xs
xsm
sm
md
lg

กรณ์จูงธปท.ขับเคลื่อน ศก.เลื่อนบาเซิ่ล 2-ไม่ลดภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"กรณ์" ประกาศใช้นโยบายการเงินควบคู่การคลัง ถก ธปท.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเดิมขจัดอุปสรรคปล่อยสินเชื่อ เลื่อนบังคับแบงก์พาณิชย์ใช้บาเซิ่ลทู ฟื้นซอฟต์โลน ธปท.และเขย่าบอร์ดใหม่ ลั่นไม่ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนนิติบุคลขอคำนวณผลดีผลเสียก่อน พร้อมเรียกผู้บริหารจากกระทรวงการคลัง สำนักงบและสภาพัฒน์ถกนโยบายเศรษฐกิจ

นายกรณ์ จาติกวณิช ว่าที่ รมว.คลัง ประกาศเดินหน้านโยบายด้านการเงินและการคลังที่ใช้ควบคู่กันไปในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ โดยนโยบายการเงินจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกอบด้วยการชะลอใช้กฎระเบียบภายใต้บาเซิ่ลทูในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2552 เนื่องจากเห็นว่าเห็นว่าไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจปัจจุบัน เพราะจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น 10% การชะลอออกไปจะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีเงินทุนปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งข้อจำกัดภายใต้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับใหม่ ในการให้สินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน (ซอฟต์โลน) จะต้องพิจารณาบทบาท ธปท.
"อยากให้พิจารณาถึงปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ จะเข้ามาดู เช่น บาเซิ่ลทูเป็นกฎระเบียบที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วโลกใช้ แต่จะทำให้เงินทุนที่ธนาคารพาณิชย์จะใช้ปล่อยกู้มีภาระเพิ่มขึ้น 10% หากจะชะลอออกไปก่อนก็อาจมีเหตุผลในเชิงบวกต่อสภาพคล่องในระบบ และความสามารถการเข้าถึงสภาพคล่อง ซึ่งจะหารือกับ ธปท.ด้วย" นายกรณ์กล่าวและพูดถึงนโยบายดอกเบี้ย เห็นว่าหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดดอกเบี้ยลง 1% มีการประเมินสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หลังความกังวลต่อเงินเฟ้อลดลงไปมาก และ ธปท.ให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มองว่าเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในช่วงขาลง
นายกรณ์กล่าวด้วยว่า ยังมีเรื่องการแต่งตั้งกรรมการ ธปท.ชุดใหม่ ซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อร่วมสรรหาบุคคลที่เหมาะสม ส่วนคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คงไม่มีการรื้อใหม่ เนื่องจากกระบวนการแต่งตั้งไม่ได้มีปัญหาและไม่มีผู้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตรวจสอบเหมือนกรณีบอร์ด ธปท.

***ห่วงงบกลางปีไม่ถึงแสนล้าน
สำหรับนโยบายการคลัง กระทรวงการคลังต้องเร่งเดินหน้าจัดทำงบประมาณกลางปี 2552 เพิ่มเติม ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ ส่วนจะเพิ่มวงเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาทหรือไม่คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยยอมรับว่ามีข้อจำกัดที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากรายรับของรัฐบาลปีงบประมาณ 52 อาจจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งไม่รวม รายได้รัฐวิสาหกิจที่นำส่งคลัง อาจลดลงจากผลกำไรที่ลดลง
ทั้งนี้ กรอบการใช้งบกลางปีจะนำมาใช้ทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ กระตุ้นการบริโภค เป็นการลดรายจ่าย ลดต้นทุนผู้ประกอบการ ส่วนปัญหาแรงงานก็ต้องมีการจัดสรรงบประมาณตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือ รองรับผู้ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานนอกระบบที่ไม่มีสวัสดิการอื่นดูแล

