1. “ในหลวง”ทรงเตือนสติ “ศาล ปค.”อย่าทำให้ประชาชนผิดหวัง!
เมื่อวันที่ 15 ก.ย.(เวลาประมาณ 17.30น.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำคณะตุลาการศาลปกครองชั้นต้นจำนวน 22 คน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทสรุปความว่า ทรงรู้สึกยินดีที่ผู้พิพากษาศาลปกครองปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และทรงขอให้ทำตามที่ได้ปฏิญาณ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประเทศชาติ “ถ้าไม่ปฏิบัติตามที่ปฏิญาณ ก็ทำให้คนเสียใจ ผิดหวัง ถ้าคนผิดหวัง เป็นอันตรายมากสำหรับการปกครองประเทศและความเป็นอยู่ของประเทศ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงย้ำให้ผู้พิพากษาศาลปกครองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แม้ผู้พิพากษาศาลปกครองจะมีจำนวนไม่มาก แต่นับว่าเป็นจำนวนที่สำคัญ หากได้แสดงความรู้ เป็นคนดี และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่มีหน้าที่ต่อๆ ไป ที่จะได้ทำอะไรด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพราะถือว่าเป็นหน้าที่เหมือนกัน ถ้าทุกคนทำตาม บ้านเมืองก็อยู่รอดได้ ไม่มีปัญหา ขอให้ผู้พิพากษาศาลปกครองเป็นผู้มีประโยชน์แก่บ้านเมือง ทำให้คนทั่วไปมีความหวัง และขอให้มีความเข้มแข็ง กล้าหาญในการทำงานทำความดี ปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจที่ซื่อตรงอย่างที่ได้ปฏิญาณ เพื่อความเจริญของประเทศชาติและนำประโยชน์กลับมาให้คนทั่วไป
“ในหลวง” ทรงแนะตุลาการศาลปกครองทำหน้าที่ซื่อสัตย์-เป็นตัวอย่างคนทำดี
ในหลวงทรงแนะตุลาการศาลปค.ซื่อสัตย์เป็นปกติทำดีเพื่อคนไทย
2. “สมชาย”ได้เป็นนายกฯ ฉลุย หลังต่อรองผล ปย.ในพรรคลงตัว พร้อมเปิดฉากเจรจา “พันธมิตรฯ”!
หลังนายสมัคร สุนทรเวช ถูกดับฝันไม่ได้เป็นนายกฯ อีกครั้ง เนื่องจาก 5 พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ส.พรรคพลังประชาชนบางส่วนไม่สนับสนุนและบอยคอตด้วยการไม่เข้าประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ทำให้สภาฯ ล่ม ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ได้ กระทั่งนายสมัครเกิดอาการถอดใจ ขอยุติบทบาทจากการถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ(แต่ไม่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค) ปรากฏว่า แกนนำ 3 ส.ของพรรคพลังประชาชน คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ,นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ได้เดินสายเข้าพบแกนนำ 5 พรรคร่วมรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 ก.ย.เพื่อแจ้งให้ทราบถึงการประกาศวางมือของนายสมัคร ขณะที่ 5 พรรคร่วมรัฐบาลต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนต่อไป ไม่เปลี่ยนขั้วไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ และพร้อมสนับสนุนบุคคลที่พรรคพลังประชาชนเสนอให้เป็นนายกฯ คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ส.ใดใน 3 ส.ก็ตาม ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ต่างมองว่า นายสมชายเหมาะจะเป็นนายกฯ ที่สุด ส่วนท่าทีของ ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนนั้น แตกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มภาคเหนือสายนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ และภรรยานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และกลุ่มอีสานพัฒนา หนุนนายสมชายเป็นนายกฯ แต่อีกฝ่ายหนึ่งคือ กลุ่มเพื่อนเนวินซึ่งเคยสนับสนุนนายสมัครเป็นนายกฯ แต่เมื่อนายสมัครถอดใจ จึงเปลี่ยนมาหนุน นพ.สุรพงษ์แทน ซึ่ง นพ.สุรพงษ์จัดอยู่ใน “แก๊งออฟโฟร์”ที่ใกล้ชิดนายสมัคร ทั้งนี้ เมื่อที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน(เมื่อ 15 ก.ย.)