xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ยันไม่โหมลดดอกเบี้ย หวั่นทำเศรษฐกิจทรุดเกินจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าธปท.ยันการประชุมกนง.ครั้งนี้แม้จะมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็จะไม่ลงในระดับที่มากอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ หวั่นส่งผลข้างเคียงเศรษฐกิจคาดทรุดเกินจริง และพร้อมที่จะดูแลด้านสภาพคล่องให้เพียงพอ ส่วนแบงก์กสิกรฯยันปล่อยสินเชื่อตามปกติ แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวอภิปรายหัวข้อ นโยบายการบริหารจัดการเศรษฐกิจภาพรวมของไทย ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของโลก ว่า ธปท.ได้ดูแลนโยบายด้านการเงินด้วยความระมัดระวัง แม้การใช้นโยบายด้านการเงินในบางครั้งอาจส่งผลกระทบในทางตรงข้ามกับวัตถุประสงค์บ้าง แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่เกิดปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรง หากธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแรงอาจจะทำให้ประชาชนและนักวิเคราะห์เข้าใจว่าธปท.มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและอาจจะทำให้เกิดการตกใจ ซึ่งมีผลต่อทางด้านจิตวิทยา

"ต่างประเทศใช้นโยบายลดดอกเบี้ยรุนแรงเพราะเขาพยายามให้มีผลในการฟื้นเศรษฐกิจจริงและเป็นการให้สัญญาณว่า ธนาคารกลางพร้อมเข้ามาดูแลปัญหาเศรษฐกิจ แต่ของเราอยู่ปลายแถวจะใช้นโยบายลดอกเบี้ยแรงๆ ก็ต้องระวังเพราะมีผลเสียทางจิตวิทยา แทนที่จะสร้างความมั่นใจกลับตรงข้ามเพราะนักวิเคราะห์เห็นตัวเลขอาจไปคาดว่าธปท.มีข้อมูลเชิงลึกก็ต้องระวัง" นางธาริษา กล่าว

นอกจากนี้ การใช้นโยบายการเงินก็มีผลน้อยกว่ามาตรการด้านการคลังอยู่แล้ว กว่าดอกเบี้ยนโยบายจะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ไตรมาส ซึ่งปัจจุบันมองว่าอยากจะเห็นการกระตุ้นการใช้จ่ายที่มากขึ้นมากกว่าการที่ลดอัตราดอกเบี้ยแล้วจะมีผลเพียงแค่ช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้สินเท่านั้น

นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.เชื่อว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ใช่วงกลางปี 2552 เนื่องจากขณะนี้สถาบันการเงินของประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาได้รับการแก้ไขจากภาครัฐ ซึ่งหากภาคสถาบันการเงินเข้าสู่ภาวะปกติก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และรัฐบาลในประเทศต่างๆก็พร้อมในการดูแลเศรษฐกิจอยู่แล้ว

ส่วนสภาพคล่องในประเทศนั้น แม้ว่าล่าสุดสภาพคล่องจะเริ่มตึงตัวขึ้นมาเล็กน้อย เพราะสัดส่วนสินเชื่อเริ่มดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ ในขณะที่เงินฝากโตน้อยกว่าสินเชื่อ แต่สภาพคล่องก็ไม่ถือว่าเป็นข้อน่ากังวล เนื่องจากปัจจุบันพบว่าธปท.ยังได้รับสภาพคล่องจากธนาคารพาณิชย์กลับคืนวันละ 4-5 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับจำนวนที่ธปท.ปล่อยออกมาในตลาดในแต่ละวัน ซึ่งก็แสดงว่ายังไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตามในส่วนของดำเนินนโยบายการเงิน ธปท.ไม่ได้ดูเฉพาะเงินเฟ้ออย่างเดียว แต่ได้ดูการเติบโตของเศรษฐกิจประกอบด้วย ซึ่งถ้าหากพบว่าความเสี่ยงของสิ่งไหนมากกว่ากันก็จะดูแลสิ่งนั้นเป็นพิเศษ โดยธปท.ก็เตรียมระวังไม่ให้เกิดฟองสบู่ใน 7 ภาค คือทั้งภาคต่างประเทศซึ่งดูแลไม่ให้มีหนี้มาก 2. ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 3. ภาครัฐ 4. ภาคครัวเรือน 5. ภาคตลาดการเงิน 6. ภาคอสังหาริมทรัพย์ และ 7. ภาคสถาบันการเงิน ซึ่งธปท.เห็นว่าเป็นหน้าที่ของธปท.ที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่

