xs
xsm
sm
md
lg

เงินสะสมและเงินสมทบ และเงินบริจาคของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “สาระน่ารู้ คู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน”
Association of Investment Management Companies
www.aimc.or.th

ในฉบับที่แล้วเราได้ทำความรู้จักคำว่า “เงินสะสม” กันแล้ว และในฉบับนี้อยากจะขอแนะนำคำว่า “เงินสมทบ” อาจมีหลายท่านเคยได้รู้จักกันมาบ้างแล้ว ซึ่งเงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างช่วยสมทบให้แก่สมาชิกอีกแรง โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนทุกครั้งที่มีการจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน ทั้งนี้กฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวจะถูกนำไปลงทุนตามนโยบาย เพื่อหาผลประโยชน์ กลับมาให้กับสมาชิกทุกท่าน สำหรับประโยชน์ ที่น่าสนใจ ของเงินสมทบ มีดังนี้

ฝ่ายนายจ้าง
- สามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้
- เป็นแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน
- เป็นค่าใช้จ่ายที่นายจ้างสามารถทยอยจ่าย และนายจ้างจะไม่มีภาระในการหาเงินก้อนใหญ่เพื่อมาจ่ายสวัสดิการดังกล่าวสำหรับลูกจ้างเหมือนเงินบำเหน็จ

ฝ่ายลูกจ้าง
- เป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่ได้รับจากนายจ้างพร้อมเงินเดือนทุกๆ เดือน
- เงินจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขึ้นเงินเดือนในแต่ละปี
- เป็นผลตอบแทนคิดเป็น 100% ของการออมของเงินสะสมของลูกจ้าง

ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมถึง ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนของเงินสมทบดังกล่าว ที่บริษัทจัดการลงทุนจะนำไปหาดอกผลให้แก่ลูกจ้าง ตลอดช่วงระยะเวลาที่ทำงานอยู่กับนายจ้างนั้นๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม การมีสิทธิที่จะได้รับเงินส่วนสมทบที่บริษัทนายจ้างเป็นผู้จ่ายให้แก่ลูกจ้างแต่ละคน และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่บริษัทนายจ้างจะเป็นผู้กำหนดได้ เช่น กำหนดระยะเวลาในการทำงานที่จะมีสิทธิได้รับเงินสมทบ เพื่อให้ลูกจ้างทำงานอยู่กับนายจ้างนานๆ ดังตัวอย่างเช่น

อายุงาน สิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์
น้อยกว่า 1 ปี ร้อยละ 50
ตั้งแต่ 1 ปี - 5 ปี ร้อยละ 75
ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ร้อยละ 100

จากตัวอย่างข้อบังคับข้างต้นจะเห็นได้ว่า เงื่อนไขการได้รับเงินสมทบนั้นจะขึ้นอยู่กับ “อายุงาน” ของสมาชิก ถ้าอายุงานน้อยกว่า 1 – 5 ปี จะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ ตามสัดส่วนในข้อบังคับนี้ การได้รับไม่เต็มจำนวนเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ ซึ่งเงินส่วนที่สมาชิกไม่ได้รับไปนั้น บริษัทนายจ้างสามารถที่จะกำหนดให้ส่งคืนนายจ้าง หรือกำหนดให้กระจายให้สมาชิกในกองทุนได้ โดยระบุไว้ในข้อบังคับกองทุนให้ชัดเจน ซึ่งจะถูกเรียกว่า “ เงินบริจาค”

เงินบริจาค หมายถึงเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้กองทุน ซึ่งกองทุนสามารถรับเงินที่ผู้อื่นบริจาคได้เฉพาะในกรณีที่เงินนั้น บริจาคให้กองทุนเพื่อจัดสรรให้แก่สมาชิกกองทุนทุกคนตามหลักเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อบังคับของกองทุนเท่านั้น กองทุนไม่สามารถรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่ระบุให้เฉพาะเจาะจงแก่สมาชิกรายใดรายหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นได้

จากบทความทั้งสองตอนท่านผู้อ่าน และท่านสมาชิกกองทุน คงพอจะเห็นภาพคร่าวๆ เกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นสวัสดิการที่จะสร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคงให้แก่ลูกจ้างในระยะยาว และสร้างความสบายใจที่จะปฏิบัติงานได้อย่างทุ่มเท เพราะมีหลักประกันที่ดีให้รู้สึกว่า ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในอนาคต จะมีเงินก้อนที่พอเพียงรองรับการดำรงชีวิตต่อไปได้ ถ้าจะให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ลองเช็คดูว่าบริษัทท่านได้จัดให้มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วหรือยัง ถ้ายังสามารถติดต่อผ่านสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือติดต่อโดยตรงมาที่บริษัทจัดการกองทุนได้ทุกบริษัทค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น