xs
xsm
sm
md
lg

ดิ้นหนีตาย! อุตฯยานยนต์โลกปลดคนงานรายวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากเกิดข่าวใหญ่ด้านวิกฤตการเงินของ “บิ๊กทรี” ยักษ์ใหญ่วงการยานยนต์ในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นเรื่องฮือฮาและสร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐอเมริกาและทั่วโลกแบบยั้งไม่อยู่ ทั้งที่ความจริงแล้วสภาพโดยรวมของบิ๊กทรีมีปัญหาเรื้องรังมานานแล้ว โดยเฉพาะจีเอ็ม-ฟอร์ด ประสบปัญหาการขาดทุนสะสมมาตลอดในช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ไครสเลอร์มีเรื่องการขาดทุนจนต้องเทขายหุ้น 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ให้กับทางเซอร์เบอรุส แมเนจเมนต์ เมื่อปี 2007

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ 3 บริษัททำให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาต้องกระโดดเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อลมหายใจด้วยการอนุมัติเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 17,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 609,900 ล้านบาท ให้กับทางจีเอ็มและไครสเลอร์ ในการเร่งจัดการสะสางปัญหาที่เกิดขึ้นให้รวดเร็วที่สุด แต่จะไปได้ไกลขนาดไหนคงต้องรอดูกันต่อไปในปี2552

วิกฤตที่เกิดขึ้นมิใช่แค่ “บิ๊กทรี” เท่านั้น ยังลุกลามไปยังอุตสหกรรมยานยนต์ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศ “ญี่ปุ่น” ต่างประสบภาวะการขาดทุนเช่นเดียวกัน และแน่นอนเมื่อบริษัทแม่เจอปัญหาบริษัทลูกที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกย่อมได้รับผลกระทบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้รวมถึงประเทศไทยเราด้วย

จึงไม่แปลกที่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาจะมีข่าวปลดพนักงาน ลดกำลังการผลิต ออกมาเป็นระยะ ๆ “ASTV ผู้จัดการมอเตอริ่ง” รวบรวมวิกฤตที่เกิดขึ้นกับอุตสหกรรมยานยนต์ทั่วโลกมานำเสนอ ซึ่งประเทศไทยก็เริ่มโดนหางเลขกันบ้างแล้ว

พฤศจิกายน 2008

หลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศให้ความช่วยเหลือ ยักษ์ใหญ่ “จีเอ็ม” ก็ประกาศแผนปรับลดต้นทุนครั้งใหญ่ด้วยการเตรียมปลดพนักงาน 30,000 ตำแหน่งคิดเป็น 10% ของแรงงานจีเอ็มทั้งหมดในโลก และปิดโรงงานทั่วอเมริกาเหนือ 12 แห่งประกอบด้วย โรงงานประกอบรถยนต์ ,โรงงานหล่อตัวถังรถยนต์ ,โรงงานวางระบบไฟฟ้าและโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ ขณะที่ “ฟอร์ด มอเตอร์” ประกาศแผนปรับลดคนงานประมาณ 4,000 ตำแหน่ง ตามแผนปรับโครงสร้างบริษัท
อย่างไรก็ตามจำนวนพนักงานที่ถูกปลดในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีจำนวนถึง 89,016 ราย และเป็นไปได้ว่าจะเท่ากับหรือมากกว่าสถิติการปรับลดคนงานในปี 2544 และการปรับลดคนงานของจีเอ็มครั้งนี้เป็นการปล่อยลอยแพพนักงานครั้งเดียวที่มีจำนวนมากที่สุดของสหรัฐ
มาที่ฝั่งของเอเชียบ้าง เริ่มจาก “โตโยต้า” ออกแถลงการว่าบริษัทฯจะไม่ต่อสัญญาให้กับพนักงานชั่วคราว 3,000 ตำแหน่ง ในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2552 นี้ หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนพนักงานชั่วคราวทั้งหมด 6,000 ตำแหน่ง ที่ทำงานให้กับโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่นโดยอ้างว่าเป็นผลมาจากยอดขายตกต่ำบวกกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ขณะที่ค่ายรถอื่นก็ลดจำนวนพนักงานชั่วคราวลงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “มาสด้า” ระบุจะลดตำแหน่งงานชั่วคราวลง 1,300 ตำแหน่ง ส่วน “อีซูซุ” จะลดตำแหน่งงานลง 1,400 ตำแหน่ง ด้าน “มิตซูบิชิ”จะปรับลดพนักงานจำนวน1,100 ตำแหน่ง พร้อมกับไม่ต่อสัญญาจ้างพนักงานชั่วคราวราว 1 ใน3 ของพนักงานชั่วคราวทั้งหมดในญี่ปุ่น นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนลดกำลังการผลิตลงอีก 30,000 คันด้านบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ระงับการผลิตในโรงงานเมืองไซตามะ ใกล้กรุงโตเกียว ส่งผลให้กำลังการผลิตรถหายไป 40,000 คัน เช่นเดียวกับฟูจิ เฮฟวี อินดัสตรีส์ ผู้ผลิตรถยนต์ “ซูบารุ” ประกาศปรับลดพนักงานชั่วคราว 800 อัตราเมื่อเดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา และจะลดกำลังการผลิตในประเทศลงอีก 40,000 คันช่วงไตรมาสแรกของปี 2552

