xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ต่างชาติเสนอธปท.ยืดหยุ่น บอร์ดแบงก์-SSLตามกม.เดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธปท.เผยประเด็นสำคัญนัดถกแบงก์ต่างชาติ 21 แห่ง ผู้บริหารแบงก์อยากแยกกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 ว่าด้วยสัดส่วนการปล่อยกู้ลูกค้าเฉพาะราย (SLL) ใน พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ พร้อมเสนอลดความเข้มงวดบอร์ดแบงก์ "บัณฑิต" ขอพิจารณาอีกครั้ง ส่วนแผนมาสเตอร์แพลน2 เพิ่มขอบเขตการทำธุรกิจและจำนวนสาขาแบงก์ต่างชาติมากขึ้น หวังทดแทนธุรกรรมที่ขาดของระบบการเงินไทย พร้อมหนุนแบงก์ควบรวม ส่วน ธปท.ควรขายหุ้นสถาบันการเงินออกไป

เมื่อวานนี้ (6 ส.ค.) ตั้งแต่เวลา 09.30-12.00 น. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดยนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ได้จัดประชุมประจำปีระหว่างธปท.กับสมาคมธนาคารต่างชาติ ซึ่งมีผู้บริหารที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 21 แห่ง เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจช่วงปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงภาพรวมของระบบสถาบันการเงินในไทย

นายบัณฑิต เปิดเผยภายหลังจากการหารือร่วมกันว่า ธนาคารต่างชาติส่วนใหญ่มีความเป็นห่วงแนวทางปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฉบับใหม่ โดยเฉพาะปัญหาวงเงินให้กู้กับลูกค้าเฉพาะราย (Single Landing Limit) หรือ SLL ที่มีการเพิ่มรายละเอียดมากขึ้น นอกเหนือจากจำกัดต่อรายในสัดส่วนที่ไม่ให้เกิน 25% ของเงินกองทุนทั้งขั้นที่ 1 และ 2 โดยอยากให้นับแยกกองทุนขั้น 1 และ 2 ออกจากกันเหมือนกฎหมายเดิม ยังมีการสอบถามแนวทางการปรับตัวและวิธีการอลุ่มอะล่วยในการปล่อยกู้กรรมการธนาคาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ธปท.จะติดตามการปรับตัวของธนาคารต่างชาติต่อไป

นอกจากนี้ ธปท.และสมาคมธนาคารต่างชาติมีความเห็นตรงที่มองว่าในระยะต่อไปสภาพแวดล้อมการเงินในต่างประเทศอาจมีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ดีนักเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ รวมทั้งต้องเผชิญปัจจัยด้านราคาน้ำมันแพงและเงินเฟ้อเร่งตัวสูง ถือเป็นข้อจำกัดต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมถึงสร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินไทยเป็นระยะๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงตลาด สภาพคล่อง และด้านเครดิตในการทำธุรกิจ

ส่วนแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ที่จะเริ่มประกาศใช้ในช่วงต้นปีหน้า ธปท.ได้ชี้แจงว่าจะเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติที่อยู่ในไทยมีบทบาทมากขึ้นทั้งด้านการแข่งขันและส่งเสริมให้รายย่อยและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น จึงจะมีการเพิ่มขอบเขตการทำธุรกิจที่กว้างขึ้นและมีช่องทางผ่านสาขาที่มากขึ้น โดยจะเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มและลดช่องว่างในธุรกรรมบางประเภทที่สถาบันการเงินไทยขาดหายไป ซึ่งทั้งจำนวนสาขาและจังหวะเวลาเป็นเรื่องที่ธปท.จะพิจารณาต่อไป

“ในแผนมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 ธปท.ได้ส่งเสริมให้สถาบันการเงินไทยมีการแข่งขันมากขึ้น โดยมีขนาดใหญ่ขึ้นผ่านการควบรวมแบบสมัครใจตามกลไกตลาด พร้อมทั้งลดบทบาทภาครัฐในแง่ของความเป็นเจ้าของด้วย ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนก็มีการบริหารจัดการที่ดีในเรื่องนี้”

สำหรับภาพรวมระบบการเงินไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ระบบสถาบันการเงินไทยยังมีความมั่นคงและปัจจัยพื้นฐานที่ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากตลาดการเงินต่างประเทศบ้าง แต่ก็สร้างความเข้มแข็งและรองรับความไม่แน่นอนจากต่างประเทศได้ รวมทั้งยังช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปได้ดี โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ระบบสถาบันการเงินไทยมีกำไรทั้งสิ้น 5.7 หมื่นล้านบาท สินเชื่อมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 10% ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ให้แก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนเป็นหลัก และมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 6.4% ในช่วงไตรมาส 2 ทำให้ระบบสถาบันการเงินมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) เฉลี่ยที่ 15.2% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำที่ธปท.กำหนด คือ 8.5%

“หากเศรษฐกิจโลกมีการชะลอลงอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและโยงมายังการประกอบธุรกิจของธนาคารด้วย ซึ่งทำให้กระทบอัตราการขยายตัวสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ได้ ส่วนปัญหาหนี้เอ็นพีแอลนั้นทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างชาติต่างมีแนวโน้มลดลง”
กำลังโหลดความคิดเห็น