xs
xsm
sm
md
lg

วางแผนการเงินในภาวะเศรษฐกิจผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัม คุยกับผู้จัดการกองทุน

วางแผนการเงินในภาวะเศรษฐกิจผันผวน

ธีรินทร์ สุวรรณเตมีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-ธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ. ทิสโก้

ในช่วงที่หลายท่านเริ่มชินกับข่าวร้ายทางเศรษฐกิจที่มีให้ฟังกันเป็นรายวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวจากยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ข่าวการลดกำลังการผลิต และการเลิกจ้างงานในประเทศไทย ฟังข่าวร้ายบ่อยๆก็อาจให้ความรู้สึกหมดหวัง ไม่เห็นอนาคตทางการลงทุน แถมผู้ฝากเงินก็เริ่มใจแป้วเมื่อเห็นนโยบายดอกเบี้ยใกล้ 0% ของอเมริกา และญี่ปุ่น แต่อย่าเพิ่งหมดหวังนะคะ ถ้าเรารู้จักวางแผนการลงทุน และการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็ย่อมมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมได้แม้ในภาวะความไม่แน่นอนอย่างในปัจจุบัน

อันดับแรก อย่าก่อหนี้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำ และข้อเสนอการกู้ยืมจะดูน่าสนใจเพียงไหน ถ้าการกู้ยืมนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต แต่เป็นการกู้ซื้อของที่ไม่จำเป็นในการดำรงชีวิต หรือการทำมาหากินแล้วละก็ ท่องไว้เลยว่า “ถ้าต้องกู้ ไม่ซื้อ” ส่วนกรณีการกู้ซื้อบ้านนั้นควรศึกษาเงื่อนไขของแต่ละธนาคารอย่างละเอียด พร้อมทั้งดูความเป็นไปได้ในการผ่อนชำระเพราะธนาคารมักเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่ใน 2-3 ปีแรก หลังจากนั้นจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่สูงขึ้น ดังนั้นก่อนคุณจะตัดสินใจกู้เงิน อย่าลืมพิจารณาปัจจัยเหล่านี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และลองเขียนตารางการผ่อนชำระอย่างเป็นรูปธรรม อย่าคิดในแง่ดีว่าในปีที่ดอกเบี้ยลอยตัวรายรับของเราจะเพิ่มขึ้นมาทันกัน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ที่แน่ๆดอกเบี้ยต้องจ่ายตามเงื่อนไขการกู้ยืม

กระจายการถือครองทรัพย์สิน แม้ไม่มีสูตรตายตัวว่าต้องถือทรัพย์สินประเภทไหนเท่าไหร่ เพราะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ปริมาณเงินออม และ เงื่อนไขการใช้จ่าย รวมทั้งอายุของแต่ละคน แต่ก็มีหลักง่ายๆว่าให้มีเงินสดสำรองเผื่อยามฉุกเฉินประมาณเท่ากับเงินที่จะพอใช้ได้ 6 เดือน ส่วนที่เหลือส่วนหนึ่งแบ่งลงทุนระยะสั้น (1-2 ปี) อีกส่วนหนึ่งแบ่งลงทุนระยะกลางถึงยาว (3 ปี ขึ้นไป) ทรัพย์สินที่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น ควรเป็นทรัพย์สินที่เราทราบหรืออย่างน้อยสามารถคาดการณ์ผลตอบแทน และระยะเวลาการรับผลตอบแทนนั้นได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ธนาคาร หุ้นกู้บริษัทเอกชน รวมถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารดังกล่าวข้างต้น ตราสารเหล่านี้จะมีกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ลงทุนตามระยะเวลาและอัตราที่กำหนดไว้ เช่นทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ดังนั้นผู้ลงทุนจึงสามารถวางแผนการเงินให้สอดคล้องกับการรับอัตราผลตอบแทนเหล่านั้นได้ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงเช่นในปัจจุบัน หากเลือกลงทุนในตราสารอายุ1-2 ปี ก็จะได้รับอัตราผลตอบแทนตามที่ตกลงในวันลงทุนไปตลอดระยะเวลา 2 ปี ในขณะที่หากเลือกลงทุนในตราสารที่มีอายุ 3-6 เดือน เมื่อตราสารครบอายุในอีก 3-6 เดือนข้างหน้าผู้ลงทุนก็มีความเสี่ยงที่ต้องลงทุนใหม่ในตราสารที่ให้ผลตอบแทนลดลงตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ย