มีมติเสนอชื่อนายสมชายเป็นนายกฯ ส่งผลให้ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินซึ่งมีสมาชิก 73 คนไม่พอใจ จึงออกแถลงการณ์ให้กรรมการบริหารพรรคทบทวนมติดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า บุคคลที่จะเป็นนายกฯ ต้องไม่เป็นบุคคลที่จะเป็นเงื่อนไขหรือสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือการเผชิญหน้ารุนแรงมากขึ้น กลุ่มเพื่อนเนวิน ยังขู่ด้วยว่า ส.ส.ในกลุ่มฯ จะขอใช้เอกสิทธิ์ตาม รธน.ในการโหวตเลือกนายกฯ โดยอิสระ ไม่ขึ้นกับมติพรรค ด้านกรรมการบริหารพรรคไม่สนท่าทีของกลุ่มเพื่อนเนวิน โดยได้เดินหน้านำมติที่สนับสนุนนายสมชายเป็นนายกฯ ให้ที่ประชุม ส.ส.พรรครับรอง ทางกลุ่มเพื่อนเนวินจึงบอยคอตด้วยการไม่ร่วมลงมติและวอล์กเอ๊าท์ออกจากห้องประชุมทันที ทั้งนี้ มีรายงานว่า ระหว่างประชุม ทางกลุ่มเพื่อนเนวินได้อ้างกับที่ประชุมว่า หากให้นายสมชายเป็นนายกฯ ทหารจะออกมายึดอำนาจ เพราะมีข่าวว่ากองทัพไม่ยอมรับนายสมชาย ด้านนายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชาชน ไม่สบอารมณ์ที่กลุ่มเพื่อนเนวินไม่หนุนนายสมชายเป็นนายกฯ จึงได้ออกมาชี้ว่า หากไม่สามารถยุติพรรคแตกแยกดังกล่าวได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน และต้องยุบสภาก่อนมีการโหวตเลือกนายกฯ ในวันที่ 17 ก.ย. อย่างไรก็ตาม วันต่อมา(16 ก.ย.) นายสมชาย และนางเยาวภา ภรรยา ได้เข้าเจรจากับนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินที่ทำการพรรค อาคารไอเอฟซีที โดยนางเยาวภาพยายามพูดหว่านล้อมให้กลุ่มเพื่อนเนวินทำตามมติพรรคที่สนับสนุนนายสมชายเป็นนายกฯ ขณะที่นายสมชายยืนยันว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ไม่ได้คัดค้านนายสมชายเป็นนายกฯ ไม่เท่านั้นนายสมชายยังได้โทรศัพท์หาหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค แล้วเปิดสปีคเกอร์โฟนให้กลุ่มเพื่อนเนวินฟังเพื่อยืนยันว่า ทุกพรรคจะเข้าร่วมประชุมสภาในวันที่ 17 ก.ย.และสนับสนุนนายสมชายเป็นนายกฯ ทั้งนี้ มีรายงานว่า กลุ่มเพื่อนเนวินได้พูดถึงเรื่องโควตารัฐมนตรีที่ทางกลุ่มควรจะได้รับ โดยเสนอว่าควรคิดตามจำนวน ส.ส. ซึ่งทางกลุ่มฯ ควรจะได้ 6 ตำแหน่ง จากเดิมที่ได้อยู่ 4 ตำแหน่ง ดังนั้นอีก 2 ตำแหน่งที่กลุ่มเพื่อนเนวินจะขอ ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีช่วยกระทรวงระดับกลางอีก 1 ตำแหน่ง ด้านนายสมชายรับปาก โดยบอกว่า ขอให้ผ่านตรงนี้ไปก่อน แล้วค่อยพูดกันอีกครั้ง หลังจากนั้นท่าทีของ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินจึงเปลี่ยนไป โดยได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ยืนยันว่าพร้อมจะสนับสนุนนายสมชายเป็นนายกฯ ในการประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ วันที่ 17 ก.ย. หลังจากนั้นในช่วงค่ำวันเดียวกัน(16 ก.ย.) นายสมชายก็ได้เปิดแถลงพร้อมกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคเพื่อยืนยันอีกครั้งว่า ทุกพรรคเห็นชอบการเสนอชื่อตนเป็นนายกฯ ขณะที่ผู้สื่อข่าวถามนายสมชายว่า จะดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณอย่างไร จะนำกลับประเทศหรือไม่ นายสมชาย ซึ่งเป็นน้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ตอบว่า “รัฐบาลเราไม่ได้ตั้งมาเพื่อปกป้องท่านใดท่านหนึ่ง รัฐบาลมีเป้าหมายสนับสนุนกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามเป้าหมาย...” ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.