าเฉลี่ยอตุสาหกรรม ในกรณีที่มีบริษัทเล้กและใหญ่ผสมอยู่ด้วยกันอีกด้วย

การวัดฐานะการดำเนินงานของบริษัทโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) นั้นสามารถแบ่งการวัดออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. การวิเคราห์สภาพคล่อง (Liquidity Analysis) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัท เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ นำมาเปรียบเทียบกับหนี้สินหมุนเวียน เช่น เจ้าหนี้การค้า ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เพื่อเป็นการวัดถึงความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้น เมื่อหนี้สินเหล่านี้ครบกำหนด กิจการจะมีความสามารถในการชำระมากน้อยเพียงใด

2. การวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Analysis) เป็นการใช้อัตราส่วนในการประเมินถึงความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ของกิจการ ว่ากิจการนั้นมีความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ตรงตามเป้าหมายการดำเนินงานของกิจการหรือไม่ เช่น ความสามารถในการบริหารลูกหนี้ ความสามารถในการบริหารสินค้าคงเหลือ ตลอดจนความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ถาวรต่าง ๆ

3. การวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารหนี้สิน (Debt Management Analysis) เป็นการวัดอัตราส่วน เพื่อประเมินถึงปริมาณการใช้หนี้สินของบริษัท ว่าบริษัทมีปริมาณหนี้สินมากน้อยเพียงใด สัดส่วนของโครงสร้างของเงินทุนของกิจการเป็นอย่างไร คือ บริษัทโดยรวมนั้นมีแหล่งของเงินทุนมาจากแหล่งใด มาจากแหล่งของหนี้สิน หรือมาจากแหล่งของเงินลงทุนของเจ้าของมากกว่ากัน นอกจากนี้การวัดอัตราส่วนในกลุ่มนี้ยังคงวัดถึงความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ย และรายจ่ายประจำอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อให้ครอบคลุมถึงความสามารถในการบริหารหนี้สินอย่างเต็มประสิทธิภาพ

4.การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร (Profitability Analysis) เป็นการวัดถึงความสามารถในการทำกำไรด้านต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อเป็นการวิเคราะห์ถึงรายได้และรายจ่ายของกิจการว่ามีความสอดคล้องกันเพียงใด กิจการมีรายจ่ายในส่วนใดมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังคงวิเคราะห์ถึงความสามารถในการทำกำไรต่อเงินที่กิจการจัดสรรมาลงทุน เช่น การเปรียบเทียบกำไรกับเงินทุนที่เจ้าของนำมาลงทุน หรือการเปรียบเทียบกำไรกับสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่บริษัทได้ลงทุนไป

5. การวิเคราะห์มูลค่าทางการตลาด (Market Value Analysis) เป็นการวิเคราะห์ถึงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ นำมาเปรียบเทียบกับกำไรต่อหุ้น กระแสเงินสดต่อหุ้น และมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น เพื่อให้ทราบว่าบริษัทมีสถานะการดำเนินงานเมื่อเปรียบเทียบแล้วดีมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทอื่น ๆ ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น