xs
xsm
sm
md
lg

อยากมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี ????

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ สาระน่ารู้ คู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน”
Association of Investment Management Companies
www.aimc.or.th


จากความเดิมตอนที่แล้ว เราก็ได้ทำความรู้จักกับ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” กันไปแล้วนะคะ ท่านผู้อ่านหลายๆท่าน คงจะได้เห็นอะไรดีๆในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันบ้างแล้ว ซึ่งก็จะมีคำถามตามมาว่า ถ้าหากอยากจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นของตัวเอง จะต้องทำยังไงบ้าง จะเริ่มต้นจากตรงไหนดี จะยุ่งยากไหม และอีกหลายๆคำถามที่จะตามมาอีกมากมาย จุ๊ๆๆๆ !!!! อย่าเพิ่งคิดมากขนาดนั้นค่ะ ไม่มีอะไรยากอย่างที่ท่านผู้อ่านกำลังคิดอยู่หรอกค่ะ ดังนั้น วันนี้เรามาไขปัญหาข้อข้องใจทั้งหลาย สำหรับมือใหม่ที่อยากมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันดีกว่านะคะ
สำหรับสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาในการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถกล่าวโดยสรุปเป็นหัวข้อต่างๆ ได้ดังนี้ค่ะ

1. บุคคลที่เกี่ยวข้อง 1.1 ลูกจ้าง - จะต้องพิจารณาว่าตอนนี้ลูกจ้างมีความพร้อมในการสะสมเงินมากน้อยแค่ไหน เพราะจะต้องหักเงินจากค่าจ้างแล้วนำส่งเข้ากองทุน นอกจากนี้ ลูกจ้างนั้นมีความเข้าใจในการลงทุนมากน้อยเพียงใด ซึ่งในประเด็นนี้ท่านผู้อ่านอาจใช้ตัวช่วยได้ คือ บริษัทจัดการนั่นเอง โดยการปรึกษาพูดคุยกับบริษัทจัดการ รวมถึงการจัดอบรมให้ความรู้แก่ลูกจ้าง ซึ่งมั่นใจได้ว่าบริษัทจัดการยินดีให้บริการแก่ท่านแน่ๆค่ะ

1.2 นายจ้าง - เมื่อพิจารณาความพร้อมของลูกจ้างแล้ว ก็ต้องไม่ลืมสำรวจความพร้อมของนายจ้างด้วยนะคะ เพราะนายจ้างเป็นบุคคลที่จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเช่นเดียวกันค่ะ ทั้งนี้ จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายเงินเข้ากองทุน เพราะกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องส่งเงินเข้ากองทุนไม่น้อยกว่าอัตราที่ลูกจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุน นอกจากนี้ นายจ้างต้องมอบหมายบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยนะคะ เพราะจะต้องติดต่อเรื่องการจัดทำข้อมูลและนำส่งเงินเข้ากองทุน รวมถึงการประสานงานต่างๆ ระหว่างสมาชิกกับบริษัทจัดการด้วยค่ะ

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าทั้งลูกจ้างและนายจ้างจะเป็นประเด็นแรกที่เราจะต้องพิจารณากันเลยทีเดียวเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากลูกจ้างและนายจ้างขาดความพร้อมแล้ว อาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลางคัน ซึ่งจะทำให้เสียสิทธิประโยชน์ดีๆที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมทั้งขาดแคลนทุนทรัพย์ไว้เลี้ยงชีพภายหลังเกษียณหรือออกจากงานไปอย่างน่าเสียดายนะคะ

อ้อ!!! เกือบลืมบอกไปค่ะว่า กฎหมายไม่ได้บังคับนะคะว่าแต่ละนายจ้างจะต้องมีลูกจ้างสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนอย่างน้อยกี่คน ดังนั้น ไม่ว่าจะมีสมาชิกกองทุนมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ค่ะ

1.3 บริษัทจัดการ - เป็นผู้มีหน้าที่นำเงินของเราไปบริหารและลงทุน ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านสามารถพิจารณาได้จากความน่าเชื่อถือของบริษัทจัดการ ความพร้อมของระบบงานในด้านต่างๆ ขั้นตอนและกระบวนการลงทุนรวมถึงการควบคุมความเสี่ยง ประสบการณ์และผลงานการบริหารกองทุนที่ผ่านมา จำนวนผู้จัดการกองทุนหรือที่เรียกกันว่า “Fund Manager” บริการเสริมหรือข้อเสนอพิเศษอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อกองทุนและสมาชิก เช่น การให้ความรู้ทางด้านต่างๆเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การจัดอบรมสัมมนา เป็นต้น

2. ค่าใช้จ่าย - สำหรับค่าใช้จ่ายหลักๆ ของกองทุน ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมผู้รับฝากทรัพย์สิน ค่าจัดทำทะเบียนสมาชิก ค่าผู้สอบบัญชี อย่างไรก็ดี ในประเด็นค่าใช้จ่ายนี้ เข้าใจว่าหลายๆ ท่านก็คงจะคิดหนักเหมือนกัน เพราะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ จะใช้จ่ายอะไรก็ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ขอแอบกระซิบดังๆว่า ของฟรีไม่มีในโลก และของถูกก็ไม่ได้แปลว่าเป็นของดีเสมอไปนะคะ ดังนั้น การใช้จ่ายอย่างฉลาดอยู่ที่การตัดสินใจเลือกสรรสิ่งที่ดีและมีราคาที่เหมาะสมค่ะ

3. รูปแบบกองทุน - หากจัดรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามประเภทของการจัดตั้งแล้ว สามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ คือ กองทุนเดี่ยว (Single Fund) และกองทุนร่วม (Pooled Fund) ซึ่งกองทุนทั้งสองประเภทจะมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น จำนวนนายจ้างที่อยู่ในกองทุน ความอิสระในการกำหนด แก้ไข และเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆเกี่ยวกับกองทุน รวมทั้งภาระค่าใช้จ่ายของกองทุน เป็นต้น ซึ่งในหัวข้อนี้เราจะคุยกันแบบละเอียดๆกันในคราวหน้านะคะ

4.ข้อกำหนดและเงื่อนไข - ภายหลังจากที่ได้พิจารณาประเด็นต่างๆตามข้อ 1 – 3 แล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มอีกอย่างหนึ่ง คือ ข้อกำหนดและเงื่อนไขของกองทุน เช่น คุณสมบัติของลูกจ้างที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน อัตราการนำส่งเงินเข้ากองทุนของลูกจ้างและนายจ้าง เงื่อนไขที่สมาชิกจะได้รับเงินจากกองทุนเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือลาออกจากงาน (อาจขึ้นอยู่กับจำนวนปีที่ทำงานหรือจำนวนปีที่เป็นสมาชิกก็ได้) เป็นต้น และไม่ว่าจะกำหนดเงื่อนไขใดๆก็ตาม จะต้องไม่ขัดกับกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนะคะ ซึ่งในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ท่านผู้อ่านสามารถขอคำแนะนำหรือข้อมูลจากบริษัทจัดการเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ค่ะ

เมื่อผ่านขั้นตอนการพิจารณาในหัวข้อต่างๆ ข้างต้นแล้ว ก็ถือว่าท่านผู้อ่านพร้อมที่จะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันแล้วนะคะ โดยจากแผนภาพด้านล่างนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจกระบวนการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ง่ายขึ้นนะคะ แล้วพบกันฉบับหน้าค่ะ

กำลังโหลดความคิดเห็น