***ยังไม่แตะภาษี-ชี้ลดแวตไม่คุ้ม
นายกรณ์กล่าวถึงข้อเสนอการปรับลดภาษีว่า ปัจจุบันปัญหาเศรษฐกิจเปลี่ยนไป ขณะนี้ภาคธุรกิจห่วงเรื่องความอยู่รอด ไม่ได้เป็นห่วงว่า เมื่อมีกำไรมาแล้วจะต้องเสียภาษีเท่าใด ดังนั้น การสูญเสียงบประมาณจากการลดภาษีนิติบุคคลกับการนำเงินในส่วนนี้ มาช่วยเหลืออุ้มชูให้ภาคการผลิตเดินต่อไปได้ ต้องชั่งน้ำหนักว่าอย่างใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน ส่วนข้อเสนอของการปรับลดแวตลงอีก 3% ตนยอมรับว่า สำหรับเมืองไทย แวตมีความสำคัญ เพราะเป็นที่มาสำคัญรายได้หลักของรัฐบาล แต่มีตัวอย่างจากประเทศอังกฤษที่ได้ปรับลดไปแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลชัดเจนว่า เป็นบวกต่อเศรษฐกิจ
"การปรับลดลงมาทุก 1 เปอร์เซ็นต์ จะมีมูลค่าประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท จึงต้องประเมิน ให้ดี คุ้มค่าหรือไม่ จากเดิมมีการเก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อมาประสบวิกฤติเศรษฐกิจ จึงปรับลดลง 7 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่ได้ปรับขึ้นไปอยู่ในระดับเดิม สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก คือ การกระตุ้นบริโภคด้วยการลดแวต จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ หรือไม่ ผู้เสียแวต ณ ปัจจุบัน คือใคร ถ้าลดแล้วใครได้ประโยชน์ และที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อปรับลดแวตราคาสินค้าจะลดลงตามจริงหรือไม่ เพราะแวตในภาคธุรกิจ ไม่ได้เกี่ยวราคาสินค้าผู้บริโภคโดยตรง จึงเกรงว่าเมื่อลดลงไปแล้วประชาชนผู้บริโภคจะไม่ได้รับประโยชน์จริงๆ" นายกรณ์อธิบาย
วันเดียวกัน ว่าที่ รมว.คลังได้เชิญผู้บริหารจากหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ เช่น นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง นายอำพล กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และนายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เพื่อหารือนโยบายเศรษฐกิจ โดยเบื้องต้นได้ประชุมข้อมูลในการจัดทำร่างนโยบายบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล

***ธปท.คึกเก็บข้อมูลประชุม กนง.
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเศรษฐกิจด้านต่างๆ มาประเมินอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2552 ใหม่ เพื่อให้สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด ซึ่งในขณะนี้ปัจจัยการเมืองภายในประเทศเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น จึงเชื่อว่าจะช่วยดึงบรรยากาศการลงทุนและความเชื่อมั่นให้ดีขึ้น
”ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้ว่าควรอยู่ที่ระดับใด แต่เชื่อว่าผลจะออกมาทันการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไป คือ วันที่ 14 ม.ค.2552 ยอมรับว่าขณะนี้ในหลายสำนักต่างคาดการณ์ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในปีหน้าไปในทิศทางเดียวกันว่าจะชะลอตัวที่ระดับ 0-2% ซึ่งหากบรรยากาศต่างๆ มันแย่ก็มีโอกาสที่จีดีพีจะอยู่ในระดับนี้ได้ แต่ในมุมมองของ ธปท.เองก็ต้องรอการสรุปตัวเลขที่แน่ชัดอีกครั้ง” นางอมรากล่าวและว่า หาก รมว.คลัง ตีกลับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท.คงพิจารณาความเหมาะสมต่างๆ จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก เพราะกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ธปท.เสนอไปให้กระทรวงการคลังแล้วนั้น มีที่มาที่ไป มีการประเมินจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เช่น ปัจจัยด้านเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้า ที่มีแนวโน้มที่จะต่ำลงในปีหน้า
ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ ธปท.จะพิจารณาให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ด้วย โดยกำหนดใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ จากก่อนหน้านี้ ธปท.เคยมีแนวคิดที่จะนำกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มาใช้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น