xs
xsm
sm
md
lg

FIFหดฉุดวงเงินลุยนอกต.ค.ใช้แค่$323ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.เผยโควตาจัดสรรวงเงินลงทุนต่างประเทศ ประจำเดือนตุลาคม มีการอนุมัติจัดสรรเพียง 323 ล้านเหรียญสหรัฐ เหลือ 11,932 ล้านเหรียญ ลดลงจากช่วงเดือนกันยายนถึง 930 ล้านเหรียญ โดยมีเพียง 9 กองทุนจาก 5 บลจ.ที่ได้รับการอนุมัติ ระบุเป็นไปตามภาวะการณ์ลงทุน ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก จนทำให้การออกกองทุนเอฟไอเอฟใหม่หดตัว และนักลงทุนหันมาให้ความสนใจกับกองทุนตราสารหนี้ในประเทศมากขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้รายงานสรุปวงเงินลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ประจำเดือน ตุลาคม 2551 ว่า ณ วันที่31 ตุลาคมมีวงเงินดังกล่าวเหลืออยู่ 11,932,139,959.28 เหรียญสหรัฐ จากโควตาที่ก.ล.ต.ได้อนุมัติไว้ทั้งหมด 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2551 (มกราคม – กันยายน) มีการใช้โควตาวงเงินอนุญาตไปแล้วทั้งสิ้น 13,744,860,040.72 เหรียญสหรัฐสำหรับกองทุนที่จดทะเบียนแล้วจนถึงเดือนกันยายน ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีการใช้วงเงินเพียง 323 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
ทั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยจากรายงานฉบับเดียวกันเมื่อเดือนกันยายน ซึ่งรายงานยอดวงเงินคงเหลือทั้งสิ้น 11,551,139,959.28 เหรียญสหรัฐ โดยมีการอนุญาตให้นำไปลงทุนจำนวน 1,253 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับยอดวงเงินที่สำนักงานก.ล.ต.จัดสรรเพิ่มเติมและนำมาหักลบในโควตาวงเงิน ประจำเดือนตุลาคม ประกอบด้วย กองทุนรวมกรุงไทยตราสารต่างประเทศ6เดือน 19 ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)กรุงไทย จำกัด จำนวน 7,000,000 เหรียญสหรัฐ ,กองทุนเปิด เค พันธบัตรเกาหลี1ปี แซท ของบลจ.กสิกรไทย วงเงิน 48 ล้านเหรียญสหรัฐ ,กองทุนเปิดยูโอบี เอฟไอพลัส 6/1 จำนวน 29 ล้านเหรีญสหรัฐ

นอกจากนี้ยังมีกองทุนเปิดของบลจ.แอสเซทพลัสอีก 4 โครงการ ได้แก่กองทุนเปิดแอสเซทพลัสตราสารหนี้คืนกำไร1 วงเงิน3ล้านเหรีญสหรัฐ,กองทุนเปิดแอสเซทพลัสทวีเงินออม2 จำนวน20 ล้านเหรีญสหรัฐ ,กองทุนเปิดแอสเซทพลัสแอ็คทีฟพันธบัตร2 วงเงิน 47 ล้านเหรียญสหรัฐ และกองทุนเปิดแอสเซทพลัสแอ็คทีฟพันธบัตร3 วงเงิน 46,000,000 เหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกัน ยังหักลบจากกองทุนเปิดไอเอ็นจี ออลเอเชีย อีควิตี้ จำนวน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ซึ่งโครงการนี้มีวงเงินรวมกับสำนักงาน 20 ล้านเหรียญสหรัฐ) และกองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอ็มเอ็ม 6M2 วงเงิน 18 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมเป็นยอดวงเงินที่สำนักงานก.ล.ต.จัดสรรเพิ่มเติมทั้งสิ้น 224 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อนำมารวมกับวงเงินจองกรณีIPO ที่ยังไม่จดทะเบียนภายในเดือนตุลาคมอีก 99 ล้านเหรียญสหรัฐ จะพบว่าภายในเดือนตุลาคมนี้มีการใช้โควตาวงเงินไปเพียง 323 ล้านเหรียญตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

โดย สาเหตุที่ทำให้การจัดสรรวงเงินลงทุนต่างประเทศของก.ล.ต.ปรับตัวลดลงมาจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทำให้หลายๆ บลจ.ต่างชะลอการออกกองทุนเอฟไอเอฟออกไป โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับตราสารหนี้ ซึ่งคาดว่ายังไม่มี บลจ. ออกกองทุนประเภทดังกล่าวเพิ่มเติม หรือเป็นจำนวนมากในช่วงนี้

