xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯตีปี๊บกู้นอกเข้าสภา โวส่งออกไทยเจ๋งกว่าญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกฯ ปลื้มตัวเลขส่งออกไทยหลังเห็นญี่ปุ่นติดลบ 45% ตีปี๊บกู้นอกเข้าสภาภายในไตรมาสที่ 3 ปิ๊งตัวเลขกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจ อัดฉีดรวมกว่า 1.75 ล้านล้านดอลาร์ สั่งสภาพัฒน์หาทางดูดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทย ลั่นกู้เงิน ตปท.เข้าสภาไตรมาส 3 ส่วนจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ตลอดชีวิตไม่ใช่แค่ 6 เดือน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" เป็นครั้งที่ 7 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT)และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการบันทึกเทปรายการ ที่โรงแรมดุสิตธานี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ไว้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 27 ก.พ.ระหว่างเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14หรืออาเซียนซัมมิท

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยที่ลดลงถึงร้อยละ 26.5 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าหลายประเทศได้มีตัวเลขออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว น่าตกใจกว่า เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกลดลงถึงร้อยละ 45 หรือบางประเทศลดลงถึงร้อยละ 30 ร้อยละ 40  สะท้อนให้เห็นว่าภาวะวิกฤตโลกขณะนี้ได้ทำให้การค้าระหว่างประเทศ หรือการค้าในโลก ของเราหายไปประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งย่อมกระทบกับทุกประเทศ และมีผลกระทบรุนแรง  ถ้าหากว่าประเทศใดต้องพึ่งพาในเรื่องของการส่งออกในการสร้างงาน สร้างรายได้ การฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้จึงต้องผนึกกำลังกัน  และรัฐบาลจะทุ่มเทเต็มความสามารถในการที่จะแก้ปัญหา

"รัฐบาลได้ประเมินสถานการณ์ จากการ ที่ตัวเลขการส่งออก และการค้าระหว่างประเทศ หดตัวอย่างรุนแรง ว่าขณะนี้เราจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจของเรายังสามารถที่จะขยายตัวได้ในปีนี้ ผมประเมินร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครับ เชื่อว่าตัวเลขของเศรษฐกิจใน 3 เดือนแรกหรือไตรมาสแรกของปีนี้คงจะติดลบ และอาจจะติดลบรุนแรงเท่ากับหรืออาจจะมากกว่าใน 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งติดลบไปถึงร้อยละ 4.3  จากนั้นเรามั่นใจว่ามาตรการที่เราได้เริ่มดำเนินการ"

***กู้เงิน ตปท.เข้าสภาไตรมาส 3
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้ประเมินตัวเลขต่างๆ แล้ว ทั้งในแง่ของผลกระทบการส่งออก และตัวเลขการท่องเที่ยว งบประมาณที่รัฐบาลจะใช้จ่ายในช่วงของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี  ไปจนถึงการเตรียมการในการใช้จ่ายงบประมาณในปีงบประมาณหน้ายังคงไม่พอ รัฐบาลได้เตรียมแผนสำรองเอาไว้คือการที่จะกู้เงินจากต่างประเทศ  เพื่อเข้ามาลงทุนในโครงการพื้นฐาน  ซึ่งเป็นโครงการในลักษณะที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ก็น่าจะมีความจำเป็นชัดเจนแล้วในขณะนี้  ขั้นตอนต่อไปก็คือว่ากระทรวงการคลังซึ่งได้รับความเห็นชอบในเชิงหลักการให้ไปกรอบการเจรจา ก็จะเร่งนำเอากรอบเจรจาเงินกู้นี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐสภาให้ความเห็นชอบและนำไปสู่การเจรจา เราจะมีเงินอีกก้อนหนึ่งซึ่งพร้อมที่จะมาใช้จ่ายตั้งแต่ไตรมาสที่3 เป็นต้นไป จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลกำลังจะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

***สั่ง สศช.ดูดเงินมหาอำนาจโลก
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศ ตามนโยบายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อหาช่องทางที่จะดึงเงินเหล่านั้นเข้ามาในไทยให้ได้มากที่สุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง โดยจะนำเสนอให้ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจรับทราบในวันที่ 4 มี.ค.นี้ โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มีจำนวนเงินรวมกันประมาณ 1,753,830 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แยกเป็นสหรัฐ 787,000 ล้านดอลลาร์ ,ญี่ปุ่น 102,000 ล้านดอลลาร์, ยุโรป 256,700 ล้านดอลลาร์ ,จีน 586,000 ล้านดอลลาร์ ,สิงคโปร์ 20,500 ล้านดอลลาร์ และมาเลเซีย 1,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ประกอบด้วยการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวม 286,700 ล้านดอลลาร์ เช่น ลภภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย, เพิ่มผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเป็น 20 สัปดาห์,เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลแก่ผู้ว่างงาน คูปองอาหาร ยกเว้นภาษีเงินได้ การให้เงินผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น ส่วนมาตรการกระตุ้นการลงทุนใช้เงินรวม 22,000 ล้านดอลลาร์ เช่นยกเว้นภาษีสำหรับการซื้อบ้านใหม่, ลดภาษีในการซื้อรถยนต์ , เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่เอสเอ็มอี ,ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่ไม่ปรับลดพนักงานและมีการลงทุนเพิ่ม ขณะที่การลงทุนภาครัฐ ใช้เงินรวม 364,500 ล้านดอลลาร์ เช่น การลงทุนด้านการศึกษา ลงทุนในระบบสาธารณูปโภค ระบบประกันสุขภาพ เป็นต้น

