xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณส่งออกไทย-จีนฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นจากดัชนีเศรษฐกิจของประเทศสำคัญของโลกอย่างสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นหลายด้านสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจก้าวผ่านภาวะถดถอยที่ถึงจุดต่ำที่สุดมาแล้ว แต่การฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ รวมถึงสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น (กลุ่มจี 3) ที่ปัจจุบันยังประสบปัญหาจากภาคเศรษฐกิจภายในที่อ่อนแรง โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงต้องอาศัยเวลาอย่างน้อยไปจนถึงช่วงปลายปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจประเทศเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกหลักๆ ไปยังกลุ่มจี 3 รวมถึงประเทศไทยคงต้องเผชิญปัญหาการส่งออกหดตัวอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยในระยะ 6 เดือนข้างหน้า

 ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศจีนที่ผลกระทบจากภาคส่งออกที่ชะลอตัวรุนแรงจนมีอัตราหดตัวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 และมีอัตราเร่งขึ้นเป็นเลข 2 หลักติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 จนถึงปัจจุบัน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกของปี 2552 ขยายตัวชะลอลงติดต่อกัน 7 ไตรมาส และถือเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี  โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากภาคส่งออกที่เป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องอยู่ในภาวะหดตัวต่อเนื่อง ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นปลายปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะ ฟื้นตัวอย่างมั่นคงมากขึ้น

 อย่างไรก็ตาม แรงหนุนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนที่อัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือ 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 โดยมีระยะเวลา 2 ปี รวมถึงมาตรการทางภาษีและมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีสำคัญของเศรษฐกิจจีนในเดือนมีนาคม 2552 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในหลายๆ ด้าน ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และสินเชื่อใหม่ที่ขยายตัวในระดับสูง รวมทั้งภาคส่งออกและนำเข้าของจีนที่มีอัตราหดตัวชะลอลงในเดือนมีนาคมนี้ (yoy) เมื่อเทียบกับ 2 เดือนก่อนหน้า

 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญๆ ของทางการจีน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายว่า มาตรการลดภาษีและข้อเสนอส่วนลดสำหรับซื้อรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน โดยเฉพาะในภาคชนยอดขายรถยนต์ของจีนเดือนมีนาคมพุ่งขึ้นเป็น 1.11 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากช่วงเดียวกันปี 2551 (yoy)  แซงหน้ายอดขายรถสหรัฐฯ ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในจีนในไตรมาสแรกของปีนี้มีจำนวนราว 2.67 ล้านคัน สะท้อนถึง ตลาดรถยนต์ในจีนที่ยังคงขยายตัวได้

 นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์

 การปรับลดภาษีในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการขยายตัวของสินเชื่อยอดขายบ้านในพื้นที่ทางการพาณิชย์ (commercial houses) ในไตรมาสแรกของปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 เป็น 113 ล้านตารางเมตร มูลค่ายอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 เป็น 505.9 พันล้านหยวน อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านในเมืองสำคัญ 70 แห่งในจีนยังคงลดลงร้อยละ 1.3 ในเดือนมีนาคม 2552 (yoy) แต่สามารถขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่การซื้อที่ดินของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว
 การใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาคชนบท ระบบขนส่ง ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัยสาธารณะ และการฟื้นฟูพื้นที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว

 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนในเดือนมีนาคม 2552 ขยายตัวดีขึ้น โดยมีอัตราเติบโตร้อยละ 30.3 ส่งผลให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 28.6 (yoy) การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองถือว่าบทบาทสำคัญคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 ของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรทั้งหมดในจีน ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในภาคชนบทในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 29.4 (yoy) ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรโดยรวมของจีนในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวร้อยละ 28.8 (yoy) ทั้งนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีนถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจจีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42 ของจีดีพี

 แผนกระตุ้นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์
 มาตรการใช้จ่ายเงิน 20 พันล้านหยวน (2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2552 รวมถึงมาตรการอุดหนุนการซื้อเครื่องใช้ในบ้านในภาคชนบทจีน เช่น โทรทัศน์และตู้เย็น รวมถึงการวางแผนช่วยเหลือด้านสินเชื่อและการคืนภาษีส่งออก คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานได้ โดยทางการจีนตั้งเป้าหมายสร้างงาน 1.5 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนอย่างน้อยร้อยละ 0.7 ในระหว่างปี 2552-2554 วางแผนเพิ่มรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมอีกร้อยละ 29 (ใช้จ่าย 2.2 พันล้านหยวนในเดือนมีนาคม 2552)
 การวางแผนใช้จ่ายโครงการด้านสวัสดิการรักษาพยาบาลมูลค่า 850 พันล้านหยวน
 การที่รัฐบาลจีนมีเป้าหมายสร้างโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 แห่งในทุกๆ อำเภอ และขยายระบบประกันการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 90 ของประชากรทั้งหมด 1.3 พันล้านคน ภายในปี 2554 การขยายระบบสวัสดิการทางสังคมจะช่วยสนับสนุนความต้องการบริโภคภายในของชาวจีนให้ปรับเพิ่มขึ้นในระยะยาว

 แนวโน้มส่งออกไทย-จีนฟื้น
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐส่งผลให้ความต้องการภายในประเทศของจีนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น สะท้อนจากการขยายตัวดีขึ้นของภาคการลงทุนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในจีนในเดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะสนับสนุนให้การนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าขั้นกลาง และเครื่องจักรกลต่างๆ ของจีนปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างปรับเพิ่มประมาณการอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ เนื่องจากสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นในหลายๆ
ด้านคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้น่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7.0 ซึ่งแม้ว่าจะเป็นอัตราที่ชะลอลงจากปี 2551 ที่เติบโตร้อยละ 9 แต่ก็ยังเป็นอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มถึงจุดต่ำสุดในช่วงกลางปี 2552 และค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีนี้ ตามแรงการขับเคลื่อนจากภาคส่งออกที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่กระเตื้องขึ้น

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย คาดว่าจะส่งผลต่อทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เนื่องจากจีนถือเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้าโภคภัณฑ์รายสำคัญของโลก เช่น เหล็ก ถ่านหินและทองแดง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ รวมถึงอินโดนีเซีย และมาเลเซีย สำหรับประเทศไทย การบริโภคและการลงทุนของจีนที่ขยายตัวต่อไปได้ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้  โดยในเดือนมีนาคม 2552 นี้ เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนมีอัตราหดตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 14 (yoy) จากในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ที่มีอัตราติดลบร้อยละ 34.6 ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในไตรมาสแรกของปีนี้มีอัตราหดตัวร้อยละ 27.6 (yoy) จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 9 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนในเดือนมีนาคมนี้ส่วนใหญ่ปรับดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551

 ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนดังกล่าวน่าจะเป็นผลจากมาตรการของทางการจีนที่ช่วยกระตุ้นความต้องการภายในจีน ส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้รับแรงหนุนให้เติบโตดีขึ้น ที่เห็นได้ชัด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนกระเตื้องขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าจากไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันกับอุตสาหกรรมในจีนน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาภาวะหดตัวรุนแรงของการส่งออกสินค้าขั้นต้น/ขั้นกลางของไทยไปจีนที่ต้องชะลอตัวอย่างหนักความต้องการนำเข้าของจีนเพื่อใช้ผลิตส่งออกไปยังตลาดส่งออกหลักของจีนที่ต้องชะลอตัวตามอุปสงค์ที่อ่อนแรงของประเทศส่งออกหลักที่เผชิญปัญหา ทำให้ความต้องการนำเข้าจากจีนชะลอตัวรุนแรงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยไปจีนที่จะกลับมาขยายตัวในระดับมากกว่าร้อยละ 25 เช่นที่เกิดขึ้นในช่วงกว่า 6 ปีที่ผ่านมา คงต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศจี 3 ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของจีน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของจีนเพื่อใช้ผลิตสินค้าส่งออก จากประเทศในเอเชียและไทยกลับเป็นปกติ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในปี 2553
กำลังโหลดความคิดเห็น