xs
xsm
sm
md
lg

กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เเผนกู้วิกฤติเศรษฐกิจล่าสุดของเเดนมังกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐบาลดูดเงินออกจากเงินฝากธนาคารมูลค่า 6.85 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของจีน ทำให้ประชาชนหันมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น"


หลังจากที่ธนาคารกลางประเทศจีน ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้เป็นครั้งที่ 5 นับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ที่มีผลบังคับใช้ไปเเล้วในวันที่ 23 ที่ผ่านมา โดยจะลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะเวลา 1 ปีลงร้อยละ 0.27 มาเป็น 5.31% จากเมื่อกลางเดือนกันยายนซึ่งเดิมอยู่ที่ 7.47% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงในอัตราเท่ากันมาอยู่ที่ 2.25% อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธนาคารในการปล่อยกู้ ทำให้ธนาคารกลางได้ตัดสินใจปรับลดสัดส่วนเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ลง 0.5% มาอยู่ที่ 15.5% จากจำนวนเงินฝากทั้งหมดของธนาคาร

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ทำให้นักวิเคราะห์อย่างกงฟางสงนักเศรษฐศาสตร์จากมอร์แกน สแตนเลย์ มอง่าว่า ช่องว่างการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางแห่งประเทศจีนได้ขยายเพิ่มขึ้นโดยในครึ่งปีหน้าจีนอาจจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีกถึงร้อยละ 9 เพื่อรักษาสภาพคล่องของสถาบันการเงินต่างๆ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกันนี้ได้แสดงความคาดหวังต่อรัฐบาลจีนว่าจะผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนี้จะเป็นเครื่องมือช่วยกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐบาลดูดเงินออกจากเงินฝากธนาคารมูลค่า 6.85 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของจีน ทำให้ประชาชนหันมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น โดยขณะนี้รัฐบาลกลางจำเป็นต้องระดมทุนจำนวนมากเพื่อนำไปอัดฉีดแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 586,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในขณะที่ต่างชาติพากันวิเคราะห์เเละคาดการณ์ว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนจะดำเนินการต่อจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย คือประกาศใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปและสหรัฐที่ฉุดรั้งยอดส่งออกของจีนทรุดตัวลงตามไปด้วย โดยภาคส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของจีน

โดยหลังจากนี้ธนาคารกลางจีนจะใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงินเพิ่มเติม และจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมถึงการกระตุ้นการอัตราการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และกระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภค เพื่อลดผลกระทบที่ยอดส่งออกของจีนร่วงลงอย่างหนัก

อย่างไรก็ตาม หุ้นบริษัทจีนที่เข้าเทรดในตลาดหุ้นนิวยอร์กร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางจีนลดอัตราดอกเบี้ยน้อยเกินไปและยังไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวช้าลงในปีหน้า แม้นายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า ประกาศใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน หรือ 5.83 แสนล้านดอลลาร์ อาทิ โครงการสร้างถนนและสะพาน ก็ตาม

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทาง สตีเฟ่น กรีน นักเศรษฐศาสตร์ของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด มองว่า ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด คาดการณ์ว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะขยายตัวเพียง 6.8% ในปีพ.ศ.2552 โดยจะลดลงจากปีนี้ที่คาดว่า จะขยายตัว 9.0% และจากปีพ.ศ.2550 ที่ขยายตัว 11.9% โดย เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีแรก จากนั้นจึงจะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการลงทุนภาคเอกชนจะไม่ชะลอตัวลงมากนักในช่วงครึ่งปีแรก แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม นอกจากนี้ค่าเงินหยวนของจีนจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องตัวเลขการส่งออก พร้อมกับว่าเงินหยวนอาจจะอ่อนตัวลงแตะระดับ 6.82 หยวน/ดอลลาร์ภายในสิ้นปีนี้

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่มองว่า ทางการจีนใช้มาตรการทางการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากสัญญาณที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงอีกในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 โดยนักวิเคราะห์หลายรายคาดว่า มีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ทั้งนี้ ทางการจีนประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.27 ในวันที่ 22 ธันวาคม 2551 ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เหลือร้อยละ 5.3 และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเหลือร้อยละ 2.25 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ธันวาคม 2551 นี้ ถือว่าเป็นการปรับลดมากที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่นต่างก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเช่นกันเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอรุนแรงมากขึ้น โดยสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงสู่ระดับร้อยละ 0-0.25 ในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ต่ำสุดในรอบ 54 ปี ส่วนญี่ปุ่นปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 0.3 เหลือร้อยละ 0.1 ในวันที่ 19 ธันวาคม 2551