ดังนั้นในทิศทางดอกเบี้ยขาลง หากไม่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนที่ลงทุนใน 1-2 ปี การลงทุน 1-2 ปีไปเลยก็จะสร้างผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยโดยรวมที่สูงกว่า การลงทุนสั้นๆ หลายครั้งต่อๆกัน ส่วนจะเลือกลงทุนในตราสารภาครัฐหรือภาคเอกชนก็ควรพิจารณาต่อไปว่าความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นคุ้มกับผลตอบแทนที่ได้รับหรือไม่ ปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะเวลาประมาณ 2 ปีลดลงมาเหลือ 1.9 % ในขณะที่หุ้นกู้ธนาคาร หรือ บริษัทเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A- ในระยะเวลา 2 ปีเท่ากันให้ผลตอบแทนประมาณ 3-3.25% คุ้มไหม? ก็ต้องวิเคราะห์งบการเงิน และการกำกับดูแลของผู้ออกตราสาร รวมทั้งภาพรวมอุตสาหกรรมนั้นๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า บริษัทจะยังอยู่รอดปลอดภัยเมื่อตราสารครบอายุ และเราจะได้รับเงินต้นพร้อมกับผลตอบแทนตามที่ตกลงคืนมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หากท่านเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนก็จะเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นให้แทน

สำหรับทรัพย์สินที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว ก็มักเป็นทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่อาจมีสภาพคล่องต่ำ เช่น อสังหาริมทรัพย์ จะซื้อ-ขายเปลี่ยนมือแต่ละครั้งมักใช้เวลาเป็นหลักเดือนขึ้นไป ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง หรือบางประเภทให้ผลตอบแทนสูง สภาพคล่องสูง และมีความผันผวนในระยะสั้นสูงเช่นกัน จึงควรลงทุนระยะยาวเพื่อจะได้รับผลกำไรจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของราคาในระยะสั้น ตัวอย่างเช่น หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ซื้อขายกันได้ทุกวันทำการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไม่สูง มีโอกาสทำกำไรมาก แบบที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวก็เคยเห็นกันมาแล้ว อย่างในช่วงปี 2003 แต่หากลงทุนในระยะสั้นราคาอาจแกว่งขึ้นลงได้วันละหลายเปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันราคาหุ้นที่ซื้อ-ขายกันในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีเสียอีก (P/B ~ 0.95 เท่า) ทั้งๆที่คาดการณ์เงินปันผลปีหน้า (Dividend Yield ) สูงกว่า 6% แปลว่าถ้าซื้อเก็บไว้เพื่อรับปันผลก็น่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 6% กว่าๆแล้ว ยังไม่นับกำไรที่จะได้รับจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าหุ้นในระยะยาว ดังนั้นหากลงทุนในหุ้นในช่วงเวลานี้ก็นับได้ว่าได้ของดีราคาถูก และมีโอกาสทำกำไรสูงยิ่งถ้าพร้อมจะลงทุนในระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง ตลาดหุ้นก็มักจะเป็นตลาดที่ทำกำไรได้ก่อนใคร

สำหรับท่านผู้ลงทุนที่สนใจวางแผนการลงทุนอย่างเป็นระบบ การลงทุนผ่านกองทุนรวมก็เป็นอีกทางเลือกที่สะดวก และใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก ทั้งยังมีหลากหลายนโยบายการลงทุนให้เลือกตามความต้องการของนักลงทุน ซึ่งท่านสามารถขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-633-7777 ทุกวันในเวลาทำการ
กำลังโหลดความคิดเห็น