xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติเศรษฐกิจเเดนปลาดิบ กระจกสะท้อนรุนแรงของซับไพรม์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หากพูดถึงประเทศยักษ์ใหญ่ ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของประเทศญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วย ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่ขยับฐานะขึ้นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เทียบชั้นกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงกลุ่มประเทศในยุโรป...และในช่วงที่เกิดวิกฤตซับไพรม์ จนลามไปสู่วิกฤตการเงินโลกและวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเอง ก็หนีผลกระทบดังกล่าวไม่พ้นเช่นกัน ถึงแม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็อ่วมพอสมควร เพราะญี่ปุ่น เป็นอีกประเทศหนึ่งที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก (เช่นเดียวกับประเทศไทย)

ล่าสุด ผลกระทบที่เกิดขึ้น ได้สะท้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเหตุการณ์เเละสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น น่าจะเป็นกระจกที่ดีในการสะท้อนมายังประเทศไทย ซึ่งพึงพาการส่งออกเป็นสำคัญ....ไปดูว่าผลพวงที่ญี่ปุ่นได้รับนั้น เป็นอย่างไรกันบ้าง...

คาโอรุ โยซาโน รัฐมนตรีด้านนโยบายเศรษฐกิจและงบประมาณ กล่าวไว้ว่า ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียหดตัวลงอย่างแรงในไตรมาสที่ 4 เมื่อปี 2008 ซึ่งครั้งนี้เป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยประสบมาในช่วงหลังสงครามโลก ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ จนกว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นโดยรัฐบาลจะพิจารณามาตรการกระตุ้นเพื่อฟื้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอีกครั้ง

“ญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวไม่สามารถฟื้นตัวได้ เศรษฐกิจไม่มีพรมแดน มันเป็นความรับผิดชอบของพวกเราที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศใหม่สำหรับประเทศอื่นๆ”

ทั้งนี้ ตัวเลขทาง เศรษฐกิจขอญี่ปุ่นหดตัวลงถึง 3.3% ใน 3 เดือนสุดท้ายของปี 2008 จากไตรมาสก่อนหน้านั้น ทำให้การหดตัวตลอดทั้งปีเป็น 12.7% ขณะที่การส่งออก และผลผลิตโรงงานอุตสาหกรรมลดลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกถือเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นติดลบ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งแรกในรอบ 7 ปี โดยภาคการส่งออกตกลงกว่า 13.9% จากไตรมาสที่ 3 เนื่องจากความอุปสงค์ในการซื้อรถ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าประเภทอื่นๆ ของญี่ปุ่นตกต่ำลงอย่างมาก

ส่วนการลงทุนภาคธุรกิจในโรงงาน และการประกอบการก็ตกลง 5.3% ขณะที่บริษัททั้งหลายพากันลดค่าใช้จ่าย เพื่อพยุงบริษัทเอาไว้ให้ผ่านพ้นช่วงเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ การใช้จ่ายในภาคครัวเรือนก็ลดลง 0.4% เนื่องจากผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัดกันแน่น หลังถูกเลิกจ้าง หรือลดการจ้างงาน สำหรับตัวเลขดังกล่าวนั้นร้ายแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์การหดตัวรายปีโดยเฉลี่ยไว้ที่ 11.6% ถือเป็นภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่ปี 1974 เมื่อครั้งประเทศสั่นคลอนจากวิกฤตน้ำมัน

เมื่อส่องดูการเติบโตของญี่ปุ่นจะพบว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นเติบโตด้วยการพึ่งพาการส่งเป็นสำคัญ เช่นการส่งออกรถยนต์ ส่งออกเครื่องจักร และส่งออกอุปกรณ์ไอที โดยทั้งอุตสหรรมการส่งออกทั้ง 3 นี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนเเรง การจากภาวะเศรษฐิจโลกชะลอตัว

