xs
xsm
sm
md
lg

กรุงไทยธนทรัพย์ตราสารหนี้3เดือน5 อีกครั้งกับบอนด์เกาหลี..อีกทางเลือกที่น่าสนใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลี อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน แต่ก็เพียงบางส่วนเท่านั้น โดย บลจ.มั่นใจว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะยังคงมั่นใจในการบริหารจัดการของบริษัท และไม่หวั่นไหวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ของเกาหลีใต้ พร้อมทั้งจะยังเข้ามาร่วมลงทุนอย่างแน่นอน อีกทั้งกองทุนเปิดKTSUP3M5จะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนเหมือนเดิม”

ถึงแม้ว่าผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ ออกมาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ทำให้นักลงทุนบางรายยังไม่ค่อยมั่นใจต่อการลงทุนมากนัก อย่างไรก็ตามก็ยังมีนักลงทุนบางรายที่ยังคงต้องการเข้าไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้เนื่องจากประเมิณว่าจะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในประเทศ

ทั้งนี้คอลัมน์"MutualFund IPO" พามาดูกองทุนเปิดกรุงไทยธนทรัพย์ตราสารหนี้3เดือน5 ( KTSUP3M5) ที่บริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) มาให้นักลงทุนได้ทำการพิจารณากันต่อไป

โดยกองทุนได้เริ่มเปิดขายหน่วยลงทุนแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ไปจนถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ด้วยอายุโครงการ 3 เดือน และมีมูลค่าโครงการ 5,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนจะเข้าไปลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ ในสัดส่วน 75% และลงทุนในเงินฝาก และบัตรเงินฝากของธนาคารทิสโกอีก 25% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนประมาณการที่ 3.80% ต่อปี และตราสารที่ลงทุนในต่างประเทศจะมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) บอกว่า ความเสี่ยงของพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ ขึ้นอยู่กับฐานะการคลังของรัฐบาล ภาวะเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ โดยฝ่ายวิจัยของบริษัทเห็นว่าฐานะการคลัง ของเกาหลีใต้มีอัตราการก่อหนี้การคลังสุทธิ 33% ของ GDP ต่ำกว่าประเทศในกลุ่ม OECD ที่ส่วนใหญ่จะก่อหนี้อัตราสูงกว่า 60% ของ GDP และที่ผ่านฐานะการคลังยังคงเกินดุลต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าประเทศมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะใช้นโยบายการคลังขยายตัวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้จึงส่งผลให้ เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในปัจจุบันยังมีความมั่นคงฐานะการคลังเกินดุลต่อเนื่อง อัตราการก่อหนี้สาธารณะต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง และเชื่อว่าเพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มีสถานะที่ดีกว่าในช่วงวิกฤตการณ์ปี 2540 ค่อนข้างมาก โดยภาวะการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาเศรษฐกิจภายใน แต่เนื่องจากเกาหลีใต้มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจึงหลีกเลี่ยงผลกระทบจากต่างประเทศไม่พ้น สำหรับความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินระหว่างประเทศที่จะเกิดกับนักลงทุนต่างประเทศ เชื่อว่ามีค่อนข้างต่ำ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ในช่วงวิกฤตเมื่อปี 2540 ประเทศเกาหลีใต้ไม่เคยประกาศห้ามเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ การลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ ของกองทุน KTSUP3M5 จะลงทุนในตราสารรุ่นที่มีอายุใกล้เคียงกับอายุกองทุน และมีการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าทั้งจำนวนให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่จะได้รับจากเงินลงทุน ดังนั้น จึงไม่มีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต ส่วนคู่สัญญาจะทำกับสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงสูง

ขณะที่ วิโรจน์ ตั้งเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน)  บอกว่า จากกรณีธนาคารกลางเกาหลีใต้ ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1% อยู่ โดยที่ 3% โดยถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ แต่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังประสบภาวะซบเซา ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกองทุนเปิดธนทรัพย์ตราสารหนี้ 3เดือน 5 (KTSUP3M5) ที่ทางบริษัทกำลังเปิดขายหน่วยลงทุนอยู่ในขณะนี้มากนัก แต่อาจจะทำให้ผลตอบแทนที่กองทุนคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนปรับตัวลดลงบ้างตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเกาหลีในครั้งนี้

แม้ว่า หลังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลี อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน แต่ก็เพียงบางส่วนเท่านั้น โดย บลจ.มั่นใจว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะยังคงมั่นใจในการบริหารจัดการของบริษัท และไม่หวั่นไหวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ของเกาหลีใต้ พร้อมทั้งจะยังเข้ามาร่วมลงทุนอย่างแน่นอน อีกทั้งกองทุนเปิดKTSUP3M5จะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนเหมือนเดิม

"เนื่องจากบริษัทมองว่าการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีเมื่อธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 3% การลงทุนยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนพันธบัตรในประเทศไทย ที่อยู่เพียง 2.5% ซึ่งจากการลงทุน และการคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ พบว่าการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว นักลงทุนยังคงได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในไทย"วิโรจน์ บอก

อย่างไรก็ตาม การลงทุนของบริษัทจะเน้นลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ที่ออกโดยภาครัฐบาล และไม่ลงทุนตราสารหนี้ในภาคเอกชน ซึ่งถือว่ามีความมั่นคงสูง จึงถือว่าการลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ยังสามารถให้ผลตอบแทนน่าจูงใจกว่าการลงทุนในพันธบัตรไทย

สุดท้าย วิโรจน์ บอกว่า สำหรับการจัดตั้งกองทุนที่ไปลงทุนพันธบัตรเกาหลีใต้หลังจากนี้ บริษัทจะต้องพิจารณาถึงทิศทางและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยว่าจะมีทิศทางไปในทางใดต่อไป โดยจะต้องเปรียบเทียบระหว่างอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศว่าเมื่อลงทุนไปแล้วผลตอบแทนที่ได้รับมีความแตกต่างกันมากน้อยเพียงใด ซึ่งบริษัทคาดว่าในปี2552 คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีการประชุมและมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75%-1% จึงทำให้บริษัทมองว่าการลงทุนในพันธบัตรเกาหลียังจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้

กำลังโหลดความคิดเห็น