xs
xsm
sm
md
lg

9เดือนแรกศก.ไทยยังดี วิกฤตรอบนี้ทำนักเก็งกำไรขยาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก อีกทั้งเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะใช้เวลาไม่ถึง 3 ปีในการฟื้นตัว เพราะมีความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจเข้ามาช่วยกู้วิกฤติการเงิน รวมทั้งกฎหมายต่าง ๆ ของสหรัฐฯจะมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และผลจากวิกฤติการเงินครั้งนี้จะทำให้การเข้ามาเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นทั่วโลกลดลง”

ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำรายงานสรุปเศรษฐกิจไทยใน 9 เดือนแรกปี2551 และแนวโน้มไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 9 เดือนแรกปี 2551 ยังมีการขยายตัวในระดับน่าพอใจประมาณ 5.0-5.3% ถึงแม้ปัจจัยภายนอกจะไม่เอื้ออำนวยมากนัก จากปัญหาวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ซึ่งเศรษฐกิจไทยได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวสูงถึง 25% และรายได้ภาคเกษตรซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 57%

นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ช่วยให้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวต่อเนื่อง และช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศให้ผ่อนคลายลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 2551 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ลดลงชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. ที่สูงถึง 9.2% แต่โดยเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 6.3%

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ตามที่ World Bank ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 เหลือประมาณ 1% และ IMF ได้ปรับลดการประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 เหลือ 2.2% และเป็นที่น่าสังเกตว่าเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ล้วนประสบปัญหาหดตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อินเดีย และคู่ค้าอื่น ๆ ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2552 ดังจะส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการจ้างงานของไทยในปี 2552 ชะลอตัวลง

สำหรับเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ ได้แก่ 1.ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน 9 เดือนของปี 2551 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.6% โดยในเดือน ก.ย. 2551 การบริโภคภาคเอกชนกระเตื้องขึ้นจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

2.ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ใน 9 เดือนแรกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 4.7% เป็นที่น่าสังเกตว่าเครื่องชี้การลงทุนหลายตัวยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยอดขายปูนซีเมนต์หดตัว 9.2% ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัว 8.6% พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างหดตัว 4.5% และการได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลง 50% เป็นต้น

3.ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังผลิตของอุตสาหกรรม มีแนวโน้มลดลง ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 7.7% ลดลงจากครึ่งแรกที่เพิ่มขึ้น 11.4% และอัตราการใช้กำลังผลิตในเดือน ก.ย. 2551 ลดลงเหลือ 68.2% เทียบกับเมื่อเดือน มี.ค. 2551มีการใช้กำลังผลิตสูงถึง 78.0% เป็นต้น

4.เสถียรภาพต่างประเทศใน 9 เดือนแรกปี 2551 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยสังเกตมูลค่าการส่งออกใน 9 เดือนแรก ปี 2551 สูงถึง 134.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น25.0% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ คิดเป็นสัดส่วน 10.3% ของมูลค่าส่งออก รถยนต์และส่วนประกอบสัดส่วน 8.0% ส่วนสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงมาก ได้แก่ ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง โดยสินค้าทั้ง 3 ชนิดมีสัดส่วนคิดเป็น 10.4% ของมูลค่าส่งออกรวม

ขณะเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าใน 9 เดือนแรก ปี 2551 สูงขึ้นเป็น 135.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 34.5% สินค้านำเข้าที่มีอัตราขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำมันดิบ และมีสัดส่วน 17.4% ของมูลค่านำเข้ารวม เหล็กและเหล็กกล้า สัดส่วน 7.7% เคมีภัณฑ์ สัดส่วน 7.4% เครื่องเพชรพลอยและทองคำ สัดส่วน 4.6% ของมูลค่านำเข้ารวม รวมถึงดุลการค้าใน 9 เดือนแรกปี 2551 ขาดดุล 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกับดุลบัญชีเดินสะพัดใน 9 เดือนแรกปี 2551 ขาดดุล 788 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยว และมีการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วง 8 เดือนแรก ปี 2551 เกินดุล 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินทุนเคลื่อนย้ายภาคเอกชนเกินดุลสุทธิ 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จำแนกเป็นการเกินดุลของภาคธนาคาร 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคเอกชนที่มิใช่ธนาคารเกินดุลสุทธิ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังมีรายการที่เกินดุลที่สำคัญ ได้แก่ การไหลเข้าของการลงทุนโดยตรง 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสินเชื่อการค้าเพิ่มขึ้น 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนรายการที่ส่งผลให้ขาดดุล ได้แก่ การชำระคืนหนี้ต่างประเทศ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์รวม 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินทุนสำรองทางการ เมื่อสิ้น ต.ค. 2551 อยู่ที่ 103.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. เสถียรภาพในประเทศใน 10 เดือนแรกปี 2551 พบว่าเงินเฟ้อทั่วไป ช่วง 10 เดือนแรกของปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6.3% โดยเดือน ต.ค. 2551 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน ช่วง 10 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.4% และในเดือน ต.ค. 2551 ก็เพิ่มในระดับ 2.4% อีกทั้ง ดัชนีราคาผู้ผลิต ช่วง 10 เดือนแรกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 15.0% ในเดือน ต.ค. 2551 เพิ่มขึ้นเพียง 8.5% นับเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ดัชนีผู้ผลิตเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 10%

ทั้งนี้ ปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่มีทีท่าจะบรรเทาลง ประกอบกับวิกฤติการเงินโลกที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีต่อเนื่องไปถึงปี 2552 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญรวมทั้งสถาบันการเงินหลายแห่งเสนอแนะให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ลงราว 0.50% (ปัจจุบันอยู่ที่ 3.75%) ในรอบการประชุม กนง. ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงขาลง

ด้าน พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2552 คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวลดลง โดยจะเติบโตไม่ถึงร้อยละ 4 เนื่องจากการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจมีอัตราการขยายตัวลดลง โดยคาดว่าจะเติบโตไม่ถึงร้อยละ 10 เพราะตลาดส่งออกหลักสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ชะลอการเติบโต แต่ยังหวังว่ารัฐบาลจะมีการหาตลาดใหม่มารองรับ และคาดว่าบางอุตสาหกรรมน่าจะมีการส่งออกอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งคงจะช่วยหนุนภาคการส่งออกได้บ้าง

นอกจากนี้ เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวเกาะกลุ่มสกุลเงินภูมิภาค เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นคู่แข่งสำคัญ และอัตราแลกเปลี่ยนก็มีผลอย่างมากต่อการส่งออกของไทย ส่วนการประชุมกนง. วันที่ 3 ธันวาคมนี้ เชื่อว่า ธปท.คงจะมีการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก ซึ่งขณะนี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง และหลายประเทศตัดสินใจลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลดดอกเบี้ยก็ช่วยลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก อีกทั้งเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะใช้เวลาไม่ถึง 3 ปีในการฟื้นตัว เพราะมีความร่วมมือกับประเทศมหาอำนาจเข้ามาช่วยกู้วิกฤติการเงิน รวมทั้งกฎหมายต่าง ๆ ของสหรัฐฯจะมีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และผลจากวิกฤติการเงินครั้งนี้จะทำให้การเข้ามาเก็งกำไรในตลาดน้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดหุ้นทั่วโลกลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น