การปรับตัวครั้งใหญ่
เรามาดูกันว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ใน 3 อุตสาหกรรมหลักในการส่งออกของญี่ปุ่นนั้นปรับตัวกันอย่างไรบ้าง เริ่มต้นที่ พานาโซนิค คอร์ป ผู้ผลิตเเละผู้จำหน่ายสินค้าอิเล็คทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก เรียกร้องให้ผู้จัดการราว 10,000 คนซื้อสินค้าของบริษัท เพื่อกระตุ้นยอดขายในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยพานาโซนิคระบุให้ผู้จัดการซื้อสินค้ามูลค่าอย่างน้อย 100,000 เยน หรือราว 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ซึ่งคาดว่าแนวคิดนี้จะทำให้พานาโซนิคเพิ่มยอดขายได้ถึง 1 ,000 ล้านเยน โดยครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พานาโซนิค ขอให้พนักงานซื้อสินค้าบริษัท โดยในปี 2002 พานาโซนิคเคยมีแนวคิดเดียวกันนี้มาแล้ว หลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ก่อนหน้านี้พานาโซนิคเองก็ประกาศลดตำแหน่งงาน 15,000 ตำแหน่ง พร้อมด้วยโครงการปิดโรงงานอีกหลายสิบแห่ง เนื่องจากกับเผชิญกับวิกฤตซึ่งทำให้บริษัทเสี่ยงกับการขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

ขณะที่บริษัทยามาฮ่า ยอมรับว่า ก่อนหน้านี้มียอดขายสูงจนกระทั่งเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จำกัด อุปทานของสินค้าของยามาฮ่า ซึ่งรวมถึงเครื่องยนต์เรือ และพาหนะบนบกทุกชนิดได้รับผลกระทบโดย กำไรสุทธิตกลง 97.4% ในปี2551 ประมาณ 1,850 ล้าน หรือ 20.5 ล้านดอลลาร์ หลังยอดขายลดลงในปี 2550 ซึ่งรายได้ตกลงถึง 8.7% ที่ 1.60 ล้านล้านเยนในช่วง 12 เดือนถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

โดย ยามาฮ่า ระบุว่า ในปี 2551 นี้จะมีคนจำนวนน้อยลงที่จะซื้อจักรยานยนต์ แม้ในตลาดเอเชียและละตินอเมริกาที่ครั้งหนึ่งฟื้นตัวได้เร็ว นอกจากนี้ ค่าเงินเยนที่แข็งยังกัดกร่อนมูลค่ายอดขายในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ยามาฮ่าคาดการณ์รายได้ปีนี้ว่าจะขาดทุนสุทธิ 42,000 ล้านเยน หรือ 466 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรายได้จะลดลง 22.1เปอร์เซ็นต์ที่ 1.25 ล้านล้านเยน ขณะเดียวกันจะลดผลผลิตในโรงงานผลิตทุกแห่งและเดินหน้าลดต้นทุนและหดการลงทุนเพื่อสกัดกั้นการขาดทุน

คราวนี้มีดูบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกดูบ้าง โตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลกออกมาประกาศว่า บริษัทอาจจจะขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 4,900 ล้านดอลลาร์ในปีการเงินนี้ สืบเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจถดถอยที่กดดันให้ยอดขายรถยนต์ดิ่งลงรุนแรง นับเป็นการขาดทุนจากการดำเนินงานครั้งแรกในประวัติศาสตร์บริษัท อีกทั้งยังมากเป็นสามเท่าตัวของตัวเลขที่เคยคาดการณ์ไว้เพียงเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม โตโยต้า เองก็ยืนยันว่าเวลานี้ไม่มีแผนจะปิดโรงงานหรือปลดพนักงานเพิ่มเติมขึ้นอีก ซึ่งตรงข้ามกับบริษัทยักษ์ใหญ่รายอื่น ๆของญี่ปุ่นที่กำลังประสบปัญหาเดียวกัน

