ประเทศไทยเเละประเทศในเเถบภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่พึงพาการส่งออกไปยังต่างประเทศหรือประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน เเน่นอนว่าการส่งออกในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวนี้ ทำให้ยอดการส่งออกของทุกประเทศลดลงเเละหดตัวลงอย่างมาก ซึ่งผลกระทบที่ตามมาคือการลดกำลังผลิตของอุตสหกรรมที่เน้นการส่งออก ปัญาหาการว่างงาน เเละปัญาหาอื่นๆ อีกมายที่ตามมา
สำหรับประเทศไทยนั้น การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญต่ออัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยสังเกตได้จากสัดส่วนของการส่งออกและการนำเข้าสินค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยในปี2551 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 72.1 และ 56.6 ตามลำดับ ดังนั้น การขยายตัวหรือหดตัวของการส่งออกและนำเข้าสินค้า ย่อมมีผลกระทบอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการบริโภคภายในประเทศ การลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.ประกาศว่าไตรมาส 4 ปี 2551 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ หดตัวลงร้อยละ -4.3 ต่อปี เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการถึงร้อยละ -8.6 ต่อปี เมื่อพิจารณา Contribution to GDP Growth จะพบว่า การหดตัวของ GDP มาจากการหดตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ ถึงร้อยละ -6.2 ต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเป็นตัวฉุดอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
โดยการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคมนั้นมีมูลค่าสินค้าส่งออก หดตัวร้อยละ -26.5 ต่อปีต่ำสุดในประวัติศาสตร์ หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -14.6 ต่อปี และเคยขยายตัวถึงร้อยละ 36.2 ต่อปีในเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนมูลค่าสินค้านำเข้า หดตัวร้อยละ -37. 6ต่อปีหดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปี และเคยขยายตัวถึงร้อยละ 49.1 ต่อปี ในเดือนเดียวกันของปีก่อน เเละดุลการค้าเกินดุล 1,377.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าหดตัวแรงกว่ามูลค่าส่งออกสินค้า
ซึ่งปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนม.ค. 2552 หดตัว ได้แก่ 1.) การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ยอดคำสั่งซื้อลดลงโดยเฉพาะสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนร้อยละ 75.3 ของมูลค่าส่งออกรวม 2.)การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันในตลาดโลก และ 3.) ฐานที่สูงในเดือนเดียวกันของปีก่อน
ในขณะที่ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าในเดือนม.ค. 2552 หดตัว ได้แก่1.) การที่คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของไทยจากต่างประเทศลดลง ทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกลดลง 2.) นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไป เพราะความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทำให้มีการชะลอการซื้อสินค้าทุน 3.) ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่ลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และ 4.) ราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดุลการค้าที่เกินดุล เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าการส่งออก
โครงสร้างการส่งออก
สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 75.3 % ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ในจำนวนนี้สินค้าคอมพิวเตอร์อุปกรณ์ และส่วนประกอบมีสัดส่วนมากที่สุด คือ 10.3% ของมูลค่าส่งออกรวม และ 13.7 % ของสินค้าอุตสาหกรรม รองลงมาได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า
อันดับ 2 คือ สินค้าเกษตร มีสัดส่วน 11.3% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ในจำนวนนี้ยางพารามีสัดส่วนมากที่สุด คือ 3.8% ของมูลค่าส่งออกรวม และ 33.7% ของสินค้าเกษตร รองลงมาได้แก่ ข้าว ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง
ส่วนอันดับ 3 และ 4 ได้แก่ สินค้าแร่และเชื้อเพลิง และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีสัดส่วน 6.8% และ 6.6% ของมูลค่าส่งออกรวม โดยสินค้าสำคัญ คือ น้ำมันสำเร็จรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามลำดับ
โดยหมวดสินค้าเกษตร มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงกลางปี 2551 โดยในไตรมาสสองและสาม การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวถึง 56.7 % และ 57.5% ตามลำดับ ตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น แต่มาหดตัวลงในไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยในเดือนมกราคม 2552 สินค้าเกษตรมีอัตราการหดตัวที่ะ -33.4% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว -27.9% ต่อปี สินค้าหลักในหมวดนี้ ได้แก่ ยางพารา และข้าว โดยการหดตัวของยางพารา เป็นผลต่อเนื่องมาจากยอดขายรถยนต์ของประเทศคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ที่ชะลอตัวลงมาก
หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2551 โดยในไตรมาสสาม ขยายตัวถึง 38.2% ต่อปี แต่ชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้าย สาเหตุที่สินค้าในหมวดนี้ยังขยายตัวที่ 23.4% ต่อปีในปี 2551 เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และพฤติกรรมที่ครัวเรือนออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยในเดือนมกราคม 2552 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีอัตราการหดตัวที่-7.5% ต่อปีจากที่เคยขยายตัว 9.7% ต่อปีในเดือนก่อนหน้า สินค้าหลักในหมวดนี้ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป
หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เป็นหมวดสินค้าหลักของการส่งออกของไทย โดยมีสัดส่วนถึง 75.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของปี 2551 โดยในสามไตรมาสแรกของปี 2551 มีการขยายตัวใกล้เคียงกับการขยายตัวในปี 2550 ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 มีการหดตัวเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลง ตามยอดขายของสินค้าคงทนที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงผลจากการปิดสนามบิน โดยในเดือนมกราคม 2552 สินค้าอุตสาหกรรมมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -25.2ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว -14.3% ต่อปี สินค้าหลักในหมวดนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า
หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าหลัก อัตราการขยายตัวของสินค้าหมวดนี้เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมีการขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงกลางปี 2551 และหดตัวลงในไตรมาสสุดท้าย ในเดือนมกราคม 2552 สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีอัตราการหดตัวที่ -45.1% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัว-15.3% ต่อปีตามราคาน้ำมันในตลาดดูไบ ที่หดตัว-50.0% ต่อปี ในเดือนมกราคม 2552เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญข้างต้น คงกล่าวได้ว่า สถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดเจนขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความต้องการของตลาดคู่ค้าหลักลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกของไทยมีการกระจายตัวของคู่ค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงของการส่งออก หากประเทศคู่ค้ารายหนึ่ง ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกของไทยยังคงเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่เหลือ ยังมีความสามารถที่จะนำเข้าสินค้าจากไทยได้ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่มยูโรโซนมากที่สุดโดยคิดเป็นร้อยละ 12.0 ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนอันดับรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีสัดส่วนร้อยละ 11.4 11.39.1 และ 5.7 ตามลำดับ ซึ่งประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวโดยตรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก
โดยสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค หรือสศค. คาดว่า ในช่วง 6-9 เดือนของปี 2552 มูลค่าส่งออกสินค้า น่าจะหดตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก บวกกับฐานที่สูงมากในช่วงดังกล่าว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ก็มีโอกาสสูงมากที่อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะยังคงหดตัวในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านการส่งออก นอกจากจะเร่งหาตลาดใหม่ เพิ่มปริมาณการค้าภายในภูมิภาคแล้ว ยังต้องดูแลเรื่องค่าเงินบาท มิให้เสียเปรียบคู่แข่ง และสนับสนุนให้ประเทศในภูมิภาคร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง จะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวเร็วขึ้น ท้ายที่สุดจะส่งผลให้การส่งออก การผลิต และการจ้างงานฟื้นตัวอย่างยั่งยืน
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง