ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ.บีที มองการลงทุนเกาหลี ผลตอบแทนยังจูงใจ แม้ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ ล่าสุดคลอด 2 กองทุนบอนด์เกาหลี อายุ 6 เดือน และ 9 เดือน ชูผลตอบแทนสูง 4.2% ได้ฤกษ์ไอพีโอแล้ววันนี้ – 23 มีนาคม นี้
นายอนุสรณ์ บูรณกานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีที จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากช่วงปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ดังนั้น นักลงทุนต่างก็ยังชะลอตัวการลงทุนไป เพื่อเป็นรอดูสถานการณ์ที่แน่ชัดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าไปลงทุนในประเทศเกาหลีใต้นั้น นักวิเคราะห์หลายฝ่ายยังคงมองว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ เนื่องจากว่าประเทศเกาหลีเอง ยังคงเป็นประเทศที่มีการผลิตในด้านอุตสาหกรรมค่อนข้างใหญ่และมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการต่อเรือ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้แล้ว อุตสาหรรมด้านการส่งออกอย่างรถยนต์เองที่มีความแข็งแกร่งและคาดว่าจะมาแทนที่การผลิตส่งออกจากญี่ปุ่นได้
“หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยต่ำมาก ทำให้ความน่าสนใจหดหายไป ดังนั้นนักลงทุนหลายรายกำลังมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้นอกจากจะให้ผลตอบแทนที่ดีแล้ว ในเรื่องของความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของผลตอบแทนเองทำสวอปไว้ด้วย” นายอนุสรณ์ กล่าว
ล่าสุดบลจ. บีที เปิดขายกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้จำนวน 2 กองทุน ประกอบด้วย 1. กองทุนเปิดบีที FIF เกาหลี ตราสารหนี้ 6/6 (BT FIF Korea Fixed Incom 6/6 Fund หรือ Bt-FIF-KFIX 6/6) และ กองทุนเปิดบีที FIF เกาหลี ตราสารหนี้ 9/5 (BT FIF Korea Fixed Incom 9/5Fund หรือ Bt-FIF-KFIX 9/5) ซึ่งทั้ง 2 กองทุนจะเริ่มเปิดขายครั้งแรกในวันนี้ - 23 มีนาคม 2552 นี้
โดยกองทุนเปิดบีที FIF เกาหลี ตราสารหนี้ 6/6 มีอายุโครงการ 6 เดือน ส่วนกองทุนเปิดบีที FIF เกาหลี ตราสารหนี้ 9/5 มีอายุโครงการ 9 เดือน โดยทั้ง 2 กองทุนมีมูลค่าโครงการละ 1,400 ล้านบาท
ทั้งนี้ กองทุนเปิดบีที FIF เกาหลี ตราสารหนี้ 6/6 จะให้ผลตอบแทนประมาณการณ์อยู่ที่ 3.00 - 3.20% ต่อปี ส่วนกองทุนเปิดบีที FIF เกาหลี ตราสารหนี้ 9/5 ให้ผลตอบแทนประมาณการณ์อยู่ที่ 4.00 - 4.20% ต่อปี โดยทั้ง 2 กองทุนเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการแสวงหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนทีสูงกว่าเงินฝากประจำ โดยเข้าใจความผันผวนและรับความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ทั้ง 2 กองทุนมีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งสถาบันการเงินหรือบริษัทต่างประเทศเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกันที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ โดยสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก หรือเงินฝาก หรือตราสารหนี้ในประเทศที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงาน หรือการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน นอกจากนี้กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงตามจังหวะที่เห็นว่าเหมาะสม ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง
กรรมการผู้จัดการ กล่าวต่อว่า โดยทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวคาดว่าจะสามารถระดมทุนกองทุนละประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่แล้วน่าจะได้จากนักลงทุนสถาบัน รวมถึงลูกค้าของธนาคารไทยธนาคาร (แบงก์แม่) ที่เป็นลูกค้ากลุ่มธนบดีเป็นหลัก เพราะเนื่องจากทั้ง 2 กองทุนได้ทำการขายประชาสัมพันธ์ผ่านทางแบงก์แม่เป็นหลัก