xs
xsm
sm
md
lg

ศก.ไทยรอมาตรการรัฐเข้ากระตุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีสถานการณ์ที่น่าสนใจให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่องทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่นและประเทศไทย ดังนี้

สหรัฐอเมริกา: เศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว (นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 5.4) ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดในรอบเกือบ 27 ปี ส่งผลให้เศรษฐกิจของปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 1.3 ในขณะที่ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับร้อยละ 0.0 - 0.25 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯลงมติผ่านความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 8.25 แสนล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามาแล้ว

ยุโรป: อัตราการว่างงานของยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 8.0 ในเดือนธันวาคม จากร้อยละ 7.9 ในเดือนพฤศจิกายน อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนเดือนมกราคม ปรับลดลงสู่ร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของยูโรโซนลดลงร้อยละ 0.9 ในเดือนธันวาคม สู่ 93.3 จุด หลังจากที่ลดลงในเดือนพฤศจิกายน และตุลาคม ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยาวนานขึ้น ในขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีในปี 2528 ที่ระดับ 68.9 จุด ในเดือนมกราคม จาก 70.4 ในเดือนธันวาคม ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี (Ifo) เพิ่มขึ้นสู่ 83.0 ในเดือนมกราคม จาก 82.6 ในเดือนธันวาคม ในขณะที่ การว่างงานของเยอรมนีในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี และส่งผลให้อัตราการว่างงานของเยอรมนีอยู่ที่ร้อยละ 7.8

ญี่ปุ่น: รัฐบาลของญี่ปุ่นทุ่มเงินมูลค่า 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าช่วยเหลือบริษัทที่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินของโลก ซึ่งหวังว่าจะช่วยบรรเทาการว่างงานและการล้มละลายของบริษัทในญี่ปุ่น สำหรับยอดค้าปลีกในเดือนธันวาคม ดิ่งลงร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำที่สุดในรอบเกือบ 4 ปี และมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.6

ในส่วนของประเทศไทยธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานสภาวะเศรษฐกิจเดือนธันวาคมซึ่งหดตัวในเกือบทุกด้าน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และถ้าเมื่อเทียบเดือนต่อเดือนจะลดลงร้อยละ 2.0 ส่วนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตัวเลขดุลการค้า เกินดุล 496 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่การส่งออกลดลง ร้อยละ 15.7 และการนำเข้าลดลงร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ธปท. คาดว่า จีดีพีของไทยในไตรมาส 4 ปี 51 อาจติดลบร้อยละ 0.5-2.0 ถ้าเทียบเป็นรายปี และจะติดลบร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2551 ในขณะที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 อาจติดลบถึงร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 อาจจะติดลบมาก หากรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นล่าช้า

ด้านตลาดตราสารหนี้นั้น โดยแถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคมของ ธปท. ระบุว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลงร้อยละ 18.8 (ตลาดคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 8.2) ในขณะที่ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.6 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวถึงร้อยละ 3.5 ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว และหากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลมีความล่าช้า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้อาจจะหดตัวมากขึ้น ในระหว่างสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี ปรับตัวลดลง 1 - 7 bps ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 4 - 23 bps ตามความกังวลเกี่ยวกับปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่จะออกจำหน่ายในอนาคต

ในขณะที่ตลาดตราสารทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามการเคลื่อนไหวของตลาดในภูมิภาค จากความคาดหวังว่าเฟดจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ดัชนีกลับปรับตัวลดลงหลังจากที่ สศค. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 อาจหดตัวถึงร้อยละ 3.5 ความกังวลจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังคงย่ำแย่ลงได้ส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวลดลงเช่นกัน ถึงแม้ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสที่ 4 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์จะไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่คาดก็ตาม

ที่มา บลจ. เอวายเอฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น