ธันวาคม 2008

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอแผนช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งผู้ผลิตและชิ้นส่วนให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาโดยด่วน เนื่องจากเล็งเห็นถึง สัญญาณอันตรายในปัจจุบันของอุตสาหกรรมประเภทนี้หลายประการ เช่น โรงงานผู้ผลิตรถยนต์บางค่ายได้หยุดการผลิตชั่วคราว 2 เดือน (ธ.ค.51 - ม.ค.52 ) เพราะยอดขายรถยนต์ที่ลดลงส่งผลให้มีสต๊อกรถยนต์เพียงพอต่อลูกค้า โดยเฉพาะรถกระบะที่ 10 เดือนของปีมียอดขายในประเทศเพียง278,787 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน12.8 % ขณะที่ตลาดส่งออกแม้ภาพรวมจะเพิ่มจากปีก่อนแต่บางตลาดเริ่มลดนำเข้ารถยนต์ไทย เห็นได้ชัดที่ออสเตรเลียนำเข้าจากไทยลดลง 20%

มกราคม 2009

มีข่าวรายงานว่า โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป กำลังพิจารณาปลดพนักงานประจำมากกว่า 1,000 คน ในโรงงานผลิต 7 แห่งแถบอเมริกาเหนือ และอังกฤษ เพื่อรับมือวิกฤตครั้งรุนแรงสุดของบริษัท อย่างไรก็ตาม หลังมีรายงานข่าวการปลดพนักงาน ทางบริษัท โตโยต้า ออกคำแถลงตอบกลับว่า “ยังไม่มีการตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น”

จากคำแถลงของโตโยต้า บอกว่าบริษัทฯไม่เคยถึงขั้นต้องปลดพนักงานประจำ มีแต่บริษัทยอมให้พนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนดในอดีต และยังย้ำอีกว่า “โตโยต้าไม่เคยปลดพนักงานประจำเลยนับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา”

ในรอบสัปดาห์ของเดือน มกราคม ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า โตโยต้ากำลังพิจารณาปลดพนักงานชั่วคราวกว่า 3,000 ตำแหน่ง ในโรงงานผลิตที่ญี่ปุ่น เนื่องจากยอดขายตกต่ำ ซึ่งทางบริษัทไม่ยอมยืนยันหรือปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว

กุมภาพันธ์ 2009

2 กุมภาพันธ์ - ฮอนด้า มอเตอร์ เปิดเผยว่า บริษัทจะลดเงินเดือนพนักงานระดับผู้จัดการลงประมาณ5 % ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ –พฤษภาคม เนื่องจากรายได้ของบริษัทลดลงท่ามกลางสถานการณ์ตลาดยานยนต์ทั่วโลกที่ย่ำแย่และเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อพนักงานประมาณ 4,800 คน

ฮอนด้าคาดการณ์รายได้ของบริษัทในปีงบการเงิน2551 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม เป็นครั้งที่สี่ โดยบริษัทคาดว่าจะทำกำไร 80,000 ล้านเยน เทียบกับคาดการณ์เมื่อเดือนที่แล้วอยูที่ 1.85 แสนล้านเยน ลดลงเกือบ 87 % จากตัวเลขกำไร 6 แสนล้านเยนในปีงบการเงินก่อนหน้านี้

4 กุมภาพันธ์ - โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เสนอ 3 มาตรการรับมือวิกฤติยานยนต์ ลดต้นทุนผลิต,จัดเตรียมเออร์ลี่พนักงงาน แนะให้ภาครัฐลดภาษีสรรพสามิต-นิติบุคคล อุ้มภาคยานยนต์ ด้านกลุ่มชิ้นส่วนฯ วิกฤติหนัก แบงก์ไม่ปล่อยกู้ ร้องรัฐต้องช่วยหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อประคองตัวพ้นวิกฤติช่วงไตรมาสแรก พร้อมขู่ หากออเดอร์หดกว่า 30% อาจต้องปลดคนงานจำนวนมาก

5 กุมภาพันธ์ - มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประกาศลดกำลังการผลิตรถยนต์โรงงานในไทยลง 100,000 คัน หรือราว 50 %และเตรียมลดพนักงานอีกไม่ต่ำกว่า 30 % เนื่องจากบริษัทในประเทศไทยเผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย
ขณะที่อเมริกามีข่าวของ เจนเนอรัล มอเตอร์ส และไครส์เลอร์ สองผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐ ที่เพิ่งได้รับเงินกู้ช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง 13,400 ล้านดอลล่าร์ หรือราว 4 แสน 6 หมื่น 9 พันล้านบาท กำลังเตรียมปลดพนักงานโรงงานรอบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกลางกำหนด และเพื่อความอยู่รอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