ส่วนญี่ปุ่น จะใช้เงินประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการบริโภค ใช้เงิน 32,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการลงทุน เช่น มาตรการสนับสนุนการจ้างงาน การปฏิรูปและพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบภาษีและลดภาษี ส่วนการลงทุนภาครัฐใช้เงินรวม 10,000 ล้านดอลลาร์ เช่น การเพิ่มรายได้ของท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ขณะที่ยุโรปที่ใช้เงินกระตุ้นการบริโภคในประเทศ 2,300 ล้านดอลลาร์ โดยเน้นไปที่การคุ้มครองการจ้างงานในประเทศ ส่วนการลงทุนเน้นการสนับสนุนเอสเอ็มอี และการลงทุนภาครัฐใช้เงิน 215,400 ล้านดอลลาร์ เช่นการพัฒนาระบบพลังงาน พัฒนาสังคมและชนบท พัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

ขณะที่จีน จะเน้นการลงทุนภาครัฐเป็นหลักใช้เงินสูงถึง 562,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย,พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรายได้ของประชาชนในชนบท ,พัฒนาโครงข่ายการขนส่ง ส่วนสิงคโปร์ ใช้เงินส่วนใหญ่เพื่อการลงทุนรวม 13,500 ล้านดอลลาร์ เช่นกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและลดการปลดคนงาน การช่วยเหลือสถาบันการเงิน ขณะที่มาเลเซียจะใช้เงินในส่วนการลงทุนภาครัฐมากที่สุดถึง 1,110 ล้านดอลลาร์

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ทั้งผ่านโครงการชุมชนพอเพียง ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินในส่วนของผู้สูงอายุ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ไปจนถึงเรื่องของการเรียนฟรีในช่วงของการเปิดเทอม และมาตรการ 2,000 บาท ก็จะนำไปสู่การใช้จ่ายการหมุนเวียนที่จะทำให้การหดตัวของเศรษฐกิจใน 3 เดือนที่ 2 หรือไตรมาสที่ 2 นั้น ผ่อนคลายลง หลังจากนั้นก็จะประเมินดูอีกทีว่า ในไตรมาสที่ 3 นั้นจะสามารถทำให้เศรษฐกิจกลับมายืนอยู่ในภาวะที่เรียกว่าไม่เติบโต ไม่หดตัวได้หรือไม่  ก่อนที่ไตรมาสที่ 4 ซึ่งเราตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะสามารถที่จะทำให้เศรษฐกิจมาขยายตัวในแดนบวกได้อีก   

***เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้ตลอดชีวิต
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลเร่งทำงานอย่างต่อเนื่องเช่น กรณีเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุ  ก็ได้เริ่มต้นในกระบวนการของการที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมาขึ้นทะเบียนในหน่วยงานที่เป็น องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ  สำหรับคนที่มีอายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้หรือบำเหน็จ บำนาญ จากราชการ  สามารถที่จะไปลงทะเบียนได้ก่อนวันที่ 15 มีนาคม จะเริ่มจ่ายตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป 

"ขอทำความเข้าใจเพราะมีการสอบถามกันมาเยอะเลยว่า จ่ายให้เพียง 6 เดือนหรือ ไม่ใช่นะครับ รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ตลอดไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว  

ขณะเดียวกันการทำงานกับภาคเอกชนก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สัปดาห์ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐกับเอกชนจับมือกันในการจัดงานเพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างน้อยๆ ตนได้ไปร่วมงาน ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว 2 ครั้ง เป็นการกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนคนไทยเที่ยวในประเทศไทยหรือการสนับสนุนส่วนราชการให้เดินทางประชุม สัมมนาในประเทศมากขึ้น ไปจนถึงเรื่องของการที่มีการเพิ่มวันหยุดให้เกิดการหยุดยาว เพื่อให้มีการเดินทางไปเที่ยวในประเทศมากขึ้น 

***ดูแลดอกเบี้ยฝาก-กู้ให้สมดุล
ยังมีมาตรการที่เราเคยอนุมัติเอาไว้  เรื่องเกี่ยวกับการประกันสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม คาดว่าสัปดาห์หน้าในหน่วยงานของรัฐที่ทำงานเรื่องนี้คือบรรษัทประกันสินเชื่อ อุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะลงนามทำข้อตกลงกับทางธนาคารพาณิชย์ได้ ส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาก็จะดูแลให้การลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการลดทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก  ไม่ให้เกิดความเอารัดเอาเปรียบกัน ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไปในส่วนของ ความร่วมมือของทางภาคเอกชนอีกส่วนหนึ่งด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น