xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนเปิดยูโอบี เอฟไอจี 12/1 ลงทุนบอนด์ยาว 1 ปีรบ.เดนมาร์กค้ำประกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การลงทุนในปัจจุบันนี้ พันธบัตรรัฐบาลไทยนับว่าเป็นทางเลือกเป็นลำดับต้นในการลงทุนของนักลงทุนที่ต้องการความปลอดภัยของเม็ดเงินลงทุน แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ด้วยเช่นกันว่าอัตราผลตอบแทนย่อมมีน้อยตามไปด้วย ทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายรายหันไปออกกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือพันธบัตรที่มีรัฐบาลค้ำประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารหนี้ในประเทศเกาหลีใต้

แต่หากจะกล่าวไปแล้วยังมีตราสารหนี้ในประเทศอื่นที่มีความน่าสนใจเช่นกัน ซึ่งนอกจากจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยแล้ว ยังมีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่สูงกว่าตราสารหนี้ของประเทศไทยด้วย จึงน่าจะเป็นตัวเลือกหรือทางเลือกที่มีความปลอดภัย และสร้างความอุ่นใจให้แก่นักลงทุนได้ในระดับหนึ่ง ว่าหากเข้าไปลงทุนแล้วมีโอกาสที่จะไดัรับผลตอบแทนที่ดี และเงินลงทุนไม่สูญหายไป

วันนี้ คอลัมน์ “MutualFund IPO” ขอพามาดูกองทุนที่เป็นทางเลือกใหม่กัน ซึ่งได้แก่ กองทุนเปิดยูโอบี เอฟไอจี 12/1 (UOBFIG12/1) ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐของธนาคาร Danske ที่รัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ค้ำประกันตราสาร โดยจะพามาดูแบบทุกแง่ทุกมุม มุมมองของผู้บริหาร ตลอดจนเหตุผลที่ว่าเหตุใดกองทุนนี้จึงมีความน่าสนใจ และควรเข้าไปลงทุนกัน
วนา พูลผล
วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ในระยะนี้ภาวะเศรษฐกิจยังคงมีความผันผวนค่อนข้างสูง นักลงทุนจึงยังไม่กล้าลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงมากนัก บริษัทจึงสรรหาทางเลือกเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนที่มองหาแหล่งเงินทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ขณะที่ผลตอบแทนมีโอกาสสูงกว่าเงินฝาก

สำหรับกองทุนเปิดยูโอบี เอฟไอจี 12/1 เป็นกองทุนตราสารหนี้ประเภทลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยจะเน้นลงทุนในตราสารแห่งหนี้ของสถาบันการเงินในต่างประเทศที่มีรัฐบาลต่างประเทศเป็นผู้ค้ำประกัน และมีอันดับความน่าเชื่อถือของตัวตราสารอย่างน้อยสองอันดับแรก ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และสถาบันการเงินหรือเงินฝากในประเทศ

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมจะลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่มีอายุประมาณ 1 ปี ออกโดยธนาคาร Danske ซึ่งเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศเดนมาร์กเมื่อเทียบกับปริมาณสินทรัพย์ และมีรัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ค้ำประกันตราสาร ซึ่งกองทุนจะทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และด้วยความที่ตราสารที่กองทุนออกเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ทำให้ไม่มีความเสี่ยงจากการที่รัฐบาลจะใช้นโยบายเพื่อป้องกันการเทขายสกุลเงินในประเทศ

สาเหตุที่เลือกประเทศเดนมาร์ก เนื่องจากเดนมาร์กเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ส่งออกไปยังประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยตรง อาทิ นอร์เวย์ เยอรมนี สวีเดน รัสเซีย และจีนยังคงเพิ่มขึ้น และการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้อาจจะชะลอตัวลงไม่เกิน 0.5% เท่านั้น

วนา บอกว่า รายงานของ IMF Data and Statistics ระบุเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2551 ว่าตัวเลขประมาณการณ์ GDP per Capita ของเดนมาร์กอยู่ในอันดับ 4 ของโลกจากทั้งหมด 179 ประเทศ อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 16 ประเทศจาก 106 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อ (Credit Rating) ที่ระดับ AAA โดยสถาบัน Fitch Rating อีกด้วย และยังคงมีมุมมองคงอันดับความน่าเชื่อถือของเดนมาร์กไว้ที่ระดับเดิมที่ AAA

ทั้งนี้ กองทุนนี้นักลงทุนไม่ต้องเสียภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา อีกทั้งยังมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ จึงเหมาะกับนักลงทุนที่ชอบความมั่นคง และต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ และดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศ

นอกจากนี้ ในช่วงเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) บริษัทยังเปิดโอกาสให้มีการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนจากกองทุนเปิดยูโอบี ชัวร์ เดลี (UOBSD) ได้จนถึงวันสุดท้ายของช่วง IPO ด้วย ส่วนการการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนอัติโนมัติทั้งหมดไปยังกองทุน UOBSD ณ วันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัติโนมัติ
ชุติพนธ์ อัชวรานนท์
ชุติพนธ์ อัชวรานนท์ ผู้อำนวยการ-หัวหน้าฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สายงานพัฒนาธุรกิจ บลจ. ยูโอบี (ไทย) กล่าวเสริม ว่า ความน่าสนใจของตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินในประเทศเดนมาร์กอยู่ที่การมีรัฐบาลเดนมาร์กเป็นผู้ค้ำประกัน ประกอบกับอันดับเครดิตก็อยู่ในระดับสูงที่ AAA ซึ่งถือว่าค่อนข้างมั่นคง หากเทียบกับกลุ่มประเทศในยุโรป ที่ภาพรัฐบาลออกมาค้ำประกันการออกตราสารหนี้ของสถาบันการเงินเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ประเทศเดนมาร์กถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย ถ้าเทียบกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก ทั้งนี้ การลงทุนของกองทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินในประเทศเดนมาร์ก ที่ได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาล ซึ่งเป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการเรียกความเชื่อมั่นเข้ามาในระบบสถาบันการเงินของประเทศตัวเอง

ชุติพนธ์ บอกว่า ปัจจุบันการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุประมาณ 1 ปี ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 1% กว่าๆ ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำหากเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ในต่างประเทศ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา บริษัทเองไม่ได้ออกกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ออกมาเลย ดังนั้น เราจึงคิดว่า การออกกองทุนที่มีความปลอดภัยสูงและให้ผลตอบแทนในระดับที่ยอมรับได้ และสูงกว่าผลตอบแทนในประเทศ การลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินในเดนมาร์กและมีรัฐบาลค้ำประกัน จึงน่าจะเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนในช่วงนี้ได้

สำหรับเปิดยูโอบี เอฟไอจี 12/1 มีมูลค่าโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 1 ปี โดยจะเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก และครั้งเดียวระหว่างวันที่ 18 – 24 มีนาคม 2552 และมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท และรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัติโนมัติเพื่อคืนเงินลงทุน และผลตอบแทนทั้งหมดก่อนสิ้นอายุโครงการ 2 วัน นักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนดังกล่าวสามารถสอบถามและติดต่อจองซื้อหน่วยลงทุนได้ที่ฝ่ายบริการผู้ถือหน่วย บลจ.ยูโอบี (ไทย) โทร. 0 2676 7200 หรือที่ธนาคารยูโอบีทุกสาขาทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น