xs
xsm
sm
md
lg

จับตาดูยอดส่งออกไตรมาส1 ตัวสะท้อนภาพเศรษฐกิจไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ประเด็นที่ต้องติดตามคือ ผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกที่หลายประเทศทั่วโลกผลักดันออกมาใช้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความคืบหน้าของมาตรการแก้ไขวิกฤติในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ภายหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอมาบา เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ"


ถึงจะผ่านปีใหม่มาเเล้ว 23 วันเเต่เรื่องของการเมืองเเละเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาก็ยังอยู่ในใจใครหลายคน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่คงต้องจดจำวิกฤติเเฮมเบอร์เกอร์ ของสหรัฐ ไปอีกนานเพราะเพียงเเค่พญาเยี่ยวบินตกลงมายังพสุธาเล็กน้อย ก็ทำให้เศรษฐกิจนานาประเทศสะเทือนกันเลยที่เดียว... ประเทศไทยก็เช่นกันเเม้จะมียอดส่งออกไปยังสหรัฐไม่มากเท่าไรเเต่ก็เล่นเอายอดส่งออกติดลบได้เช่นกันเพราะประเทศหลักที่ไทยส่งออก ก็ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจของสหรัฐเช่นกัน ลองไปดูกันว่ายอดการส่งออกในเดือนธันวามคมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เเละมาดูเเนวโน้มไตรมาสเเรกของปีนี้กันว่าจะยังชะลอตัวหรือมียอดส่งออกติดลบหรือไม่.......
โดยสถาบันวิจัยนครหลวงไทย หรือ SCRIมองว่า การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค. 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,605 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง -14.55% yoy ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยในภาพรวมของภาคการส่งออกสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง -16.1% yoy สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญรวมเชื้อเพลิงลดลง -13.9% yoy ส่วนการนำเข้าเดือนธ.ค.มีมูลค่าทั้งสิ้น 11,254.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 6.5% yoy ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าในเดือนธ.ค. 350.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับยอดการส่งออกทั้งปี 2551 มีมูลค่าทั้งสิ้น 177,841.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 15.58% สูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 12.5% ขณะที่ยอดการนำเข้าตลอดปี 2551 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 178,653.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา 27.6% ส่งผลให้ทั้งปีขาดดุล811.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสินค้าส่งออกที่เพิ่มในช่วงปี 2551 ได้แก่ สินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นถึง 30.1% และสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญรวมเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 14.1%

ขณะที่การส่งออกเดือน ธันวาคม 2551 ยังคงมีการชะลอตัวให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าไม่มียอดคงค้างของภาคการส่งออกในช่วงปิดสนามบินในเดือน พ.ย. 2551 มารวม จะทำให้ภาคการส่งออกโดยรวมของเดือนธันวามคม อาจจะหดตัวลงไปได้ถึงระดับโดยประมาณกว่า -25.0% ซึ่งการส่งออกในเดือนดังกล่าวยังคงมีทิศทางที่เป็นลบต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของภาคการส่งออกไปยังตลาดหลัก ที่โดยรวมแล้วลดลงกว่า -19.7% yoy มาจากภาคการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่ลดลง 19.3% ญี่ปุ่น ลดลง 15.1% สหภาพยุโรป (15) ลดลง 16.3% อาเซียน (5) ลดลง 25.9% ส่งผลให้โดยภาพรวมแล้วอยากที่จะหลีกเลี่ยงการชะลอตัว

ยิ่งไปกว่านั้นแล้วยอดการส่งออกที่แท้จริงในเดือนธ.ค. 2551 ยังอาจจะชะลอตัวลงได้มากกว่า -14.5% เนื่องจากยอดการส่งออกส่วนหนึ่งในเดือนดังกล่าว มีส่วนตกค้างมาจากในช่วงเดือนพ.ย. 2551 ที่มีการชุมนุมปิดสนามบิน จนกระทั่งไม่สามารถมีการส่งออกทางอากาศไปยังต่างประเทศได้ จึงส่งผลให้มีการเลื่อนสินค้าส่งออกไปยังช่วงเดือนธ.ค. 2551 ดังนั้นแล้วจึงถือได้ว่าถ้าไม่รวมยอดตกค้างของสินค้าส่งออกบางส่วนแล้ว ภาคการส่งออกที่แท้จริงในเดือนธ.ค. 2551 น่าจะมีการชะลอตัวลงมากกว่าระดับที่ประกาศออกมา ในเบื้องต้นแล้วคาดว่าถ้าไม่รวมยอดตกค้างของภารส่งออก มูลค่าการส่งออกของไทยโดยรวมในเดือนธ.ค. 2551 อาจจะมีการหดตัวลงไปถึงระดับ -25% ถึง -30%

นอกจากนี้ แนวโน้มภาพรวมของภาคการค้าต่างประเทศในปี 2552 จะมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับในปี 2551 โดยมีความเป็นไปได้ว่าว่าโดยเฉลี่ยทั้งปีแล้วภาคการส่งออกจะเป็นการหดตัวลงติดลบโดยเฉลี่ยประมาณแล้วกว่า -5.0% หลังจากที่แนวโน้มภาคการบริโภคในหลายๆประเทศเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น ซึ่งภาคการส่งออกของไทยอาจจะะเกิดการชะลอตัวลง โดยเฉพาะในช่วง ไตรมาสเเรกของปี ที่คาดว่าจะเห็นการหดตัวติดลบในระดับตัวเลขสองหลักโดยตลอด ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสดังกล่าวมีการชะลอตัวลงต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตามSCRI ยังคงเชื่อว่าในช่วงไตรมาส 2 ของปี แนวโน้มภาคการส่งออกจะยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นได้บ้าง หลังจากที่ในหลายๆประเทศมีการออกนโยบายกระตุ้นภาคอุปสงค์ในประเทศให้กลับมาขยายตัวต่ออย่างเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภาคการส่งออกของไทย ซึ่งถ้ามองในภาพรวมทั้งปีแล้วการส่งออกยังคงชะลอตัวลงติดลบในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในระดับ -5.0%

