xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจสิงคโปร์ดิ่งเหว สวนบทวิเคราะห์มูดี้ส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สิงคโปร์” คาดการณ์เศรษฐกิจวิกฤติหนัก GDP ปี 52 ตกต่ำรุนแรงสุด ติดลบมากกว่า 5% สวนบทวิเคราะห์มูดี้ส์ที่ระบุไทยตกต่ำสุดในเอเชีย หลังดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ดิ่งเหวเกือบทุกภาคเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก-นำเข้า ดัชนีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ผลพวกจากการผูกติดทางเศรษฐกิจแนบแน่นกับสหรัฐฯ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดอัตราการว่างงานอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.7% กระทรวงการค้าฯ สิงคโปร์ เตรียมประกาศตัวเลขประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นรอบที่ 3 ของปี วันนี้ (26 ก.พ.)

มาดามโฮ ภรรยาของ ลีเซียน ลุง นายกรัฐมนตรี ในฐานะซีอีโอของกองทุนเทมาเซ็ก แถลงลาออกจากตำแหน่ง หลังข่าวอย่างไม่เป็นทางการรายงานว่า กองทุนประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักจากการลงทุนตราสารทางการเงินในต่างประเทศ
ภายหลังจากที่ แผนกวิจัยเศรษฐกิจ การเงิน และอุตสาหกรรมของมูดี้ส์ ออกมาทำนายว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุดในเอเชีย โดยหยิบเอาการรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการพัฒนา การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาอ้างอิงอีกทอด หลังจากที่ สศช. เผยตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ติดลบ 4.3% แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียมีจำนวน 47 ประเทศ ตราบใดที่มูดี้ส์ยังไม่สามารถทำนายตัวเลขเศรษฐกิจของทุกประเทศให้เห็น การทำนายว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤตสุดจึงเป็นได้เพียงการคาดเดา

“ASTV ผู้จัดการรายวัน” ได้สำรวจการรายงานข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเทศที่เข้าสู่สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นประเทศแรกในเอเชีย ดัชนีพื้นฐานทางเศรษฐกิจหลายอย่าง บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์กำลังเข้าสู่ฝันร้ายรุนแรงเกินกว่าที่คาด ตัวเลขทางการหลายอย่างเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยถือว่ารุนแรงกว่ามาก

คาดการณ์ GDP -5% ถึง -2%

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เตรียมประกาศตัวเลขการประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง เป็นรอบที่ 3 ของปี ในวันนี้ (26 ก.พ.) หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เครื่องชี้วัดดัชนีพื้นฐานทางเศรษฐกิจหลายชนิดแสดงให้เห็นถึงการถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรกของประเทศ

ล่าสุดจากการประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจในเดือนมกราคม ทางการสิงคโปร์ประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP growth rate) ปี 2552 ขยายตัวอยู่ในแดนลบ ประมาณ -5% ถึง -2% นับเป็นการถดถอยครั้งแรกในรอบหลายสิบปีของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเสือตัวที่ 4 ของเอเชีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในช่วง 10 ปีให้หลัง ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับ 7-8% เป็นอย่างต่ำ ทั้งนี้ ประเทศสิงคโปร์เคยประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงครั้งหลังสุด ต้องย้อนไปถึงปี 2507 ครั้งนั้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ติดลบ 3.8%

ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีเสรีทางเศรษฐกิจ(Economic Freedom) ติดอันดับที่ 2 ของโลก จากการจัดอันดับล่าสุดเมื่อปี 2551 ของ Fraser Institution เป็นรองจากฮ่องกง และตามด้วยนิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจของสิงคโปร์พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมัน ที่มีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 26% ของจีดีพี มีมูลค่าการผลิตคิดเป็น 10% ของปริมาณการผลิตรวมของโลก

สำหรับตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างของสิงคโปร์ คือ กิจการท่าเรือ และการเป็นตลาดกลางซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดกลางที่มีมูลค่าการซื้อขายขนาดใหญ่ติดอันดับ 4 ของโลก รองจากตลาดลอนดอน นิวยอร์ก และ โตเกียว ตามลำดับ

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ รายงานผ่านสำนักสถิติกลางของประเทศว่า การหดตัวอย่างรุนแรงในครั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นสำคัญ นั่นคือ เศรษฐกิจโลกหดตัวลงเกินกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวแสดงให้เห็นว่าการหดหยั่งรากลึกมาก ไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขมูลค่าการค้าปลีกและการว่างงานของสหรัฐอเมริกา การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลงของตลาดยุโรป รวมไปถึงตัวเลขการส่งออกที่ลดลงของประเทศในกลุ่มอาเซียน ด้วยกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายประเภทลดลงอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก ยอดการค้าภายในประเทศที่หดตัว รวมไปถึงอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 2.6%

อัตราการว่างงานพุ่ง 4.7%

ทางการสิงคโปร์ ยังรายงานด้วยว่า จากความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขเมื่อเดือนธันวาคม 2551 อัตราการว่างงานในประเทศสิงคโปร์ อยู่ในระดับ 2.6% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 อัตราการว่างงานในสิงคโปร์อยู่ในระดับ 1.7 % จากยอดการจ้างงานรวมทั้งประเทศ 2.96 ล้านอัตราโดยประมาณ ในจำนวนนี้มีสัดส่วนแรงงานต่างชาติ จำนวน 1.05 ล้านอัตรา คิดเป็น 36%