สัดส่วน และประธานคณะทำงานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่น พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลทบทวนการสนับสนุนนายสมชายเป็นนายกฯ เนื่องจากเป็นระเบิดเวลาที่จะส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยและเสถียรภาพของประเทศ เพราะนายสมชายไม่ได้เป็นเพียงนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นผู้แทนถาวร เนื่องจากแต่งงานกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ นอกจากนี้นางเยาวภายังถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติ และจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนายสมชายแน่นอน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันประชุมสภาฯ เพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่(17 ก.ย.) ปรากฏว่า ทุกพรรคต่างเข้าประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง โดยหลังจากมีผู้ลงชื่อร่วมประชุม 425 คนจาก 470 คน ซึ่งถือว่าเกินกึ่งหนึ่งแล้ว นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ จึงได้เปิดประชุมและดำเนินการประชุมต่อจากการประชุมเมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ ให้เป็นนายกฯ มาคราวนี้ ทางพรรคพลังประชาชนจึงได้เสนอชื่อนายสมชาย รองหัวหน้าพรรคฯ เป็นนายกฯ และหลังจากลงมติเลือกนายกฯ โดยวิธีเปิดเผยด้วยการขานชื่อตามลำดับอักษร ปรากฏว่า นายสมชายได้รับเลือกเป็นนายกฯ ด้วยคะแนน 298 เสียง ขณะที่นายอภิสิทธิ์ได้ 163 เสียง มีผู้งดออกเสียง 5 คน เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสมัคร สุนทรเวช ส.ส.สัดส่วนและหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ได้เดินทางมายังรัฐสภาด้วย แต่มาถึงหลังจากการโหวตเลือกนายกฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายสงสัยว่า นายสมัครเดินทางมาไม่ทันจริงๆ หรือเจตนามาช้าเพราะไม่อยากลงมติเลือกนายสมชายเป็นนายกฯ กันแน่ ทั้งนี้ หลังนายชัยได้นำรายชื่อนายสมชายขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสมชายเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ก.ย. โดยนายสมชาย ได้กล่าวหลังเสร็จพิธีรับพระบรมราชโองการ โดยยืนยันว่า “จะบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทุ่มเท เสียสละ ด้วยวิริยะอุตสาหะ มีคุณธรรม ยึดมั่นในหลักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อความเป็นธรรมเรียบร้อยในบ้านเมือง” นอกจากนี้ นายสมชายยังขอให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาสู่ความปรองดอง ไม่ถือโทษโกรธกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายสมชายได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดโผ ครม.เพื่อทูลเกล้าฯ ในเร็วๆ นี้นั้น ปรากฏว่า ได้เกิดกระแสวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ตำแหน่งใน ครม.เพิ่มจากพรรคร่วมรัฐบาล เช่น มีรายงานว่า ทางพรรคชาติไทยซึ่งเดิมได้ตำแหน่งรองนายกฯ 1 ตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการ 2 ตำแหน่ง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง แต่นายบรรหาร พยายามขอโควตาเพิ่มอีก 1 ตำแหน่งเพื่อให้นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชาย ขณะที่ทางพรรคเพื่อแผ่นดิน นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรค ขอตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีอุตสาหกรรมคืน อย่างไรก็ตาม ทาง ส.ส.พรรคพลังประชาชนบางส่วน(เช่น นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี)ไม่เห็นด้วยที่จะให้นายสุวิทย์มีตำแหน่งใน ครม.จึงได้เข้าชื่อคัดค้าน โดยอ้างว่านายสุวิทย์ เป็นพวกพันธมิตรฯ มีทัศนะทางลบและเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคพลังประชาชน สำหรับรายชื่อ ครม.ชุดใหม่นั้น มีรายงานว่า นายสมชายได้ขีดเส้นให้ 5 พรรคร่วมรัฐบาลส่งรายชื่อรัฐมนตรีอย่างช้าภายในวันที่ 20 ก.ย. เนื่องจากต้องส่งรายชื่อให้สำนักเลขาธิการ ครม.ตรวจสอบคุณสมบัติก่อนนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ในวันที่ 21 ก.