xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ไทยปีนี้ยังประคองตัว ธุรกิจส่งออก-ท่องเที่ยวอ่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2551 ว่าโดยรวมแล้วยังคงเป็นการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนต่อเนื่องจากในเดือนก่อนหน้า และคาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาศ4 ของปี 2551 มีโอกาสสูงที่จะติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10ปี โดยปัจจัยในการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน 2551 มาจากทั้งทางด้านอุปทานและอุปสงค์ ที่ต่างส่งสัญญาณถึงความอ่อนแอต่อเนื่อง ซึ่งด้านอุปทานเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงทั้งในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยในด้านเกษตรกรรมยังคงโดนผลกระทบจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่มีการปรับชะลอลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3ติดต่อกัน ขณะที่ในด้านของภาคอุตสาหกรรม ผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับลดลงติดลบถึง -6.6% yoy นอกจากนั้นแล้วตัวเลขในด้านการท่องเที่ยวมีการชะลอตัวลงค่อนข้างที่จะรุนแรง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาทางด้านการเมืองในประเทศขณะที่ในด้านอุปสงค์ สัญญาณการชะลอตัวยังคงต่อเนื่องมาจากเดือนก่อนๆ ขณะที่ในด้านของดัชนีการบริโภคภาคเอกชนมีการปรับตัวลดลงถึง -1.6% yoy ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 18เดือน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนที่ลดลงต่อเนื่องตามความกังวลในภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับในภาคการลงทุนที่ชะลอตัวลง นอกจากนั้นในภาคการค้ากับต่างประเทศ สัญญาณการปรับชะลอลงอยู่ทั้งในภาคการส่งออกและการนำเข้า โดยเฉพาะในภาคการส่งออกที่มีการถดถอยลงอย่างชัดเจน มีการปรับตัวลดลงถึง -17.7% yoy มีมูลค่า 11,759 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลจากการชะลอตัวลงทั้งในด้านปริมาณและราคาในเกือบทุกหมวด ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับในภาคการนำเข้าที่มีการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง

ขณะที่ทางด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินโดยรวมแล้วในเดือนพฤศจิการยน 2551ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในด้านเสถียรภาพต่างประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ เงินสำรองระหว่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และยังเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3ติดต่อกัน แม้ว่าจะเริ่มมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งถ้านับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2551 ได้ขาดดุลไปแล้วกว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนั้นทางด้านหนี้ต่างประเทศโดยรวมในเดือนต.ค. 2551 มียอดคงค้าง 65.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯขณะที่ในด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่เริ่มมีปัจจัยเสี่ยงจากในด้านหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามนโยบายขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นของทางรัฐบาล โดยในด้านของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและพื้นฐาน มีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน เนื่องจากระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิการยน 2551ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.2% yoy ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็ชะลอตัวลงในทิศทางเดียวกันอยู่ที่ระดับ 2.0% yoy ส่วนยอดหนี้สาธารณะคงค้างในสิ้นเดือนต.ค. 2551 ปรับเพิ่มขึ้น 0.3พันล้านบาท ไปอยู่ที่ระดับ 3,409 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 36.9% ของ GDP ตามการเพิ่มขึ้นของหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้เป็นสถาบันการเงิน ทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ยังได้คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2551 ว่ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นจากตัวเลขในภาคของภาคการท่องเที่ยวและอัตราการใช้กำลังการผลิต ที่คาดว่าในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้าจะมีการชะลอตัวลงให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีก โดยยังคงให้น้ำหนักกับประเด็นในด้านของการชะลอตัวลงในด้านของภาคการท่องเที่ยว ที่มองว่ายังคงจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ แม้ว่าสถานการณ์ต่างๆจะเริ่มคลี่คลายลงแล้วก็ตาม และประกอบกับการประกาศเลิกจ้างคนงานในธุรกิจหลายๆชนิด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออก ซึ่งสังเกตได้จากตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนล่าสุดที่ปรับลดลงไปที่ระดับ 61.2 จาก
67.0 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งในเบื้องต้นประเมินว่าถ้าไม่มีมาตรการการเข้ามาช่วยเหลือจากทางรัฐบาล จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นทั้งสองประการ จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจและเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยในเดือนธันวาคม2551 ไปจนตลอดช่วงไตรมาส1ของปร2552 จะถูกคุกคามให้เป็นลบเพิ่มมากขึ้น โดยจะสะท้อนไปสู่ตัวเลขชี้วัดในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านของภาคอุปสงค์ในประเทศ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากแรงซื้อที่หดหายไป ทั้งจากเม็ดเงินในด้านของการท่องเที่ยวที่ลดลง และเม็ดเงินจากการที่คนงานถูกเลิกจ้างและต้องชะลอการใช้จ่ายในช่วงระหว่างที่หางานใหม่ ดังนั้นแล้ว ความหวังของเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่มาตรการที่รัฐบาลจะนำมาใช้ ว่าจะช่วยรับมือกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจได้ดีเพียงใด ท่ามกลางความผันผวนของทั้งภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก อย่างเช่นในขณะนี้

นอกจากนี้ยังได้ทำการปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Real GDP Growth) ปี 2551 และ 2552ลดลงไปอยู่ที่ระดับค่าเฉลี่ย 3.57% และ 0.50% เพื่อสะท้อนปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ ที่ได้ส่งผลกระทบกับภาพรวมของตลาดการค้าต่างประเทศให้มีการชะลอตัวลงให้เห็นชัดเจนมากขึ้นทำให้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงติดลบเป็นครั้งแรกได้ในรอบกว่า 10 ปี อยู่ที่ระดับ -1.0% yoy และนอกจากนั้นยังคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ให้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอีกด้วย โดยจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนถึงขั้นนำไปสู่การชุมนุมประท้วงปิดสนามบิน ได้ส่งผลให้สถาบันวิจัยนครหลวงได้ประเมินปัจจัยลบเข้าไปเพิ่มมากขึ้นกับภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะในภาพรวมการค้าต่างประเทศ ที่คาดว่าในด้านของดุลภาคการท่องเที่ยวและบริการในช่วง ไตรมาสที่4 ของปี 2551 ถึงปี 2552 จะมีการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้าภาคการส่งออกสินค้าโดยรวมก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกไปแล้ว ซึ่งนั่นเท่ากับว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการของไทยโดยรวมแล้วในปี 2552 มีโอกาสสูงที่จะมีการขยายตัวติดลบได้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2542
นอกจากนั้นแล้วยังคาดว่าแนวโน้มของภาคอุปสงค์ในประเทศเองก็ต้องได้รับการประเมินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลงไป อันเนื่องมาจากเม็ดเงินที่จะไหลเข้ามาหมุนเวียนในประเทศ จากภาคการท่องเที่ยวที่อาจจะมีการหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลไปถึงวงจรของการใช้จ่ายเงินในประเทศที่อาจจะมีเปลี่ยนแปลงลดลงอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจจะทำให้ส่งผลกระทบกับอัตราการขยายตัวของภาคอุปสงค์ในประเทศทั้งในด้านของการบริโภคและการลงทุนในช่วงปี 2552 ให้ชะลอตัวลงอีก และนั่นเท่ากับว่าจะเป็นการส่งผลทวีคูณให้เศรษฐกิจไทย อาจจะมีการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงก็เป็นได้ ซึ่งโดยรวมแล้วเท่ากับว่าปัจจัยหลักในการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะต้องไปพึ่งอยู่กับการใช้จ่ายของทางภาครัฐฯ ซึ่งในมุมมองของทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทยหากมีการตั้งงบประมาณกลางปีเพิ่มเติมขึ้นหรือบริหารจัดการงบประมาณให้มีประสิทธิภาพเพียงพอจะมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวเกินกรอบบนของการคาดการณ์ที่ 1.40% ได้

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีมุมมองต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้อว่าจะเกิดการชะลอตัวลงได้อย่างชัดเจน โดยประเมินอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2552 ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 0.0-1.0% ซึ่งการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 ยังคงมีปัจจัยที่จะต้องนำมาคำนึงหลายประการเพิ่มเติม โดยเฉพาะนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพของทางรัฐบาลที่จะครบอายุ 6 เดือนในช่วงต้นปี 2552 ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่สูงว่าจะมีการต่ออายุนโยบาย หรือยกเลิกเป็นบางข้อหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้การประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อของในปี 2552 ยังคงไม่มีความไม่แน่นอนอยู่สูง แต่อย่างไรก็ตามจากกระแสข่าวล่าสุดทางรัฐบาลชุดใหม่ของนายอภิสิทธิ์ จะมีการต่อมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพออกไปเป็นบางข้อ ซึ่งจากการประมาณการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 ใหม่ โดยใช้สมมุติฐานว่าทางรัฐบาลจะมีการยกเลิกนโยบายลดค่าครองชีพเฉพาะแค่ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง จากในเดือนก่อนหน้าที่ประมาณการณ์อยู่บนฐานของการยกเลิกนโยบายทั้งหมดซึ่งได้ทำให้ทิศทางอัตราเงินเฟ้อในช่วงถัดไปจะมีการปรับลดลงได้อีกจากประมาณการณ์ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งจากการประเมินล่าสุดส่งผลให้ SCRI คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 จะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.0-1.0% ปรับ ลดลงจากการประเมินในเดือนที่แล้วที่อยู่ที่ระดับ 1.5-3.0% และนอกจากนั้นแล้วยังคาดว่าจะเห็นอัตราเงินเฟ้อมีการชะลอตัวติดลบได้ในบางเดือน (Deflation) อีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2552 ที่คาดว่าระดับราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2551 จะมีส่วนต่างกันอย่างมาก โดย SCRI ใช้สมมุติฐานราคาน้ำมันใหม่อยู่ที่ระดับ 64.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จาก 86.0 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในเดือนที่แล้วชะลอจากค่าเฉลี่ยในปี 2551 กว่า 40%

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ยังได้ประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงปี 2552 ว่าจะยังคงมีทิศทางการปรับลดลงไปจนถึงช่วง ไตรมาสที่ 2ของปี ซึ่งคาดว่าระดับจุดต่ำสุดใหม่ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.0% ทั้งนี้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) จะยังคงตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินลง เพื่อช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจในประเทศไม่ให้เกิดการชะลอตัวลงรุนแรง ในเบื้องต้นประเมินว่าระดับของการปรับอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2552 ทางกนง. จะยังคงใช้ระดับอัตราเงินเฟ้อเป็นเกณฑ์หลักในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่กนง.จะทำการปรับลดลงอีกในช่วงปี 2552 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 175 bps ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ย นโยบายไปอยู่ที่ระดับ 1.0% ตามการคาดการณ์ระดับอัตราเงินเฟ้อในปี 2552 ของ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 0.0-1.0% ซึ่งประเมินว่าจะยังคงเป็นระดับที่เหมาะสม ที่จะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการกระตุ้นภาคอุปสงค์ในประเทศให้ขยายตัว และไม่ส่งผลลบกับภาคการออมมากนัก โดย

นอกจากนั้นแล้วยังมองว่าการใช้นโยบายการเงินอย่างรุนแรงเกินไปในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำก็อาจจะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้มากนัก เนื่องจากปัญหาอยู่ที่การขาดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจมากกว่าต้นทุนอัตราดอกเบี้ย และประกอบกับต้องคำนึงถึงต้นทุนของการดำเนินนโยบายด้วย นั่นก็คือ ผู้ฝากเงิน ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดต่ำมากเกินไปจนไม่คุ้มกับการออม อาจมีการโยกเงินฝากจากตลาดเงินไปตลาดทุนโดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้หรือลงทุนซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศที่ราคาตกต่ำมาก ดังนั้นหากไม่ระมัดระวังการใช้นโยบายดอกเบี้ยอาจเกิดปัญหาการออมตามมา ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นปัญหากับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาวของไทยอย่างมาก

โดยสรุปแล้วประเมินว่าทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี2552 จึงยังคงมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการปรับลดลงได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามคาดว่าทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงในช่วงปี 2552 ไม่น่าจะเป็นไปในอัตราเร่งอย่างเช่นในครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่าทิศทางของการปรับลดลงจะเข้าสู่ระดับปกติในระดับประมาณ 25-50 bps ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่จุดต่ำสุดในช่วง ไตรมาสที่ 3ถึงไตรมาส3ของปี2551 และหลังจากนั้นถึงจะเป็นการทรงตัวในระดับต่ำ อย่างน้อยไปจนถึงช่วงปลายปี 2552 และยังคาดการณ์ด้วยว่าแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมกราคม 2552 ยังคงคาดว่าจะเป็นการอ่อนค่าลงเล็กน้อยอยู่ในกรอบ 35.0-35.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากปัจจัยกดดันค่าเงินบาทภายในประเทศยังคงมีอยู่สูง โดยประเมินว่าทิศทางของค่าเงินบาทในเดือนมกราคม2552จะเป็นการแกว่งตัวในกรอบแคบๆระหว่าง 35.0-35.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อย ตามปัจจัยของภาวะเงินทุนที่ยังคงประเมินว่าจะยังคงมีการไหลออกอย่างต่อเนื่อง จากทิศทางของดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะยังคงเป็นการขาดดุลต่อเนื่องติดต่อกันหลายเดือน และประกอบกับคาดว่าทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเองที่จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักทั่วโลก หลังจากการเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของนายบารัก โอบามา ซึ่งคาดว่าจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลกลับไปที่ตลาดในสหรัฐฯ เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาตกลงมากแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น