xs
xsm
sm
md
lg

คนหุ้นลุ้น“อภิสิทธ์”นั่งนายกฯ จับตาผลประชุมเฟด-โอเปก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน – นักลงทุนลุ้น “อภิสิทธ์” นั่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หวังช่วยฟื้นตลาดหุ้นไทย ด้านโบรกเกอร์ มั่นใจตลาดหุ้นไปต่อ ยกเว้นพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลกดดันตลาดหุ้นร่วงแน่ พร้อมแนะจับตาผลการประชุมเฟด-โอเปก ที่ประชุมภายในสัปดาห์นี้
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ และ 4 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมประกาศสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจและเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเป็นจำนวน ผลักดันดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 30 จุด หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 8% ปิดที่ 424.79 จุด
ขณะปัจจัยการเมืองเรื่องการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี วันนี้ (15 ธ.ค.) ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งมีผลกระทบต่อตลาดหุ้น หากนายอภิสิทธิ์ ได้รับคะแนนโหวตให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์จะส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเดินหน้าต่อไปได้ ตรงกันข้ามหากมีการพลิกขั่วทางการเมืองจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี จำกัด (มหาชน) หรือ KTBS กล่าวถึง แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ ว่า นักลงทุนจะต้องติดตามผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้รับการโหวตหรือไม่ หากนายอภิสิทธิได้เป็นนายกฯ ตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย
ขณะเดียวกัน ปัจจัยต่างประเทศยังคงมีผลต่อตลาดหุ้นไทย ทั้งเรื่องของการประชุมของธนคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ รวมถึงการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) ในวันที่ (17 ธ.ค.) ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตเพียงใด ภายหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกร่วงลงมาต่ำ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
“หุ้นที่น่าลงทุนจะเป็นกลุ่มพลังงาน เนื่องจากยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี อีกทั้งอาจจะได้รับข่าวดีหากโอเปคลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ซึ่งมองแนวรับอยู่ที่ 400-415 จุด และแนวต้านอยู่ที่ 436 จุด”
นางสาวจิตรา อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์หน้ายังคงมีปัจจัยทั้งจากการเมืองในประเทศและต่างประเทศ โดยนักลงทุนควรรอดูผลการประชุมสภาผู้แทนราษฏรในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แม้ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตลาดน่าน่าจะมีแรงเทขายรับข่าวออกมาจนดัชนีร่วงลงในที่สุด ดังนั้นนักลงทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ ทั้งนี้ประเมินแนวรับที่ 405 จุด และแนวต้านที่ 443 จุด
ขณะที่นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่สภาสูงของสหรัฐฯไม่อนุมัติแผนกอบกู้กลุ่มยานยนต์ ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยร่วงลง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดเอเชีย รวมถึงปัญหา การเมืองภายในประเทศที่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลาจนกว่าจะโหวตเสร็จสิ้น
“แนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ คาดว่าจะมีทิศทางที่ปรับตัวลง ตามปัจจัยด้านการเมืองในประเทศและดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งนักลงทุนควรรอดูบทสรุปของการเมืองว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยประเมินแนวรับที่ 432-440 จุด ส่วนแนวต้านที่ 410 จุด”
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะขึ้นอยู่กับผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญวันที่ 15 ธันวาคมนี้ หากเป็นไปตามที่ทุกฝ่ายคาดการณ์ไว้ คือ พรรคประชาธิปัตย์ครองเสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับการลงมติเลือกขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ดัชนีตลาดหุ้นอาจทะยานขึ้นตอบรับข่าวได้ประมาณ 15-50 จุด โดยมีแนวต้านที่ 450 จุด แต่หลังจากนั้นอาจมีแรงขายออกมาหลังเก็งกำไรมาก่อนหน้ากว่า 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม หากการเมืองพลิกผันไม่เป็นตามคาด คือ พรรคเพื่อไทยอาจมีเสียงข้างมาก และได้รับเลือกเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล ดัชนีตลาดหุ้นจะมีความเสี่ยงต่อการปรับลงแรงประมาณ 15-20 จุด โดยมีแนวรับที่ 400 จุด ทั้งนี้ในระหว่างสัปดาห์ กลยุทธ์ แนะนำหาจังหวะขาย ประเมินแนวรับ 400 จุด แนวต้าน 450 จุด
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะปรับตัวขึ้นได้ จากแรงซื้อเก็งกำไรระยะสั้นหลังผลการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งนักลงทุนคงจะติดตามการทยอยประกาศงบการเงินฉบับย่อของธนาคารพาณิชย์ (ธ.พ.1.1) ในช่วงปลายสัปดาห์
ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางชั้นนำ โดยเฉพาะเฟดในวันที่ 15-16 ธ.ค. การประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 17 ธ.ค. รวมทั้งการปรับตัวของตลาดหุ้นในภูมิภาค ตลอดจนการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ประเมินแนวรับไว้ที่ 393 และ 384 จุด ส่วนแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 433 และ 463 จุด ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น