xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก ส.อ.ท.คาดส่งออกฟื้น Q2 มั่นใจทั้งปีติดลบไม่เกิน 10%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สันติ วิลาสศักดานนท์
ประธาน ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือน มี.ค.52 ขยับขึ้นเล็กน้อย รับเทศกาลสงกรานต์ คาดส่งออกฟื้นตัวช่วงปลาย Q2 มั่นใจทั้งปีติดลบไม่เกิน 10% วอนรัฐเร่งแก้วิกฤตการเมือง ปล่อยสินเชื่อ พร้อมลดภาษีนำเข้า

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมีนาคม 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,189 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยระบุว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 69.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ระดับ 63.0

ทั้งนี้ เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น หลังจาก Stock สินค้าของลูกค้าเริ่มลดลง ประกอบกับการเร่งผลิตเพื่อชดเชยในช่วงเดือนเมษายน 2552 ที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมได้มีการปรับตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในการควบคุมต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย และปรับปรุงการบริหารจัดการภายในให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอด ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 75.1 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่อยู่ในระดับ 73.0 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่ามาตรการกระตุ?นเศรษฐกิจของรัฐบาล (เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท) น่าจะช่วยสนับสนุนการกระตุ?นการบริโภคภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง ตลอดจนการ Stock สินค้าของลูกค้าที่เริ่มปรับลดลง น่าจะช่วยให้คำสั่งซื้อทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีดังกล่าวยังเป็นระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (2551) ที่อยู่ในระดับ 89.3 และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 นั่นแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ยังคงชะลอตัว รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงทางด้านการเมืองในประเทศที่มีแนวโน้มความตึงเครียดมากขึ้น หลังจากมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาล และปิดล้อมทําเนียบรัฐบาลของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในช่วงเดือนมีนาคม 2552 ที่ผ่านมา

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยได้รับผลดีจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้น ตลอดจนคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการเร่งผลิตเพื่อชดเชยในช่วงเดือนเมษายน 2552 ที่จะมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน นอกจากนั้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังได้รับผลบวกจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า อุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปัจจัยหลักที่นำมาใช้คำนวณค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ส่งผลให้ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นภาคใต้ ที่มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมที่สำคัญมีผลประกอบการปรับตัวลดลง อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามตลาดส่งออก พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล (เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท) ที่ช่วยให้การจับจ่ายสินค้าเพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ได้รับผลดีจากยอดคำสั่งซื้อ และปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ พบว่า สภาวะเศรษฐกิจโลก ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันความเชื่อมั่นฯ เป็นอันดับแรก รองลงมาคือ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่กลับมาสร้างความกังวลมากขึ้น และราคาน้ำมัน ส่วนอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เริ่มมีทิศทางที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้นตามลำดับและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือ ให้ภาครัฐเร่งสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน สนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น และควรผ่อนคลายกฏระเบียบในการกู้เงินลดลง เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับภาคอุตสาหกรรม ช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านภาษีต่างๆ เช่น การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น และมีมาตรการปกป้องสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันสินค้าราคาถูกแต่ไม่มีมาตรฐาน และการแย่งตลาดในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น