xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐ-ยุโรปยังต้องวุ่นกับปัญหาศก. ส่วนไทยรัฐบาลใหม่..เพิ่มความหวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจของทั่วโลกในขณะนี้ยังต้องถือว่ารอรับปัจจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยตรงอยู่เพราะสหรัฐถือเป็นเศรษฐกิจหลักของโลกอยู่ โดยในช่วงที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของของรัฐบาลสหรัฐถือเป็นเรื่องหลักที่กำลังดำเนินการอยู่ พร้อมๆกับหลายประเทศทั่วโลกที่หามาตรการต่างๆออกมรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน โดยรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ (15 - 19 ธันวาคม 2551) ที่ผ่านมามีสถานการณ์ที่น่าสนในดังนี้

สหรัฐอเมริกา : ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงจากร้อยละ 0.75 – 1.0 สู่ระดับร้อยละ 0.0 – 0.25 ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2497 ส่วนอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี และลดลงร้อยละ 1.7 จากเดือนตุลาคม ในขณะที่ ผลผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.6 ในเดือนพฤศจิกายน หลังจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในเดือนตุลาคม และอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงสู่ร้อยละ 75.4 ในเดือนพฤศจิกายน จากร้อยละ 76.0 ในเดือนตุลาคม

ยุโรป : อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอตัวลงจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ในเดือนตุลาคม ส่วนภาคการผลิตของเยอรมนีประสบกับปัญหาที่หนักที่สุดในรอบ 12 ปี ในเดือนธันวาคม จากการถดถอยของภาคส่งออกซึ่งส่งผลให้มีการปลดคนงานมากขึ้น

อังกฤษ : อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ชะลอตัวลงจากเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลง จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานของอังกฤษในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 75,700 คน จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานทั้งหมดอยู่ที่ 1.072 ล้านคน ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544 ที่มีจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานทั้งหมดเกิน 1 ล้านคน

ญี่ปุ่น : ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงจากร้อยละ 0.3 สู่ร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2549 และมีแผนที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาด เพื่อช่วยลดภาวะตึงตัวของสินเชื่อในภาคเอกชน

จีน : ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.4 จากปีก่อน เปรียบเทียบกับร้อยละ 8.2 ในเดือนตุลาคม และต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สาเหตุของการชะลอตัวมาจากการลดลงมากกว่าที่คาดของภาคการส่งออก โดยผลผลิตจากการส่งออกลดลงร้อยละ 5.2 ในเดือนพฤศจิกายน

ในส่วนของประเทศไทย :นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเสียงข้างมากในสภา ทำให้ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย ซึ่งมีนโยบายเบื้องต้นที่จะกระตุ้นกำลังซื้อ และฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน ขณะที่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 น่าจะติดลบร้อยละ 0.5 - 1.0 และอยู่ที่ร้อยละ 0.0 ในไตรมาสที่ 2 ก่อนที่จะฟื้นตัวในปลายไตรมาสที่ 3 - 4 ที่ราวร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยเฉลี่ยออกมาทั้งปี คาดขยายตัวร้อยละ 2.0

ตลาดตราสารหนี้ ในส่วนของตลาดตราสารหนี้หลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.75 - 1.00 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0 - 0.25 ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมกันนี้ ทางเฟดได้ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจอยู่ที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน ในขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ร้อยละ 0.10 ในระหว่างสัปดาห์ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงในทุกช่วงอายุราว 17 - 23 bps อย่างไรก็ตาม มีการขายทำกำไรพันธบัตรรัฐบาลหลังจากมีข่าวว่างบประมาณจะขาดดุลเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้ภาครัฐลดลงตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คาดว่างบประมาณจะขาดดุลรวม 4.30 แสนล้านบาท

ตลาดตราสารทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ผ่อนคลายลง หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับมติเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่และนโยบายของรัฐบาลที่จะประกาศในวันที่ 29 ธันวาคม 2551 สำหรับค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นหลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ร้อยละ 0.25 ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ดิ่งลงมากกว่าร้อยละ 20 ถึงแม้ว่ากลุ่มโอเปกได้ประกาศลดกำลังการผลิตลง 2.46 ล้าน บาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ที่มา บลจ. AYF
กำลังโหลดความคิดเห็น