xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ชี้ดอกเบี้ย 3.25% เหมาะสม ครั้งต่อไปดูเงินเฟ้อเป็นหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ชี้ดอกเบี้ย 3.25% และสภาพคล่องในปัจจุบัน มีความเหมาะสม เอื้อต่อการลงทุน ไม่จำเป็นต้องปรับลดตามเฟด แม้จะมีส่วนต่างถึง 1% แย้มพิจารณา 3 ปัจจัยในประเทศเป็นหลัก โดยคาดว่า การประชุม กนง. 9 เม.ย.นี้ จะคงอัตราดอกเบี้ย ส่วนการประชุมฯ ครั้งต่อไป อาจพิจารณาเงินเฟ้อเป็นหลัก "ศุภวุฒิ" เผยส่วนต่างดอกเบี้ยใน-นอก ไม่ควรเกิน 1.5% ขณะที่ "ก้องเกีรติ" เชื่อคดียุบพรรค ไม่กระทบการลงทุน

วันนี้(24 มี.ค.) นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ : ทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยปี 51" โดยระบุว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ได้มีการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยประเทศจีน และออสเตรเลีย ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่สหรัฐเอง ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะเดียวกัน ประเทศอังกฤษและยุโรป ต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

"จุดนี้ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย ไม่จำเป็นต้องตามประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยนโยบายดอกเบี้ยต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายในแต่ละประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีเงื่อนไขที่ตัดสินใจที่แตกต่างกัน"

สำหรับประเทศไทยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย คือ อัตราเงินเฟ้อ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และค่าเงินของสหรัฐที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง แต่เป้าหมายหลักของนโยบายการเงินของไทย คือ ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ และควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมาย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ผันผวน

คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ อาจมีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 3.25% แม้จะมีส่วนต่างกับดอกเบี้ยของสหรัฐถึง 1% พร้อมเชื่อว่า เป็นระดับที่เหมาะสม และมีสภาพคล่องเพียงพอ เอื้อต่อการลงทุน ส่วนการประชุมฯ กนง.ครั้งต่อไป อาจมีการพิจารณาอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก

"แม้ว่าขณะนี้ สถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบัน แม้จะเริ่มนิ่งแล้ว แต่ว่า ธปท. ก็ยังให้การดูแลตามหน้าที่ของ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมาธปท.ก็ดูแลเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา"

นายบัณฑิต ยังกล่าวถึงราคาน้ำมันที่ทรงตัวสูงอยู่ในขณะนี้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลจะต้องดูว่าจะมีวิธีไหนที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบขยายตัวตามราคาน้ำมัน ซึ่งมองว่าการวางแผนอย่างระมัดระวังเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน

รองผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจของต่างประเทศมีทิศทางชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ดังนั้น มองว่าการฟื้นฟูการใช้จ่ายในประเทศจะเป็นหนทางที่ช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศไม่ชะลอตัวเช่นเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการลดภาษีก็จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้มากขึ้น

"เศรษฐกิจของไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ 2 ประเด็นคือ เศรษฐกิจไทยจะโตได้ด้วยตัวเองหรือไม่ และเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการส่งออกที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลกนั้น น่าจะไม่มีผลกระทบมากเท่าอดีตเนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐมีสัดส่วนประมาณ 15% และสัดส่วนการส่งออกไปยังภูมิภาคมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจึงทำให้ผลกระทบน่าจะมีน้อยกว่าอดีต

นายบัณฑิต มองว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพได้ เพราะนอกจากจะช่วยให้เกิดการลงทุนแล้วยังช่วยให้เกิดการจ้างงานซึ่งจะส่งผลให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น

สำหรับสภาพคล่องของไทยในปัจจุบันยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีที่สามารถสนับสนุนการลงทุนของเอกชนได้ ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ยังสนับสนุนให้สินเชื่อโตได้ โดยดูจากสัญญาณการเติบโตของสินเชื่อในไตรมาส 4/2550 ที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น

นอกจากนี้ หากรัฐบาลมีความชัดเจนในนโยบายส่งเสริมการลงทุนก็จะเป็นวิธีที่เพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร จำกัด(มหาชน หรือ PHATRA คาดว่า ที่ประชุม กนง.ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ยังไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐในขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในระดับที่รับได้ โดยมองว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1.5%

แต่มองว่าในการประชุม กนง.นัดถัดไป มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะเชื่อว่า เฟด จะมีการลดดอกเบี้ยลงอีกรอบ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกว้างขึ้นอีก

นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ไทยควรปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดแม้จะแข็งค่าขึ้น ไม่ควรเอาเศรษฐกิจไทยไปขึ้นกับเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่มีปัญหาเหมือนกับสหรัฐ ค่าเงินบาทก็ไม่ควรผูกติดกับดอลลาร์ และในอนาคตหากอัตราเงินเฟ้อในประเทศลดลงก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงได้เอง

ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐไม่ได้ส่งผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทย แต่ทางอ้อม ถือว่าปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐสร้างปัญหาเงินเฟ้อไปทั่วโลก แต่ปัจจัยส่วนนี้ยังมีผลต่อไทยค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับปัญหาการเมืองในประเทศจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น รวมถึงหากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ก็ทำให้มองไม่ออกว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม มองว่านักลงทุนในประเทศยังไม่ได้รับข่าวความไม่แน่นอนทางการเมืองเต็มที่นัก และยังคาดหวังในเชิงบวกโดยไม่เชื่อว่าจะมีการยุบพรรคเกิดขึ้นจริง ในส่วนของ ตลท.มองว่า ต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง โดยหากตลาดมีความเชื่อมั่นว่าการเมืองมีเสถียรภาพก็จะทำให้หุ้นขึ้นต่อไปได้

สำหรับมุมมองต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้า นายศุภวุฒิ กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวคงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวก็ควรจะเน้นที่การลงทุนเป็นหลัก รวมทั้งการขยายตลาดในประเทศ เนื่องจากการส่งออกจะไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีเท่าเดิมแล้ว

ด้านนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่า ต่างชาติไม่กังวลเกี่ยวกับคดียุบพรรคการเมืองของไทย พร้อมทั้งสนับสนุน ธปท. ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างสูง และยังไม่มีสัญญาณเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในช่วงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น