ทั้งนี้ ผลพวงจากวิกฤตการเงินดังกล่าวจะทำให้ในปี 2551 นี้ธุรกิจกองทุนรวมเติบโตจากปีที่ผ่านมาไม่มากนัก โดย บลจ.ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเสนอขายกองทุนรวมตราสารหนี้ในประเทศทดแทนกองทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำและให้ผลตอบแทนการลงทุนโดยเฉลี่ยสูงกว่าเงินฝากประจำจะเป็นทางเลือกสำคัญสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่นิยมความเสี่ยงจากตลาดหุ้น

ส่วนแนวโน้มของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ คาดว่าจะมีน้อยลงในไตรมาส 4 และต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์ในต่างประเทศจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่า บลจ.มีแนวโน้มที่จะเสนอขายหรือขยายกองทุนรวมในประเทศมากขึ้นเนื่องจากมีโอกาสในการเลือกลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีที่ราคาปรับตัวลงมามากในขณะนี้

เมื่อเร็วๆนี้ นางอลิศรา มหาสันทนะ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับการแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานเสวนา "การลงทุนในต่างประเทศ :หาโอกาสจากวิกฤต"ว่า ในปัจจุบันนักลงทุนไทยยังเหลือช่องทางที่จะเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้อีก 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจาก ธปท.ได้อนุมัติให้ก.ล.ต.จัดสรรเงินลงทุนในวงเงินที่ธปท.กำหนด จำนวน 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับผู้ลงทุนทั้งบุคคลทั่วไปและบุคคลสถาบัน โดยพบว่าที่ผ่านมานักลงทุนไทยที่ไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศใช้วงเงินไปแล้ว 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงมีโอกาสลงทุนอีก 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐที่เหลือ

ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในต่างประเทศจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนมากขึ้น เนื่องจากตลาดหุ้นทั่วโลกมีมูลค่าตลาดรวมถึง 33 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่มูลค่าตลาดรวมของไทยคิดเป็น 0.3% ของมูลค่าตลาดรวมโลกเท่านั้น ดังนั้น การลงทุนต่างประเทศจึงเป็นการกระจายความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน รวมถึงช่วยให้การไหลเข้าออกของเงินทุนมีความสมดุลมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยจะเป็นฝ่ายรับเงินลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า ดังนั้นเมื่อมีการไหลเข้าออกของเงินทุนก็จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนของไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา มีกองทุนต่างประเทศหลายกองทุนต้องยกเลิกการระดมทุน อาจจะมีวงเงินกลับมาบ้าง แต่ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขว่ามีวงเงินกลับมาเป็นจำนวนเท่าไหร่ เพราะทางก.ล.ต.เอง มีกำหนดระยะเวลาในการดึงเงินกลับคืนมา
"การลงทุนในต่างประเทศในช่วงนี้อาจจะชะลอตัวลงบ้าง เพราะปัจจุบันตลาดไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก ดังนั้น ความสนใจในการลงทุนจึงอาจจะไม่สูงเท่าอดีตที่ผ่านมา"นางอลิศรา กล่าว

ด้านนายศุภกร สุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด กล่าวว่า อยากให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงของค่าเงินสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ เพราะมีส่วนสำคัญต่อผลตอบแทนของกองทุน โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งหากจะลงทุนจริง แนะนำให้ป้องกันความเสี่ยงอย่างน้อย 65% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา เช่นการลงทุนในพันธบัตรของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งให้ผลตอบแทนประมาณ 6-7% แต่ปรากฏว่าค่าเงินของทั้งสองประเทศติดลบไปกว่า 30% แล้ว ดังนั้น ผลตอบแทนจึงไม่คุ้ม

โดยคนที่ต้องการลงทุนต่างประเทศ ต้องเข้าใจก่อนว่าจะไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด หรือลงทุนในประเทศใด ซึ่งข้อดีของการลงทุนต่างประเทศคือ มีทางเลือกการลงทุนที่มากกว่า เซกเตอร์การลงทุนที่มากกว่า และเมื่อรู้แล้วว่าจะลงทุนอะไร ก็ค่อยถามตัวเองว่าจะออกไปลงทุนตรงหรือจะลงทุนผ่านกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม อยากแนะนำว่าถ้าหากต้องการลงทุนทั่วโลก ให้ลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟจะเหมาะสมกว่า ส่วนนักลงทุนที่จะลงทุนในเอเชีย ก็น่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น