เอเอฟพี – เจนเนอรัล มอเตอร์ส และไครสเลอร์ร้องขอเม็ดเงินเพิ่มอีก 21,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากรัฐบาลเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะล้มละลาย และยืดเวลาสำหรับการปรับโครงการสร้างไปอีกช่วงหนึ่ง
ทั้งสองบริษัทยืนยันในรายงานความสามารถที่จะปรับตัวที่ส่งไปให้กระทรวงการคลังว่าบริษัทมีความสามารถจ่ายคืนเงินได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดขึ้นเมื่ออนุมัติแผนช่วยเหลือเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
“มันชัดเจนว่าความอยู่รอดของบริษัทต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่เจ้าหนี้, ซัพพลายเออร์, ดีลเลอร์, พนักงาน และผู้บริหารบริษัททั้งหมด เพื่อประกันว่าบริษัทจะยังคงเดินหน้าต่อไปได้” โรเบิร์ต กิ๊บส์ โฆษกทำเนียบข่าวแถลง
เจนเนอรัล มอเตอร์สออกมาเผยว่าจะลดจำนวนพนักงานทั่วโลกลง 47,000 ตำแหน่ง ปิดโรงงาน ยกเลิกแบรนด์ที่ไม่ค่อยทำเงิน ลดกำลังการผลิต รวมทั้งปรับเปลี่ยนข้อเสนอผลิตภัณฑ์เสียใหม่เพื่อให้บริษัทกลับมาแข็งแกร่งและทำกำไรได้อีกภายในเวลา 24 เดือน
“นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำหากว่าต้องการอยู่รอดในวิกฤตปัจจุบัน รวมทั้งทำให้จีเอ็มกลับมาประสบความสำเร็จอย่างยืนยงอีกครั้ง” ประธานจีเอ็มและซีอีโอ ริค แวกอนเนอร์กล่าว
จีเอ็มบอกด้วยว่าอาจต้องการเงินอีก 16,600 ล้านดอลลาร์ในรูปของเงินกู้จากรัฐบาลภายในปี 2011 เพิ่มเติมจาก 13,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้มาแล้ว
นอกจากนี้จีเอ็มก็ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือมูลค่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากรัฐบาลแคนาดา, เยอรมนี, อังกฤษ, สวีเดนและไทยซึ่งให้แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ “เพื่อสร้างสภาพคล่องสำหรับการ
ดำเนินงานของจีเอ็มในประเทศเหล่านี้
จีเอ็มขู่ด้วยว่าหากไม่ทำอะไร มูลค่าความเสียหายจะสูงกว่านี้ เพราะหากปล่อยให้ล้มละลาย จีเอ็มก็คาดว่าเม็ดเงินที่ใช้ในการปรับโครงสร้างจะสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ และคนงานจะต้องตกงานราวสามล้านคน
ในขณะเดียวกันไครสเลอร์ก็ขอเงินกู้เพิ่มอีก 5,000 ล้านดอลลาร์จากโครงการสินเชื่อเพื่อกอบกู้ภาคธุรกิจ เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯและได้เริ่มต้นปรับโครงสร้างกันใหม่ในขณะที่เกิดวิกฤตแล้ว
“เราเชื่อว่าเงินกู้ที่จะนำมาเป็นเม็ดเงินดำเนินการซึ่งเราร้องขอไปนี้เป็นทางเลือกที่ใช้เงินน้อยที่สุดแล้ว และจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯรวมทั้งก่อให้เกิดผลในททางบวกแก่ผู้เสียภาษีชาวอเมริกันทั้งหลาย” ประธานของไครสเลอร์ บ๊อบ นาร์เดลลี่กล่าว
“การปรับโครงสร้างอย่างเป็นระเบียบนอกภาวะล้มละลาย เมื่อรวมกับแผนที่จะทำให้บริษัทอยู่รอด และการเป็นพันธมิตรแน่นแฟ้นกับเฟียตก็ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด” เขาชี้
ไครสเลอร์มีแผนจะยกเลิกโมเดลรถสามแบบ ลดกำลังการผลิตลง 100,000 คันต่อปี ลอยแพคนงาน 3,000 คนและลดต้นทุนประจำลงไป 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ บิ๊กทรี หรือบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่สามแห่งในดีทรอยท์ ซึ่งมีจีเอ็ม ไครสเลอร์และฟอร์ดต่างก็สามารถตกลงเบื้องต้นได้กับสหภาพแรงงานบริษัทรถยนต์หรือยูเอดับบลิวให้ช่วยลดต้นทุนด้านค่าแรง ซึ่งทางสหภาพบอกว่าตามข้อตกลง บริษัทสามารถปรับสัญญาว่าจ้างให้เปลี่ยนไปจากของเมื่อปี 2007 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถฝ่าฟันสถานการณ์ยากลำบากไปได้
กระทรวงการคลังจะพิจารณาแผนที่ส่งไปและตัดสินใจภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ว่าจะให้เงินกู้ต่อไป หรือจะเรียกคืนซึ่งนั่นจะทำให้บริษัทล้มละลาย แต่รัฐบาลก็จะเข้ามาดูแลเพื่อให้มีการถ่ายโอนสินทรัพย์และปรับโครงสร้างได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ในขณะที่ฟอร์ดยังยืนยันว่ามีเม็ดเงินสำรองเพียงพอต่อการดำเนินงานโดยไม่ต้องพึ่งเงินกู้ แม้ว่าจะขาดทุนไปถึง 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว
นักวิเคราะห์ทำนายว่ายอดขายรถยนต์ในปีนี้จะอยู่ที่ 10 – 11 ล้านคัน ซึ่งเป็นยอดขายที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งสองเป็นต้นมา