xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้างได้อะไรจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “สาระน่ารู้ คู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
กลุ่มธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน”
Association of Investment Management Companies
www.aimc.or.th

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งในการให้สวัสดิการของนายจ้าง นอกเหนือจากค่าแรงที่ได้รับ โบนัส หรือสวัสดิการอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้กับนายจ้างนานขึ้น อีกทั้งยังสร้างความมั่นคงและมั่นใจให้ลูกจ้างเมื่อพ้นจากงาน เพราะเงินที่นำเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบไปด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสมทบ" เท่ากับนายจ้างยังช่วยลูกจ้างออมอีกแรงหนึ่งด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของลูกจ้างและนายจ้างที่จะร่วมแรงร่วมใจกันออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยนายจ้างถือได้ว่าเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในการก่อกำเนิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากปราศจากนายจ้างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น นายจ้างจึงเป็นบุคคลที่มีความหวังดีต่อลูกจ้างในการให้สวัสดิการที่ดีเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินก้อนไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ ออกจากงาน หรือออกจากกองทุน นายจ้างทำหน้าที่หลักในการนำส่งเงินสะสมและสมทบเข้ากองทุน

นายจ้างได้ประโยชน์อะไร
ก่อนที่จะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง นายจ้างส่วนใหญ่มักมีคำถามว่า มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วดีอย่างไร นายจ้างจะได้ประโยชน์อะไร คำตอบก็คือการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีการหักเงินเดือนของลูกจ้างจ่ายสะสมเข้ากองทุนทุกๆเดือนในอัตรา 2-15 % ของค่าจ้าง ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละที่ โดยนายจ้างก็จะจ่ายสมทบให้อีกเท่าตัว เงินก้อนนี้จะเพิ่มพูนขึ้นตลอดระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง นายจ้างที่ส่งเสริมการออมด้วยวิธีจัดตั้งกองทุน นอกจากจะช่วยให้พนักงานรู้สึกดีมีความมั่นคง เป็นหลักประกันในยามเกษียณอายุแล้ว นายจ้างเองยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย เพราะเงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อสมทบให้แก่พนักงานสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ โดยนายจ้างสามารถนำเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนมารวมเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างของลูกจ้างแต่ละราย ซึ่งก็หมายความว่านายจ้างสามารถนำเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในอัตราที่เท่ากับได้จ่ายเงินสมทบให้กับพนักงานนั่นเอง

จำนวนนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ราย)

นับตั้งแต่ที่เริ่มมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นเป็นครั้งแรก จำนวนนายจ้างที่สมัครใจจัดตั้งกองทุนก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2551 มีจำนวนนายจ้างที่จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่สมาชิกแล้วจำนวน 9,646 ราย จำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกทั้งสิ้น 2,031,494 คน มีเงินสะสมที่ลงทุนอยู่ในหลักทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หุ้นกู้ หน่วยลงทุนของกองทุนรวม ใบสำคัญแสดงสิทธิ พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ เงินฝาก ฯลฯ คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งระบบ 446,373 ล้านบาท

จำนวนลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (คน)


ถึงวันนี้ นายจ้างที่ยังไม่ได้จัดตั้งกองทุนน่าจะพิจารณาส่งเสริมให้ลูกจ้างของตนเองได้มีการออมเงินในลักษณะนี้บ้างนะคะ เพราะเป็นการให้หลักประกันความมั่นคงทางการเงินทางหนึ่งแก่ลูกจ้างได้โดยไม่ยุ่งยาก มาตรการนี้สามารถนำไปใช้ในการบริหารงานบุคคล จูงใจให้ลูกจ้างอยากจะเข้ามาทำงาน สร้างความมั่นคงในชีวิตนอกเหนือไปจากการได้รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เป็นการสร้างความผูกพันให้ลูกจ้างมีต่อองค์กรอีกทางหนึ่งด้วยค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น