หลังจากนั้นไม่นานประเทศจีนก็มีเรื่องให้นักลงทุนต้องจับตามองอีกครั้ง เมื่อสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งชาติจีน หรือ เอสเอเอฟอีได้ระบุว่าทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ของจีนลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2003 และอยู่ต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ของช่วงปลายเดือนกันยายนปีนี้ ทั้งนี้สาเหตุมาจากวิกฤตการเงินโลกที่จีนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทว่าทางการจีนไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่นอนของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถิติทุนสำรองฯ ของจีนในปลายเดือนกันยายนหรือไตรมาสที่สามจะพุ่งขึ้นสูงที่สุดในโลก แต่อัตราของการขยายตัวยังถือว่าชะลอตัวลง เนื่องจากยอดเกินดุลการค้าและยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ไหลทะลักเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นปรอทชี้วัดตัวสำคัญของเงินทุนที่ไหลเข้าและออกของประเทศนั้นๆ
ทางการจีนเองได้หามาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่นนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ได้เเถลงอย่างเป็นทางการว่า มาตรการ ช่วยเหลือตลาดอสังหาริมทรัพ นอกจากจะเป็นนโยบายใหม่ที่กระตุ้นการบริโภคอสังหาริมทรัพย์ทางตรงแล้ว ยังเป็นการบรรเทาสถานการณ์ราคาตกต่ำของภาคอสังหาฯในช่วงที่ผ่านมา ทิ้งระยะให้ทั้งนักพัฒนาที่ดินและผู้บริโภคได้หายใจอย่างทั่วท้อง อย่างไรก็ดี มาตรการนื้ถือเป็นนโยบายต่อเนื่องที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้รัฐบาลท้องถิ่นผลักดันความช่วยเหลือด้านนโยบายภาษีและเงินอุดหนุนสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รักษาเสถียรภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนซื้อบ้านและสนับสนุนนักพัฒนาที่ดินในโครงการที่เหมาะสม

นอกจากนั้นรัฐบาลจีนเองยังเตรียมผ่อนปรนข้อกำหนดในการเป็นเจ้าของบ้าน โดยผู้ที่อาศัยในอพาร์ทเมนต์ขนาดเล็กกว่ามาตรการสามารถซื้อหลังที่สองในได้อัตราเงินกู้พิเศษ ขณะเดียวกันได้เรียกร้องให้ธนาคารต่างๆ ปล่อยสินเชื่อให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในราคาถูก เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนที่อยู่อาศัยกว่า 7.5 ล้านหลังคาในเขตเมือง และ 2.4 ล้านหลังคาในเขตชนบทนั้นเอง

สำหรับมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของทางการจีนที่มีอย่างต่อเนื่องและการตั้งเป้าหมายให้ปริมาณเงินในระบบขยายตัวร้อยละ 17 ในปี 2552 เพื่อเป็นการกระตุ้นการกู้ยืมและการบริโภคภายในจีน โดยนโยบายการคลังที่ทางการจีนอัดฉีดเงินราว 586 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลา 2 ปี จนถึงปี 2553 ที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างที่อยู่อาศัย และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คาดว่าจะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมที่ชัดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 จากปัจจัยหนุนทั้งมาตรการของทางการจีนเองและจากภาคส่งออกที่ฟื้นตามเศรษฐกิจโลก น่าจะส่งผลให้ความต้องการสินค้านำเข้าของจีนจากประเทศต่างๆ

หากทางการจีนใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลังในเชิงรุกและมีประสิทธิภาพเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจภายในจีนกลับมาฟื้นตัวก็น่าจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมในจีนที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายในให้ปรับตัวดีขึ้น เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ และในกรณีที่เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลักของจีนอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกของจีนขยายตัวได้มากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนประเภทวัตถุดิบขั้นต้น และสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกันกับอุตสาหกรรมจีนขยายตัวไปจีนได้ดีขึ้นตามไปด้วย กล่าวได้ว่าเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2552

ที่มา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น