นอกจากนั้นแล้วในด้านของภาคการนำเข้านั้น แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกจะมีการปรับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงปี 2552 ระดับราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยทั้งปี น่าจะมีการปรับขึ้นจากช่วงปลายปี 2551 ซึ่งจะส่งผลให้ยอดของการนำเข้าโดยรวมในปี 2552 อาจจะไม่ปรับตัวลดลงในอัตราเร่งมากนัก เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2551 โดยรวมเเล้วจะส่งผลให้ดุลการค้าโดยเฉลี่ยทั้งปี นี้ คาดว่าจะมีการขาดดุลได้ต่อเนื่อง อาจจะอยู่ในระดับประมาณ -4.0 ถึง 0.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การส่งออกอาจจะยังคงมีความรุนแรงต่อไปตลอดระยะครึ่งแรกของปี 2552 นี้เป็นอย่างน้อย หลังจากการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2551 มีมูลค่า 11,604.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 14.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นอัตราติดลบที่ดีขึ้นเล็กน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน ที่หดตัวถึงร้อยละ 20.5 ซึ่งเป็นอัตราต่ำสุดกว่า 6 ปี สินค้าส่งออกสำคัญรายการสำคัญหดตัวสูงอย่างมาก โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลดลงถึงร้อยละ 32.8 ส่วนสินค้าสำคัญอันดับที่สอง คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงถึงร้อยละ 24.3 ซึ่งเมื่อพิจารณาตลาดส่งออกที่สำคัญ ลดลงต่อเนื่องทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดสหรัฐลดลงร้อยละ 19.3 สหภาพยุโรปลดลงร้อยละ 16.3 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 15.1 อาเซียน 5 ประเทศ ลดลงถึงร้อยละ 25.9

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลงอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นผลมาจากสภาวการณ์เศรษฐกิจในหลายภูมิภาคทั่วโลกที่อ่อนแอลง โดยถ้าพิจารณาจากตัวเลขเฉลี่ยในไตรมาสสุดท้ายของปี 251 พบว่า กลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เป็นกลุ่มที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเทคโนโลยี โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศที่มีการส่งออกลดลงรุนแรงที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน รองลงมาคือ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ไทย และญี่ปุ่น ขณะที่กลุ่มประเทศที่ค่อนข้างพึ่งพาสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น จีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ได้รับผลกระทบน้อยกว่า
 
นอกจากนี้ หากมองในแง่ที่ว่า การลดลงของการส่งออกของไทยส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานด้วยแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศที่มีโครงสร้างการส่งออกที่พึ่งพาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สูง ขณะที่โครงสร้างการส่งออกของไทยมีการกระจายตัวไปในกลุ่มสินค้าที่หลากหลายกว่า

ท่ามกลางแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะยังคงเผชิญภาวะถดถอยต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะยังคงหดตัวเฉลี่ยเป็นตัวเลข 2 หลัก อยู่ระหว่างร้อยละ 11 ถึงร้อยละ 14 และกว่าที่จะเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวในแดนบวกอีกครั้ง อาจเป็นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ถ้าเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวจากภาวะถดถอยได้ในช่วงครึ่งหลังของปี สำหรับภาพรวมในปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยอาจจะหดตัวอยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 3 ถึงร้อยละ 7
 
 ประเด็นที่ต้องติดตามคือ ผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงรุกที่หลายประเทศทั่วโลกผลักดันออกมาใช้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความคืบหน้าของมาตรการแก้ไขวิกฤติในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ ภายหลังจากประธานาธิบดีบารัค โอมาบา เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ

ขณะเดียวกัน ในด้านปัจจัยภายในประเทศ รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อกระตุ้นภาคการส่งออก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีแนวทางผลักดันการขยายตลาดสินค้า โดยมีมาตรการเร่งด่วน อาทิ มาตรการด้านตัวสินค้า มาตรการด้านราคา ต้นทุน และสภาพคล่อง มาตรการด้านการตลาด มาตรการด้านการสื่อสารและสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าไทยและมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ประสบปัญหา

ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ แต่หากหลายฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ก็คาดว่าจะมีส่วนช่วยขยายโอกาสการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยได้ ที่สำคัญคือ การเผยแพร่ข้อมูลความต้องการสินค้าในตลาดประเทศต่างๆ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศที่มีหน่วยงานตั้งอยู่ในต่างประเทศ จะเป็นหน้าต่างเปิดรับข้อมูลได้เป็นอย่างดี หากมีเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้มากขึ้น ก็จะเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดได้มาก

ท่ามการวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ เราคงต้องหวังพึ่งการบริโภคภายในประเทศเพื่อมาช่วยเยี่ยวยาเเละกระตุ้นให้เศรษฐกิจของไทยพลิกฟื้นได้อีกครั้ง แต่ต้องจับตาดูกันว่ามาตรการของรัฐบาลโอบามาร์คว่า จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงยาหอมที่ให้กลิ่นหอมเพียงไม่นานก็จางไป...
กำลังโหลดความคิดเห็น