6 กุมภาพันธ์ - โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ประกาศปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการเป็นครั้งที่ 3 โดยกล่าวว่า บริษัทอาจมีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 3.50 แสนล้านเยนในรอบปีงบการเงินซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่31 มีนาคม เนื่องจากยอดขายทรุดตัวลงเพราะถูกกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ลุกลามทั่วโลก

ซึ่งตัวเลขการคาดการณ์ขาดทุนครั้งล่าสุดขัดแย้งกับที่บริษัทเคยคาดการณ์ไว้เมื่อสองเดือนก่อนว่าจะมีกำไรสุทธิ 5.0 หมื่นล้านเยนสวนทางกับรอบปีงบการเงินก่อนหน้าที่บริษัทสามารถทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.72 ล้านล้านเยน และหากผลออกมาเป็นไปตามคาด เท่ากับว่าโตโยต้าจะขาดทุนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่บริษัทเริ่มทำการเปรียบเทียบข้อมูลในปีงบการเงินพ.ศ. 2506

นอกเหนือจากดีมานด์ทั่วโลกที่ทรุดตัวลงแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โตโยต้าตัดสินใจปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการคือค่าเงินเยนที่พุ่งขึ้นรุนแรงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รายได้ของโตโยต้าในต่างประเทศถดถอยลง

“ความต้องการรถยนต์ที่ลดลงอย่างกะทันหันนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกต้องเจ็บตัว แต่โตโยต้าเจ็ปปวดมากเป็นพิเศษเนื่องจากมีขีดความสามารถมากเกินไปหลังจากที่ได้สร้างโรงงานใหม่ให้เพียงพอกับดีมานด์มานานหลายปี”

7 กุมภาพันธ์ - จีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศเปิดรับสมัครเออร์ลีรีไทร์ รอบ 2 อีก 790 ตำแหน่ง หลังจากที่ประกาศเออร์ลีรีไทร์ รอบแรกไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน2551 ที่ผ่านมา เนื่องจาก โรงงานผลิตรถยนต์ ที่ จ.ระยอง ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง

9 กุมภาพันธ์ - บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (nissan motors) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น ออกแถลงว่า บริษัทขาดทุนในไตรมาส 3 และจะต้องลดพนักงานราว 20,000 ตำแหน่ง หรือ8.5 % ของพนักงานทั่วโลกในช่วงปีข้างหน้านี้ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก

นิสสันชี้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บริษัทอาจจะต้องขาดทุนถึง 265,000 ล้านเยน (2,900 ล้านดอลลาร์) ในปีการเงินนี้ (เม.ย.2008-มี.ค.2009) ซึ่งเมื่อเทียบกับการได้กำไรถึง 482,000 ล้านเยนเมื่อปีการเงินที่แล้ว นับว่านิสสันดิ่งเหวอย่างรวดเร็วมาก

เนื่องจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ ปีนี้บริษัทจึงจะงดจ่ายโบนัสให้แก่คณะกรรมการบริหาร รวมทั้งตัดลดเงินตอบแทนที่ให้แก่พวกเขาลง 10% ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป อีกทั้งยังจะลดการลงทุน, ระงับการเข้าร่วมผลิตในโรงงานแห่งใหม่ที่โมร็อกโกกับทางเรโนลต์ ซึ่งเป็นพันธมิตรสัญชาติฝรั่งเศสของบริษัท
นิสสันรายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 ของปีการเงินนี้ (คือระหว่างต.ค.-ธ.ค.08) ว่าขาดทุนสุทธิ 83,200 ล้านเยน และคาร์ลอส กอส์น แถลงแจกแจงว่า พวกบริษัทญี่ปุ่นต่างกำลังถูกกระหน่ำตีด้วยภัยร้ายถึง 3 ชั้นซ้อน อันได้แก่ ภาวะสินเชื่อตึงตัว, ภาวะเศรษฐกิจทรุดต่ำ, และค่าเงินเยนที่แข็งโป๊ก

นี่คือกระแสข่าวในช่วงที่ผ่านมาของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เริ่มส่อเค้าลางของ วิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ที่แต่ละค่ายเริ่มปรับตัวเตรียมรับมือกับปัญหากันล่วงหน้าแล้ว รวมถึงเมืองไทย และยังไม่รู้ชะตากรรมว่าอนาคตข้างหน้าจะพนักงานที่เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์นี้สักกี่แสน กี่ล้านคนที่จะได้รับผลกระทบ เฮ้ย..คิดแล้วกลุ้ม
กำลังโหลดความคิดเห็น