นอกจากนี้ มองว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกในขณะนี้กระทบต่อประเทศไทยไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบโดยตรง ผลกระทบข้างเคียง และผลกระทบทางอ้อม เพราะ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังถือว่ารองรับได้ โดยในส่วนของผลกระทบโดยตรงนั้นมองว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ของไทยมีเงินลงทุนที่ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่แสดงอยู่มีค่อนข้างน้อยเพียง 0.3% ของสินทรัพย์รวม ซึ่งก็ได้ขายออกไปหมดแล้ว อีกทั้งสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ไทยก็อยู่ในอัตราที่สูงถึง 15.7% ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง รวมถึงสัดส่วน NPL ล่าสุดไตรมาส 3 อยู่ต่ำเพียง 3.3% อีกทั้งประเทศไทยไม่ได้พึ่งเงินต่างประเทศจึงไม่เกิดปัญหาเงินฝืด

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ในการประชุมนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 3 ธันวาคมที่จะถึงนี้ จะให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศมากกว่าปัจจัยด้านการเมือง ซึ่งในช่วง 4-5 สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุน การส่งออก มีการชะลอตัวอย่างชัดเจน ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้ต้องมีการประเมินความเสี่ยงการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 4 และปีหน้าใหม่ ขณะที่ภาคต่างประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกก็เริ่มชะลอตัวเช่นกัน และจะผลกระทบต่อเอเชีย ในด้านการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ

"ขณะนี้ในหลายประเทศมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะปัญหาด้านเงินเฟ้อบรรเทาเบาบางลง ไม่มีปัญหาเหมือนในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่เร่งตัวมาก ทำให้ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมากเงินเฟ้อ จึงมีพื้นที่ให้นโยบายการเงินสามารถใช้ได้ แต่ในการใช้ก็มีข้อจำกัดในระยะยาว ทำให้ปรับลดดอกเบี้ยลงไม่ได้มาก ต้องดูความเหมาะสมของภาวเศรษฐกิจในขณะนั้น และมีการผสมผสานนโยบายอื่นๆร่วมด้วย เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำมากจะมีความเสี่ยงในเรื่องการออม"

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายต้องรอดูปัจจัยแวดล้อมในอนาคต แต่หากพิจารณาจากตัวเลขเงินเฟ้อที่เริ่มลดลงต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ที่ ธปท.จะผ่อนคลายนโยบายการเงินลงได้ ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นมีโอกาสปรับตัวลดลง แต่ถ้าหากเป็นประเภทที่มีเครดิตเข้ามาเกี่ยวข้องก็ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เครดิตจะสูงขึ้น

"เริ่มเห็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสภาพคล่องในระบบเริ่มตึงตัว เนื่องจากผู้กู้ยืมเงินในธุรกิจต่างๆที่เคยกู้ยืมเงินจากต่างประเทศหันมากู้ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง ส่วนปัญหาที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ ตลาดเครดิต แม้จะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากแต่ถ้าหากไม่ปล่อยเครดิตก็คงประสบปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

อย่างไรก็ตามธนาคารจะยังคงมีการปล่อยสินเชื่อตามปกติ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว เนื่องจากรายได้ของธนาคารพาณิชย์กว่า 70% มาจากการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นธนาคารจึงมีความจำเป็นที่ต้องรักษารายได้ อีกทั้งธนาคารเองมีแผนที่จะต้องขยายธุรกิจและหวังที่จะเติบโต ถึงแม้ว่าในปีหน้าจะต้องระมัดระวังความเสี่ยงทั้งทางด้านเครดิตของธุรกิจ รวมถึงความผันผวนของราคาในตลาดการเงิน เช่น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น