xs
xsm
sm
md
lg

การวัดสุขภาพของบริษัท (ตอน 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ถนนสู่การลงทุน
ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสาทรธานี
ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจไซเบอร์ (RSU Cyber University)
และผู้จัดการโครงการหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยรังสิต


การวิเคราะห์สภาพคล่องของบริษัท (Liquidity Analysis) เป็นการวัดถึงความสามารถในการจ่ายภาระต่าง ๆ ทางการเงินในระยะสั้นของบริษัท ซึ่งการวัดประสิทธิภาพด้านสภาพคล่องของบริษัทนั้นสามารถวัดได้โดย 2 อัตราส่วนทางการเงิน คือ อัตราส่วนหมุนเวียน (Current Ratio) และอัตราส่วนหมุนเร็ว (Quick Ratio) โดยที่ทั้งสองอัตราส่วนนี้มีลักษณะของการวัดที่คล้ายกัน

อัตราส่วนหมุนเวียน (Current Ratio) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดถึงความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัท ว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นมากน้อยเพียงใด การวัดอัตราส่วนนี้ทำได้โดย การนำเอาสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัทในแต่ละปี หารด้วยหนี้สินหมุนเวียนในแต่ละปีของบริษัท เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมีมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนมากน้อยเพียงใด หากค่าที่คำนวณได้ออกมาสูง ก็จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นสูง

คำว่า สินทรัพย์หมุนเวียน นั้นหมายถึง สินทรัพย์ของบริษัทที่มีอายุการใช้งานไม่เกินกว่า 1 ปี เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ ซึ่งรายการต่าง ๆ ในสินทรัพย์หมุนเวียนนี้สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ภายในระยะเวลาไม่เกินกว่า 1 ปี ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อนำมาชำระหนี้สินระยะสั้น หรือหนี้สินหมุนเวียนได้

สำหรับ หนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินที่มีระยะเวลาไม่เกินกว่า 1 ปีจะครบกำหนดการชำระเงิน ซึ่งโดยทั่วไปหนี้สินหมุนเวียนจะประกอบด้วย เจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้น ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น

การทำอัตราส่วนกันระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียนนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ระยะสั้นของกิจการ ว่ากิจการมีความสามารถมากน้อยเพียงใด แต่การที่นำเอาสินทรัพย์หมุนเวียนทุกรายการมาเป็นฐานในการคำนวณนั้น อาจเป็นการประมาณการในแง่ดีมากจนเกินไป เพราะไม่ใช่สินทรัพย์หมุนเวียนทุกรายการจะสามารถแปลงเป็นเงินสดได้รวดเร็วเท่ากันทั้งหมด

อัตราส่วนหมุนเร็ว (Quick Ratio) จึงเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่จัดทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องบางประการของอัตราส่วนหมุนเวียน คือ อัตราส่วนหมุนเร็วนั้นจะเป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนโดยนำเอา สินทรัพย์หมุนเวียน เฉพาะรายการที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็ว (โดยปกติจะนำเอาสินทรัพย์หมุนเวียน หักออกด้วยสินค้าคงเหลือ เพราะสินค้าคงเหลือจะเปลี้ยนเป็นเงินสดได้ค่อนข้างช้าที่สุด) หารด้วยหนี้สินหมุนเวียนรวม

การวัดสถานะทางการเงินของบริษัทโดยใช้อัตราส่วนหมุนเร็วนั้น เป็นการวัดความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้นของบริษัท โดยพิจารณาเฉพาะสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็ว เพื่อประสิทธิภาพในการชำระหนี้สินระยะสั้น

การวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Analysis) เป็นการใช้อัตราส่วนทางการเงินในการประเมินถึงความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ของกิจการ ว่ากิจการนั้นมีความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด โดยการวิเคราะห์นั้นจะกระทำได้โดยการใช้อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ดังนี้

อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio) สามารถคำนวณได้โดยการนำเอายอดขายของบริษัททั้งปี มาหารด้วยจำนวนสินค้าคงเหลือที่ปรากฎอยู่ในงบดุลของบริษัท การวัดอัตราส่วนนี้จะช่วยทำให้บริษัททราบดีว่าสินค้าของเหลือในคลังสินค้าของตนนั้นมีมากน้อยเพียงใด หากสินค้าคงเหลือมีมากจนเกินไป อัตราส่วนดังกล่าวจะคำนวณออกมาได้ต่ำมาก จะแสดงให้เห็นว่ากิจการนั้นมีสินค้าในคลังสินค้ามากจนเกินไป บริษัทต้องเร่งดำเนินการหากวิธีการในการลดจำนวนสินค้าในคลังสินค้า และตรวจสอบหาสาเหตุว่าทำไมสินค้าคงเหลือในคลังสินค้านั้นมีมาก อาจเป็นเพราะสินค้าล้าสมัย หรือเป็นเพราะสาเหตุใด

ระยะเวลาในการเก็บหนี้ถัวเฉลี่ย (Days Sales Outstanding) หรือเรามักจะเรียกอย่างย่อว่า DSO สามารถคำนวณหาได้โดยนำเอาลูกหนี้การค้าที่ปรากฎในงบดุล หารด้วยยอดขายเฉลี่ยต่อวัน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้น เป็นจำนวนวันที่ต้องใช้ในการเรียกเก็บหนี้ การำควณหายอดขายเฉลี่ยต่อวันนั้นจะสามารถคำนวณหาได้โดยง่าย ๆ คือ นำเอายอดขายที่ปรากฎในงบกำไรขาดทุน หารด้วยจำนวนวันต่อปี (365 วัน) เราก็จะได้ยอดขายเฉลี่ยต่อวันออกมา หากกิจการทราบดีว่ากิจการนั้นมียอดขายเชื่อเฉลี่ยต่อวันเท่าใด กิจการก็จะสามารถนำยอดนั้นมาเป็นตัวหารได้เช่นเดียวกัน อัตราส่วนนี้เมื่อคำนวณแล้วจะทำให้ทราบว่าบริษัทใช้ระยะเวลาในการเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้าแต่ละรายนั้นนานเพียงใด หากใช้ระยะเวลานานมากกว่าปกติ บริษัทก็ควรที่จะต้องพิจารณาทบทวนนโยบายการขายสินค้าเชื่อต่อไป

อัตราการหมุนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Turnover Ratio) เป็นอัตราส่วนที่บอกให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ต่อยอดขายของกิจการ สามารถคำนวณหาได้โดย นำเอายอดขายต่อปีในงบกำไรขาดทุนของบริษัท หารด้วยสินทรัพย์ถาวรสุทธิของบริษัท หากตัวเลขที่คำนวณออกมาสูง แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ถาวรเป็นอย่างดี สามารถทำยอดขายได้สูงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคาร ที่ดิน เครื่องจักร ฯลฯ

อัตราส่วนสุดท้ายองของกลุ่มนี้ คือ อัตราการหมุนของสินทรัพย์รวม (Total Assets Turnover Ratio) เป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทในการลงทุนในสินทรัพย์ ว่าบริษัทลงทุนในสินทรัพย์ทั้งหมดแล้วเกิดประโยชน์ต่อบริษัทมากน้อยเพียงใด อัตราส่วนนี้สามารถคำนวณได้โดยการนำเอายอดขายทั้งปี หารด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีของบริษัท ซึ่งค่าทั้งสองนี้บริษัทสามารถหาได้จากงบกำไรขาดทุนและงบดุล หากค่าที่คำนวณได้ออกมาสูง ก็จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นลงทุนและใช้สินทรัพย์ที่ลงทุนอย่างคุ้มค่า
กำลังโหลดความคิดเห็น