xs
xsm
sm
md
lg

ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสแตะ1%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด หรือ เอวายเอฟ ได้จัดทำรายงานภาวะตลาดประจำสัปดาห์ (12 - 16 มกราคม 2552) ที่กล่าวถึงภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของโลก ไว้อย่างน่าสนใจ ซึ่งน่าจะสามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้เป็นอย่างดี เพราะช่วงนี้วิกฤตเศรษฐกิจสร้างความปั่นปั่วนให้กับนานาประเทศเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นการบ้านสำคัญที่นักลงทุนทุกคนต้องทำ เพื่อฟันฝ่าให้การลงทุนของตนประสบความสำเร็จ

สหรัฐอเมริกา: กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า สหรัฐฯขาดดุลการค้า 4.04 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ลดลงเกือบร้อยละ 29.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2546 ทั้งนี้การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน ลดลงมากเป็นประวัติการณ์ถึงร้อยละ 12.0 สู่ระดับ 1.832 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่การส่งออกลดลงร้อยละ 5.8 ในเดือนเดียวกัน สู่ระดับ 1.428 แสนล้านดอลลาร์ สำหรับการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ลดลง 524,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ที่ 550,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 7.2

ยุโรป: ธนาคารกลางยุโรปมีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.0 โดยธนาคารกลางได้ส่งสัญญาณว่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในเดือนกุมภาพันธ์เพื่อรอดูข้อมูลใหม่ สำหรับดุลการค้าของยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายนขาดดุล 7 พันล้านยูโร (ประมาณ 9.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับเศรษฐกิจของเยอรมนี ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าการขยายตัวลดลงสู่ร้อยละ 1.3 ในปี 2551 ซึ่งตกต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี

อังกฤษ: สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า อังกฤษขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 8.330 พันล้านปอนด์ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นการขาดดุลการค้าที่มากที่สุดตั้งแต่ปี 2240 และมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ที่ -7.5 พันล้านปอนด์ รัฐบาลอังกฤษเตรียมใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น 500 ล้านปอนด์ (760 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการเพิ่มการจ้างงาน หลังจากที่จำนวนคนว่างงานในอังกฤษที่เพิ่มขึ้นสู่ 1.864 ล้านคนในช่วง 3 เดือนสิ้นสุดเดือนตุลาคม

ญี่ปุ่น: คำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นลดลงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 16.2 ในเดือนพฤศจิกายน สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ แสดงถึงการลงทุนด้านทุนที่ประสบภาวะชะงักงัน

จีน: ดุลการค้าระหว่างประเทศของจีนเกินดุลลดลงสู่ 38.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนธันวาคม จาก 40.1 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน รวมการเกินดุลการค้าทั้งปี 2551 สูงถึง 295.46 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 262.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2550 โดยการส่งออกในเดือนธันวาคม ลดลงร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ในขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 21.3

ไทย: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เชื่อมั่นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2552 ขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 2.0 ในด้านนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.75 สู่ร้อยละ 2.00 หลังจากปรับลดลงร้อยละ 1.0 ในเดือนธันวาคม เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังมีความเสี่ยง โดย ธปท. คาดว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ 1 ล้านคน อย่างไรก็ดี การที่ไทยมีรัฐบาลใหม่ได้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2551 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 โดยอยู่ที่ 67.5 จาก 67.1 ในเดือนก่อนหน้า

ตลาดตราสารหนี้ การที่ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.75 ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่าที่ตลาดคาด อาจเป็นการส่งสัญญาณว่ามุมมองด้านพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ดีนัก โดยการลดอัตราดอกเบี้ยได้ส่งผลดีต่อพันธบัตรที่มีอายุสั้น (ไม่เกิน 3 ปี) แถลงข่าวของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า การส่งออกหดตัวลงและการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไป

ทั้งนี้ เอวายเอฟคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงสู่ร้อยละ 1.0 - 1.5 ภายในปี 2552 นี้ กลยุทธ์ของกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุกในช่วงนี้คือ ให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารอายุ 2 - 3 ปี และขายทำกำไรจากตราสารที่มีอายุยาว

ตลาดตราสารทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของตลาดต่างประเทศ หลังจากที่สหรัฐฯรายงานอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 7.2 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2536 ในขณะที่ ความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขผลประกอบการของสถาบันการเงินสหรัฐฯและตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯที่อ่อนแอต่างส่งผลให้ตลาดปรับตัวลดลง สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 67.1 สู่ระดับ 67.5 ในขณะที่ กนง. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.75 สู่ร้อยละ 2.0

ที่มา: บลจ.อยุธยา จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น