วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ย่างเข้าสู่ในปีใหม่นี้ กำลังเป็นที่รอกันอยู่ว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อใด ขณะเดียวกันการลงทุนก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความกลัวจากวิกฤตที่เกิดขึ้นอยู่ จึงไม่กล้าที่จะลงทุนมากนัก โดยส่วนใหญ่ก็พากันไปลงทุนในตราสารหนี้ที่กองทุนรวมต่างเปิดขายหน่วยลงทุนกันเพื่อเป็นการพักเงินและหนี้ความเสี่ยงจากการลงทุนในแหล่งอื่น เช่นการลงทุนในหุ้น ส่วนปัญหาเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ก็กำลังมีการแก้ปัญหากันอยู่ ซึ่ง สหรัฐฯต้นตอของปัญหาในครั้งนี้ก็กำลังดำเนินการกันอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของประเทศตนเอง วันนี้มีมุมมองที่น่าสนใจจากผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับเรื่องนี้มามาให้ฟังกัน
ตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาต จำกัด เปิดเผยว่า บอกว่า เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ หลังจากที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปีที่ผ่านมาในช่วงประมาณ ไตรมาสที่ 3 และ 4 นั้นเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 นี้น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น แต่ยังไม่น่าที่จะกลับมาเติบโตได้ในระดับที่สูงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐจะกลับมาเติบโตในระดับสูงอีกครั้ง
ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจจากการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนี้ คืออย่างที่ทราบกันว่าประเทศสหรัฐฯและทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบกันไปทั่วทั้งโลก แต่ ในส่วนของประเทศในสหภาพยุโรปนั้นดูเหมือนว่าจะได้รับผลกระทบที่มากกว่าและถดถอยไม่แพ้สหรัฐเลยทีเดียว ตระกูลจิตร บอกว่า เป็นเพราะประเทศต่างๆในยุโรปนั้น ได้รับปัญหาทางเศรษฐกิจในระดับที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันการที่ยุโรปจะกำหนดนโยบายในเรื่องใดนั้นจะต้องเห็นพ้องกันหมด ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะลงมติในเรื่องใดซักเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การลดดอกเบี้ย ทำให้เกิดความล่าช้ากว่าทางด้านของประเทศสหรัฐอเมริกา และเมื่อเกิดผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้แล้วประเทศบางประเทศนั้นได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมาประเทศในยุโรปได้มีปัญหาในเรื่องของค่าเงินยูโรที่แข็งค่ามากกว่าในหลายประเทศ
ขณะที่ในส่วนของภูมิภาคเอเชียนั้นก็ได้รับกระทบเช่นเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีการพึ่งพาการส่งออกไปทีประเทศสหรัฐและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐและยุโรปประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและลดการนำจากต่างประเทศประเทศเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาคการส่งออกโดยรวมทั้งหมดได้รับกระทบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ เพราะต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยอย่างเช่น ญี่ปุ่น ได้ระงับการผลิตลงเนื่องจากสินค้ายังขายออกสู่ตลาดได้ไม่หมด ส่วนประเทศจีนนั้นแม้ว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากที่สุดในโลกแล้ว แต่ยังได้รับผลกระทบในเรื่องของการส่งออกเช่นเดียวกัน ซึ่งจีนนั้นอัตราการบริโภคภายในประเทศลดลงเพราะคนที่รวยจากการลงทุนส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุนจึงไม่กล้าที่จะใช้จ่าย
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะผลพวงมากจากที่เศรษฐกิจของสหรัฐเจ้าตำรับแห่งโลกทุนนิยม พากันก้มหน้าก้มตามุ่งแต่ลงทุนกันอย่างไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นตามมา รวมถึงการลงทุนที่ไม่ได้มีการวางระเบียบ "เชื่อว่าต่อจากนี้ไปสหรัฐคงต้องวางระเบียบในเรื่องของการลงทุนขึ้นมาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนอย่างที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินในครั้งนี้ โดยที่รัฐบาลของนายโอบามานั้นมีแผนที่จะดำเนินการในเรื่องของการลงทุนในพลังงานทดแทนเช่น พลังงาน แสงอาทิตย์ และพลังงานทดแทนอื่นๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และเป็นการพาพลังงานทดแทนใหม่ขึ้นมาใช้ในอนาคต" ตระกูลจิตร กล่าว
