ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – แบงก์ชาติภาคใต้ เผยภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาส 4 ประจำปี 2551 มีการชะลอตัวลงทุกด้าน เกษตรกรได้รับผลกระทบเงินในกระเป๋าลดลงจากรายได้การขายทั้งผลผลิตปาล์ม ยางลดลงร้อยละ 29.0 การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.5 แต่ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ส่วนผลผลิตด้านอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 7.3 ตามการส่งออก แต่พบว่าผู้ประกอบการอาหารบรรจุกระป๋องมีการปรับตัวรับมือเป็นอย่างดี และหาตลาดส่งออกเพิ่ม ทั้งนี้ภายใต้สัญญาณของการซบเซานี้พบว่า อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงน่าจะจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านก่อสร้างดีขึ้น
นายนิรุธ รักษาเสรี ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ไตรมาส 4 ปี 2551 มีการชะลอตัวทุกด้าน ทั้งทางด้านอุปทาน ผลผลิตพืชผลสำคัญ ราคาผลผลิต ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมและประมง ท่องเที่ยวชะลอตัวลง เช่นเดียวกับด้านอุปสงค์ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การส่งออกและการลงทุนชะลอตัว ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณลดลงด้วยเช่นกัน
ภาคเกษตร รายได้จากการขายพืชผลสำคัญของเกษตรกร ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลดลงร้อยละ 29.0 ตามราคาพืชผลผลิตสำคัญที่ลดลงร้อยละ 32.8 จากความกังวลในวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยผลผลิตพืชหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลต่อดัชนียานยนต์ให้ลดลงร้อยละ 7.3 อีกด้วย
ภาคอุตสาหกรรม นายนิรุธ กล่าวว่า ยอดรวมการส่งออกชะลอลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 โดยดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 7.3 ตามการส่งออก โดยอุตสาหกรรมยางมีปริมาณการส่งออกจำนวน 507,214.4 เมตริกตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.6
อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งมีปริมาณการส่งออก 28,768 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 0.7 แต่อาหารบรรจุกระป๋องมีปริมาณการส่งออก 32,953.4 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.0 โดยส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาเพิ่ม
นายนิรุธ กล่าวด้วยว่า การท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราชะลอตัว มีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาคใต้ทั้งสิ้น 940,971 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.5 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8 เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางด้านการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคใต้ตอนล่าง ที่ จ.สงขลา มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 39.9 เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในความปลอดภัย รวมทั้งเป็นช่วงปิดภาคเรียนของมาเลเซียจึงทำให้ยอดนักท่องเที่ยวโดยรวมชะลอลงไม่มาก สำหรับอัตราเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 49.2
ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ยังมีการชะลอตัวจากความไม่มั่นใจในวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง และระมัดระวังให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน ทำให้พื้นที่ก่อนสร้างที่ได้รับอนุญาตในเขตเทศบาลลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนร้อยละ 14.4 โดยลดการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์เป็นสำคัญ
นายนิรุธ กล่าวต่อว่า ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปีก่อน จะส่งผลต่อเนื่องถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2552 ว่าจะมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประกอบกับรายได้เกษตรกรมีแนวโน้มชะลอลง จากการที่ราคายางและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มลดลงตามราคาในตลาดโลก เนื่องจากความต้องการที่ลดลง นอกจากนี้การส่งออกและการท่องเที่ยวจะชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลก
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสก่อน จะส่งผลกระทบต่อปีนี้ให้มีการเติบโตแบบชะลอตัว แต่ก็ไม่น่าหวั่นวิตก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือ และสถาบันการเงิน ผู้ประกอบการเคยผ่านวิกฤตหนักปี 2540 มาแล้ว ทำให้มีการปรับตัวได้ดี โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมากใน จ.สงขลา พบว่า ยังไม่น่าเป็นห่วงเหมือนที่หลายคนวิตกกังวล
ส่วนแรงงาน ก็ยังไม่กระทบมากเหมือนในภาคอื่นๆ มีบ้างที่ต้องลดการทำงานล่วงเวลา หรือลดเวลาทำงานให้สั้นลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้ชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 8.8 และมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลดลง น่าจะเป็นข้อดีที่ช่วยกระตุ้นด้านการลงทุน โดยเฉพาะการก่อสร้างในปีนี้ให้ดีขึ้น