xs
xsm
sm
md
lg

ตัวเลขส่งออกไทยไปเอเชียดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความต้องการบริโภคและการลงทุนภายในจีนที่ขยายตัวต่อเนื่องจากแรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนช่วยกระตุ้นให้มูลค่าส่งออกของไทยไปจีนในเดือนเมษายนหดตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 13 (yoy) เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 34 ในไตรมาสแรก (yoy) และเทียบกับที่ติดลบร้อยละ 14 ในเดือนมีนาคมก่อนหน้า (yoy) หากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนเมษายนขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา

ซึ่งน่าจะเป็นผลจากความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นต้นและขั้นกลาง ที่จีนใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้าง ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการจีนนำออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลรุนแรงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2551

แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนส่งผลให้การนำเข้าของจีนจากประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนเมษายน โดยมีอัตราหดตัวของการนำเข้าในเดือนเมษายนชะลอลงจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ยกเว้นสิงคโปร์และอินเดียที่จีนนำเข้าหดตัวเร่งขึ้นในเดือนเมษายน ขณะที่การนำเข้าของจีนจากเวียดนาม และออสเตรเลียสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในเดือนเมษายน (yoy) เทียบกับในไตรมาสแรกที่มีอัตราติดลบ สำหรับการนำเข้าจากนิวซีแลนด์มีอัตราขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนเมษายน (yoy) เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรก

**เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย การนำเข้าของจีนจากไทยในเดือนเมษายนมีอัตราหดตัวชะลอลงค่อนข้างมาก** ทั้งนี้ น่าจะเป็นผลพวงจากการกระเตื้องขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และภาคก่อสร้างของจีนที่ได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการของทางการจีน ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าขั้นต้นและสินค้าขั้นกลางจากไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันและมีระดับการพึ่งพาค่อนข้างสูงกับการผลิตในอุตสาหกรรมเหล่านี้ของจีนได้รับแรงขับเคลื่อนตามไปด้วย

เปรียบเทียบการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนเมษายนนี้กับไตรมาสแรก **สินค้าส่งออกสำคัญๆ ของไทยไปจีนในเดือนเมษายนส่วนใหญ่มีอัตราหดตัวชะลอลง** ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า วงจรพิมพ์ เหล็กเหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าส่งออกที่มีอัตราขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนเมษายน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าส่งออกที่สามารถกลับมาเติบโตได้หลังจากมีอัตราติดลบในช่วง 3 เดือนแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไม้และผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และมอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่วนการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งของไทยไปจีนหดตัวร้อยละ 51.7 จากที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้

การส่งออกของไทยไปจีนที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งผลรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ทำให้มูลค่าส่งออกของไทยไปจีนลดลงจนถึงจุดต่ำสุดในเดือนมกราคม 2552 แม้ว่าการปรับตัวดีขึ้นนี้ ยังมีอัตราติดลบเมื่อเทียบกับฐานที่สูงของมูลค่าการส่งออกในช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่ยังอยู่ในภาวะปกติ **สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง** เนื่องจากแรงส่งของมาตรการทางการจีนที่ช่วยขับเคลื่อนการบริโภคและการลงทุนภายในของจีน โดยสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ยางพารา เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

...นอกจากการปรับตัวของ**การส่งออกของไทยไปจีนที่ดีขึ้นแล้ว การส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้และอินเดียมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น โดยได้เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในเดือนเมษายนนี้บ้างแล้ว เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนของประเทศทั้งสอง ได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการด้านการเงินและการคลังของภาครัฐ** โดยการส่งออกไปตลาดอินเดียในช่วง 4 เดือนแรกหดตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 11.5 จากที่ติดลบร้อยละ 16.9 ในไตรมาสแรก ขณะที่การส่งออกไปเกาหลีใต้ติดลบชะลอเหลือร้อยละ 21.3 ในช่วง 4 เดือนแรก เทียบกับที่หดตัว 24.5 ในไตรมาสแรก

**วิกฤตเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ได้สร้างแรงผลักดันให้ประเทศในเอเชียที่พึ่งพาภาคส่งออกในระดับสูง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่ถือเป็นประเทศผู้บริโภคอันดับที่ 1 ของโลก ให้หันกลับมาให้น้ำหนักกับการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในภูมิภาคมากขึ้น***

คาดว่าจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่อันดับ 1 ของโลกและมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจด้วยเงินสำรองต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก จะมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่เน้นการเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงยกระดับรายได้ของชาวจีนในภาคชนบท ได้แก่ มาตรการเพิ่มรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม และการขยายระบบประกันการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจทางรายได้และเพิ่มการใช้จ่ายมากขึ้น เนื่องจากอัตราการออมของชาวจีนในปัจจุบันที่อยู่สูงถึงราวร้อยละ 50 เทียบกับอัตราการออมของประชาชนสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 4.2 เท่านั้น คาดว่ามาตรการด้านสวัสดิการสังคมของทางการจีนจะช่วยสร้างอุปสงค์ในประเทศระยะยาว ซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย

ขณะที่ความร่วมมือของจีนกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนผ่านการจัดทำความตกลงเปิดเสรี (FTA) ที่มีหลายระดับที่จะเสริมให้ประเทศในเอเชียพึ่งพากันเองมากขึ้น ได้แก่ ความตกลง FTA อาเซียน-จีนด้านการค้าที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 และจะบรรลุผลในปี 2553 รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบอาเซียน +3 (ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) และอาเซียน+6 (ได้แก่ ประเทศอาเซียน+3 กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ที่มีแนวโน้มจะพัฒนาไปสู่การจัดทำความตกลงเปิดเสรีในระดับภูมิภาคในระยะต่อไป

ไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนน่าจะได้ผลดีผ่านการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนกับจีน ในฐานะที่จีนเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 3 ในปัจจุบัน รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของสินค้าส่งออกหลักๆ ของไทยหลายรายการ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ของการส่งออกคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบทั้งหมดของไทยในปี 2551 เคมีภัณฑ์ (สัดส่วนร้อยละ 19) และยางพารา (สัดส่วนร้อยละ 28.5) ขณะที่จีนเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับที่ 2 ของไทยรองจากญี่ปุ่น

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น