สำนักงานสถิติกลางของสิงคโปร์ ยังรายงานด้วยว่า มีบริษัทประกาศปลดพนักงานอย่างเป็นทางการประมาณ 7,000 อัตรา การเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทว่านักวิเคราะห์จากธนาคาร DBS ระบุว่า อัตราการว่างงานในประเทศสิงคโปร์ อาจพุ่งสูงขึ้นถึง 4.7% โดยอาจจะเห็นตัวเลขการว่างงานของคนสิงคโปร์ ประมาณ 99,000 อัตราในเร็ว ๆ นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากตัวเลขการส่งออกที่หดตัว

ส่งออกเดือนมกราคมวูบ 38%

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ยังรายงาน ตัวเลขมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมประจำเดือนมกราคม 2552 ว่า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศหดตัว 36% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องหรือลดลง 19% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธ.ค. ปี 2551 อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า เป็นผลมาจากการส่งออกที่หดตัว 38% และยอดการนำเข้าที่หดตัว 33%

สำหรับภาคส่งออกที่มีการหดตัวอย่างรุนแรงมีสาเหตุสำคัญมาจากสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลดลงถึง 38% เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และ อุปกรณ์ disk drives เป็นต้น นอกจากนี้ สินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์ ก็หดตัวลดลงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกันหรือลดลงกว่า 32% โดยสินค้าที่สำคัญในหมวดนี้อย่างเช่น สินค้าจำพวกปิโตรเคมิคอล หรือสินค้าสารเคมีตั้งต้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ตัวเลขยอดการค้าที่หดตัวเป็นผลมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดคู่ค้าที่สำคัญของสิงคโปร์ ประกอบด้วย ยอดส่งออกสินค้าในหมวดที่ไม่รวมน้ำมันไปยังสหรัฐอเมริกาหดตัว 50% ยอดส่งออกไปจีน หดตัว 42% ยอดส่งออกไปสหภาพยุโรป หดตัว 27% ยอดการส่งออกไปมาเลเซีย หดตัว 40% ยอดการส่งออกไปอินโดนีเซียหดตัว 38% ยอดการส่งออกไปฮ่องกงหดตัว 41% ยอดการส่งออกไปญี่ปุ่น หดตัว 28% และยอดส่งออกมายังประเทศไทยหดตัว 51%

การค้า-การผลิตในประเทศดิ่ง

ตัวเลขดัชนีค้าส่งภายในประเทศ (Domestic Wholesale Trade Index) พบว่า การค้าส่ง ภายในประเทศ ประจำไตรมาสไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ลดลง 32.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านั้น ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวไม่นับรวมยอดการค้าในหมวดน้ำมันปิโตรเลียม ที่ลดลงกว่า 14.3% แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแบบปีต่อปีพบว่า ยอดการค้าส่งหดตัวถึง 24.3% เมื่อเทียบกับปี 2550 ไม่นับรวมยอดการค้าในหมวดน้ำมันปิโตรเลียมที่หดตัวถึง 13.2% สำหรับหมวดการค้าที่หดตัวมีเกือบทุกหมวดหมู่สินค้าไม่ว่าจะเป็น อาหาร น้ำดื่ม อุปกรณ์ตกแต่งบ้านน้ำมันปิโตรเลียม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์

ขณะเดียวกัน ตัวเลขการค้าปลีกภายในประเทศก็แสดงให้เห็นถึงการหดตัวเช่นเดียวกัน กล่าวคือ จากการเปรียบเทียบการค้าปลีกแบบปีต่อปี พบว่า ยอดการค้าปลีกตลอดทั้งปี 2551 ลดลง 1.6% เมื่อทำการเปรียบเทียบกับปี 2550

สำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขเดือนธันวาคม 2551 เพียงเดือนเดียว ดัชนีการผลิตลดลงถึง 13.5% แต่ในรอบ 3 เดือนสุดท้ายของปี 2551 หดตัว 10.7% โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงมาก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดัชนีการผลิตหดตัว 35.1% อุตสาหกรรมเคมี ดัชนีการผลิตหดตัว 23.3% อุปกรณ์หรือเครื่องมือทางวิศวกรรม หดตัว 21.1% หรือแม้แต่ดัชนีการผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วไปเช่นน้ำดื่มหรืออาหาร ก็หดตัว 2.6% เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจสิงคโปร์นั้น ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(Foreign Direct Investment) จากหนังสือรายงานประจำปี 2551 ของทางการสิงคโปร์ พบว่า ยอดการลงทุนจากประเทศไทยในสิงคโปร์เมื่อปี 2549 ประมาณ 1,421 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (33,311 ล้านบาท) ในขณะที่สิงคโปร์ลงทุนในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,291.8 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (264,702.38 ล้านบาท)

มีรายงานด้วยว่า นายลีเซียน ลุง นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ ออกมายอมรับผ่านสื่อในประเทศด้วยว่า การหดตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในคราวนี้อาจเป็นไปได้ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจจะหดตัวมากกว่า 5% เป็นการติดลบครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2521 อย่างไรก็ดี เขากล่าวด้วยว่า ถ้าหากภายใน 4-5 ปี นับจากนี้ ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่ประมาณ 2-3%ก็นับว่าโชคดีแล้ว

รัฐบาลสิงคโปร์ ได้ทุ่มเม็ดเงินงบประมาณ จำนวน 7.79 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบนี้ เช่น การให้เงินช่วยเหลือบรรดาบริษัทในสิงคโปร์ จำนวน 1.78 แสนล้านบาทเพื่อให้คงการจ้างงานต่อไป อีก2.03 แสนล้านบาท เพื่อเป็นทุนให้บริษัทปล่อยกู้ อีก 9.1 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อีก 9.1 หมื่นล้านบาท สำหรับช่วยเหลือค่าครองชีพภาคครัวเรือนโดยตรง และอีก 1.54 แสนล้านบาท เพื่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานภายในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น