โดยในเรื่องของพลังงานนี้มีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า ในช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตสถาบันการเงินขึ้นมานั้น พลังงานโดยเฉพาะราคานํ้ามันมีการเก็งกำไรกันอย่างมากจนส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆทั่วโลก เกิดการชะลอตังลงจากราคานั้ามันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตระกูลจิตร บอกว่าจากราคานํ้ามันที่ปรับตัวลดลงอย่างมากในขณะนี้น่าที่จะเข้าไปลงทุน โดยมองว่าในอีกประมาณ 6 เดือนข้างหน้าพร้อมๆกับเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นมา
ขณะเดียวกันในส่วนของเศรษฐกิจประเทศไทยนั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน มองว่า รัฐบาลควรที่จะเข้าไปดูแลในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่งผลถึงในเรื่องการรองรับปัญหาจากการว่างงานที่จะเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการดูแลในเรื่องของราคาสินค้าเกษตรที่ตกตํ่า เช่น ยางพารา ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นนั้นมองว่า ในปีนี้ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความผันผวนผวนอยู่ นักลงทุนควรเลือกลงทุนเป็นหุ้นรายตัว ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาดีขึ้นเพราะนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ตลาดหุ้นขานรับแล้ว นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบาย (กนง.) ที่จะถึงนี้ด้วยว่า คาดว่าในที่ประชุม กนง. น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกประมาณ 0.5% - 0.75% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก
ด้านสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) เปิดเผยรายงานว่า สถานการณ์การจ้างงานของสหรัฐฯ ว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non farm payroll) ของสหรัฐฯประจำเดือนธ.ค. 2551 ปรับลดลงต่อเนื่องอีก 524,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานในเดือนธ.ค. 2551 ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.2% ซึ่งถือได้ว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี โดยนอกจากนั้นแล้วในภาพรวมของตัวเลขการจ้างงานในตลอดปี 2551 ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯโดยรวมมีอยู่ทั้งสิ้น 2.6 ล้านตำแหน่ง มากที่สุดในรอบ 63 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2488 โดยตัวเลขจ้างงานในสหรัฐทรุดตัวลงมีปัจจัยมาจากทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ โดยในภาคอุตสาหกรรมลดการจ้างงานลง 791,000 ตำแหน่ง ขณะที่การจ้างงานในภาคการก่อสร้างลดลง101,000 ตำแหน่ง ภาคบริการ 81,000 ตำแหน่ง ภาคค้าปลีก 67,000 ตำแหน่ง และค้าส่ง 30,000 ตำแหน่ง
ทั้งนี้ ประเมินว่าภาพการจ้างงานโดยรวมของสหรัฐฯในปี 2552 ยังคงจะมีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าขนาดของความรุนแรงจะค่อยๆชะลอตัวลง โดยเฉพาะหลังจากช่วง H2/52 เป็นต้นไป โดยจากการที่ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯในช่วงปี 2551 ถือได้ว่ามีทิศทางเป็นลบอย่างต่อเนื่องโดยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนหลังที่ผ่านมาภาคการจ้างงานได้มีการปรับตัวลดลงในอัตราเร่งอย่างชัดเจนโดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวลดลงไปถึง 1.9 ล้านตำแหน่ง เมื่อเทียบกับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2551 ที่ปรับลดไปเพียงแค่ระดับ5 แสนตำแหน่ง ซึ่งบ่งบอกได้ว่าปัญหาของภาคการจ้างงานได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีอย่างมาก
ดังนั้นแล้วในมุมมองของทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทย คาดว่าทิศทางการปรับลดการจ้างงานน่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2552 จากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงมีความผันผวนสูงประกอบกับยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของคณะทำงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยบวกที่รออยู่บ้าง จากการที่นายบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ได้พยายามที่จะเข้ามาวางนโยบายในด้านการการกระตุ้นภาคการจ้างงานเป็นส่วนแรกของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าการปรับลดการจ้างงานลงถือเป็นต้นตอของปัญหา ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นวงกว้างไปสู่ภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจ ให้ชะลอตัวลงเกินกว่าที่คาดก็เป็นได้
โดยรวมแล้วคาดว่าจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่คาดว่าจะตามออกมาอย่างต่อเนื่อง อาจจะช่วยส่งผลให้ภาคการจ้างงานของสหรัฐฯเห็นการฟื้นตัวดีขึ้นได้บ้างในช่วงของ H2/52 เป็นต้นไป และนั่นเท่ากับว่าจะส่งผลให้สถานการณ์โดยรวมในภาคเศรษฐกิจโดยรวมในช่วงปี 2552 อาจจะไม่เลวร้ายลงไปจากนี้อีกมากนัก