สำหรับการขาดทุนของโตโยต้าที่ได้รับการมองว่าเป็นบริษัทที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงระดับความร้ายแรงของปัญหาในอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง ซึ่งบริษัทโตโยต้าคาดหมายว่า ในปีการเงินนี้(เมษายน 51-มีนาคม 52) บริษัทจะขาดทุนจากการดำเนินงานถึง 450,000 ล้านเยน (4,900 ล้านดอลลาร์) เท่ากับสามเท่าตัวของมูลค่าการขาดทุนที่โตโยต้าได้เคยคาดหมายไว้ในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้โตโยต้ายังพยากรณ์ว่า ยอดขาดทุนสุทธิของปีการเงินนี้จะเท่ากับ 350,000 ล้านเยน เทียบกับก่อนหน้าที่คาดไว้ว่าจะยังคงได้กำไรสุทธิ 50,000 ล้านเยน สำหรับไตรมาสสามของปีการเงินนี้ (ก.ค.08-ธ.ค.08) บริษัทรายงานว่าขาดทุนจากการดำเนินงาน 360,000 ล้านเยน (4,000 ล้านดอลลาร์) เทียบกับการได้กำไรถึง 601,500 ล้านเยนของช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน

มิตซูโอะ คิโนชิตะ รองประธานกรรมการบริหารอาวุโสของโตโยต้า กล่าวว่า มันเป็นช่วงที่ยากลำบากมากนับตั้งแต่เลห์แมน (บราเธอร์ส)ล้มลง วิกฤตการเงินก็ลุกลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงอย่างรวดเร็ว เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าในปีการเงินหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราได้แต่หวังว่าเรากำลังลงไปถึงก้นบึ้งแห่งปัญหาและพร้อมจะฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ในไม่ช้า

ทั้งนี้ โตโยต้ามียอดขาดทุนสุทธิถึง 164,700 ล้านเยนในช่วงไตรมาสสามของปีการเงินนี้ เทียบกับกำไรสุทธิ 458,600 ล้านเยนของช่วงหนึ่งปีก่อนหน้า สำหรับรายได้นั้นลดลงถึง 28.4% หรือ 4.8 ล้านล้านเยน ในไตรมาส3 นี้โตโยต้าขายรถยนต์ได้ 1.84 ล้านคันทั่วโลกลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 443,000 คัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีทีแล้วโตโยต้าก็กลายเป็นบริษัทที่ขายรถยนต์ได้มากที่สุดในโลก แซงหน้าเจนเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม) ที่ครองอยู่ในตำแหน่งมานาน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ายอดขายของเจนเนอรัลมอเตอร์สนั้นร่วงลงมากกว่าของโตโยต้า เพื่อรับมือกับสภาพที่ย่ำแย่เหล่านี้ โตโยต้าจึงได้ประกาศลดกำลังการผลิต ปลดพนักงานและแต่งตั้งประธานรรมการบริหารบริษัทคนใหม่ ที่เป็นคนจากตระกูลผู้ก่อตั้งบริษัทที่เชื่อกันว่ามีความสามารถจะนำพาให้บริษัทพ้นจากวิกฤตการณ์นี้ไปได้ โดยบริษัทจะลดต้นทุนรายจ่ายประจำต่างๆลง 10% เเต่ยังไม่มีแผนปิดโรงงานและปลดพนักงานเพิ่มเติมอีก

ก่อนหน้าในเดือนพฤศจิการยน โตโยต้าออกมาระบุว่าอาจจะลดจำนวนพนักงานชั่วคราวลงไปราว 3,000 คนในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม

อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น นั้นหดตัวลงเรื่อย ๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะว่าคนหนุ่มสาวในประเทศที่ไม่ใช้รถยนต์มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมือง อันเนื่องมาจากรายได้ที่น้อยลง ค่าน้ำมันที่แพงขึ้น และบริการขนส่งมวลชนที่สะดวกสบาย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกตกต่ำก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นได้รับความลำบากยิ่งขึ้น เพราะบริษัทเหล่านี้พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แม้ว่าสถานการณ์ของพวกเขายังจะดีกว่าบิ๊กทรีของสหรัฐฯ ซึ่งก็คือ ฟอร์ด ไครสเลอร์ และเจนเนอรัล มอเตอร์ส



กำลังโหลดความคิดเห็น