xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.มองกนง.หั่นดอกเบี้ยแน่นอน เชื่อไม่กระทบอุตสาหกรรมกองทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วนา พูลผล
ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้จัดการกองทุน คาดประชุมกนง. 8 เม.ยนี้หั่นดอกเบี้ยอีก 0.25 - 0.5% ชี้ไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวม เหตุนักลงทุนยังคงต้องการลงทุนในตราสารหนี้อยู่ ขณะเดียวกัน ยังฝากรัฐบาลควรเลือกกำกับดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ยหรืออัตราแลกเปลี่ยนอย่างใดอย่างหนึ่ง

 นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยถึงเรื่องการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 8 เมษายนนี้ว่า คาดว่าในการประชุมครั้งนี้กนง.อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีกประมาณ 0.5% ตามที่มีการคาดการณ์กันไว้ ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของทั้งปีนั้น อาจจะมีการปรับลดลงอีกหรือไม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการไปนั้นว่าได้ผลเพียงใด ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรนั้นคงจะปรับลดลงตามอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนก็ยังคงให้ความสนใจลงทุนในตราสารหนี้อยู่

 เช่นเดียวกับ นายวรรธนะ วงศ์ศรีนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ฟิลลิป จำกัด บอกว่า ในการประชุม กนง. ครั้งนี้คาดว่า จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25 -0.5% แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกองทุนรวมและการลงทุนในตราสารหนี้แต่อย่างใด เพราะนักลงทุนยังคงต้องการลงทุนในตราสารหนี้อยู่

 ทั้งนี้ยังได้ฝากไปถึงรัฐบาลด้วยว่า อยากให้รัฐบาลกำกับดูแลในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยหรือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน  อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ควรที่จะควบคุมดูแลทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน เพราะจะเกิดความผันผวนและผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศและการลงทุน
วรรธนะ วงศ์ศรีนิล
สำหรับรายงานภาวะตลาดตราสารหนี้ ตลาดเงินตราต่างประเทศ ประจำวันที่ 23 – 27 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ในส่วนของภาวะตลาดตราสารหนี้ นั้นในสัปดาห์นี้ ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้โดยรวมเท่ากับ 2,225,687.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนซึ่งมีปริมาณเท่ากับ 1,926,632.73 ล้านบาท    หรือเพิ่มขึ้น 15.52% คิดเป็นปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย วันละ 445,137.49 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนที่มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 385,326.55 ล้านบาท โดยเป็น Outright Transactions เท่ากับ 311,923.83 ล้านบาท และเป็น Financing Transactions เท่ากับ 1,913,713.62 ล้านบาท โดยพันธบัตรรัฐบาลที่มีการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือ LB183B, LB11NA และ LB145B ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 0.20%, 0.18% และ 0.09% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมด ตามลำดับ

 ภาวะตลาดตราสารหนี้โดยรวมในสัปดาห์นี้ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่มีระยะสั้นและกลางมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ยกเว้นอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อายุ 4 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2 bps ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวนั้นมีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมากถึง 8-12 bps ทั้งนี้เป็นผลมาจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 19 ปี (LB283A) ในช่วงกลางสัปดาห์ ซึ่งผลการประมูลออกมาค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 4.6450 – 4.8500% และเฉลี่ยที่ 4.7578% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

 โดยรวมตลอดทั้งสัปดาห์อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้รุ่นอายุ 1-3 ปี ปรับลดลง 0-1 bps รุ่นอายุ 4 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 2 bps รุ่นอายุ 5-7 ปี ปรับลดลง   2-3 bps รุ่นอายุ 9 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 3 bps รุ่นอายุ 10-13 ปี ปรับลดลง 1-5 bps รุ่นอายุ 14-18 ปี ปรับลดลง 7-12 bps ผลจากความกังวลทางด้านปริมาณ Supply ของตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว น่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวยังสามารถที่จะปรับตัวลดลงได้อีกเล็กน้อย ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นที่มีอายุไม่เกิน 3 ปี น่าจะทรงตัวและเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ทั้งนี้เนื่องจากตลาดรองตราสารหนี้ได้ทำการรับรู้ และคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 8 เม.ย. 2552 นี้ ที่คาดว่าน่าจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1.00% จากเดิมที่ 1.50%
ด้านภาวะตลาดเงินตราต่างประเทศ เงินดอลลาร์สัปดาห์นี้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงจากการที่นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นและหันกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยทางการสหรัฐฯได้เปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการจัดการกับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในงบดุลของธนาคาร ซึ่งตลาดคาดว่าน่าจะส่งผลให้ธนาคารสามารถกลับมาปล่อยสินเชื่อได้ตามปกติ รวมไปถึงสัปดาห์ก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแผนที่จะเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวในตลาด ซึ่งนักลงทุนคาดว่าจะมีปริมาณเงินดอลลาร์ในระบบเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก และทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง จึงทำให้นักลงทุนมีการขายเงินดอลลาร์ออกมาก
 
รวมทั้งการที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวในตลาดสหรัฐฯลดลงอย่างมาก ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า  โดยมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)เข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวในตลาดเป็นมูลค่าถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะซื้อตราสารหนี้ประเภท mortgage-backed securities อีก 850,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลา 6 เดือนข้างหน้า  นอกจากนั้นเฟดยังวางแผนว่าจะเพิ่มวงเงินสำหรับเข้าซื้อตราสารประเภท mortgage-backed securities เป็น  1.15 ล้านล้านดอลลาร์ และนอกจากทางสหรัฐฯที่มีการประกาศเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวแล้ว ทางอังกฤษและญี่ปุ่นเองก็เตรียมเพิ่มสภาพคล่องให้แก่การปล่อยสินเชื่อภายในประเทศเช่นกัน โดยทางอังกฤษจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชนในตลาดเป็นมูลค่ารวมถึง 75,000 ล้านปอนด์ ในช่วงเวลา 3 เดือนข้างหน้า และรัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้าซื้อหุ้นกู้เอกชน และตราสารทุนในตลาดเช่นกัน

 ในขณะเดียวกันสัญญาณจากทางฟากยุโรปเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปนายฌองคล็อด ทริเชต์ ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของยุโรปว่ายังมีโอกาสปรับลดลงจากระดับ 1.50% แต่ไม่คิดว่านโยบายดอกเบี้ย 0% จะเป็นระดับที่เหมาะสม โดยมองว่ายุโรปยังไม่ได้ดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณในรูปแบบอื่นเลยนอกเหนือจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ยุโรปยังมีโอกาสในการใช้มาตรการอื่นในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจนอกจากมาตรการดอกเบี้ย

 อย่างไรก็ตามข่าวของทางการจีน ได้เสนอแนวคิดให้ธนาคารกลางทั่วโลกน่าจะพิจารณานำ SDR ซึ่งเป็นหน่วยเงินของ IMF ที่เกิดจากการถัวเฉลี่ยค่าเงินดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และ เยนมาใช้เป็นเงินทุนสำรองหลักแทนที่เงินดอลลาร์ และรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นายทิโมธี ไกเนอร์ ออกมากล่าวแสดงความเห็นค่อนข้างเปิดกว้างต่อแนวคิดดังกล่าวในฐานะของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลัก อย่างไรก็ตามแนวคิดดังกล่าวได้รับการโต้แย้งจากทั้ง IMF และ ทางการสหรัฐฯเอง
 
กำลังโหลดความคิดเห็น