ย. ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังแทน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ประกาศเว้นวรรคไม่ขอรับตำแหน่งรัฐมนตรี(โดยอ้างว่าติดคดีหวยบนดิน) อาจจะเป็น ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตหัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลนายสมัคร นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งมีความแข็งกร้าวและสนับสนุนให้ม็อบหนุนรัฐบาลต้านกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงที่ผ่านมา อาจจะได้กลับมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยอีกครั้งหรือรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งใน ครม.ชุดใหม่ด้วย สำหรับท่าทีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น หลังจากประกาศไม่ยอมรับนายกฯ จากพรรคพลังประชาชน โดยชี้ว่าไม่ว่า ส.ใดใน 3 ส.ก็มีปัญหา เพราะเป็นรัฐบาลเดียวกัน จึงได้ประกาศชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลต่อไปนั้น ปรากฏว่า หลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ แล้ว นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้โทรศัพท์เจรจากับแกนนำพันธมิตรฯ คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ว่าต้องการให้รัฐบาลทำอะไรบ้าง ซึ่งนายสนธิตอบไปว่า ต้องปรึกษาแกนนำก่อน อย่างไรก็ตาม หลักการเดิมที่พันธมิตรฯ เคยประกาศไปก็คือ พรรคพลังประชาชนต้องออกจากการเป็นรัฐบาลก่อน ดังนั้นการจะตัดสินใจอะไร แกนนำพันธมิตรฯ จะยืนอยู่บนหลักการและฟังเสียงพี่น้องประชาชนที่ร่วมชุมนุมด้วย ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ พูดถึงเรื่องดังกล่าวระหว่างแถลงข่าววันนี้(20 ก.ย.)ว่า การที่นายสมชายโทรศัพท์มาพูดคุย ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะเจรจาวันใดและเรื่องใดบ้าง เพราะนายกฯ มีภาระเร่งด่วน คือการตั้งรัฐมนตรี ที่ยังแย่งกันอยู่ แกนนำพันธมิตรฯ จึงเปิดโอกาสให้แก้ปัญหาภายในพรรคก่อน แต่พันธมิตรฯ ยังคงยืนยันในจุดยืนเดิมคือ ค้านการแก้ไข รธน.และไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนเพื่อเปิดทางให้การเมืองใหม่ และว่า วันที่ 21 ก.ย.จะเปิดเวทีรับฟังความเห็นในทำเนียบรัฐบาลเกี่ยวกับการเมืองใหม่ โดยจะฟังความเห็นจากนักวิชาการและตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เมื่อได้โครงร่างแล้ว จะนำเข้าสู่ที่ประชุมแกนนำพันธมิตรฯ เพื่อประกาศในเบื้องต้นในวันที่ 22 ก.ย.เพื่อให้สาธารณชนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่า รูปแบบการเมืองใหม่ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่ามกลางการส่งสัญญาณเจรจาจากนายสมชาย กลับปรากฏข่าวว่า ตำรวจเตรียมสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในเร็วๆ นี้ โดย พล.ต.จำลอง ออกมาแฉว่า ตำรวจมีแผนจะสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในช่วงเช้ามืดวันที่ 22-23 ก.ย.นี้ โดยตนได้รับข่าวจากพันธมิตรฯ ที่มีญาติเป็นตำรวจที่ จ.ศรีสะเกษว่า ตำรวจจากหลายจังหวัดจะเข้ามาจับแกนนำและสลายการชุมนุมในวันดังกล่าว โดยจะมีการจับทั้งแกนนำรุ่น 1 และรุ่น 2 อย่างไรก็ตาม ทาง พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รอง ผบ.ตร.และรักษาการผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ออกมาปฏิเสธในวันนี้(20 ก.ย.)ว่า ตำรวจไม่ได้เตรียมใช้กำลังสลายการชุมนุมตามที่แกนนำพันธมิตรฯ อ้างแต่อย่างใด
“สมชาย” ฟุ้งฮัลโหล “สนธิ”แฮปปี้ ลุ้นเจรจาอย่างเป็นทางการ
“สมชาย” รับสนองโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ เข้าเฝ้า 22 ก.ย.นี้
โปรดเกล้าฯ “สมชาย” เป็นนายกฯแล้ว
แย้มโผ ครม. คาด “สมชาย”ถ่างควบ กห.สกัด 2 พล.อ.
“สมชาย” ฉลุยพรรคร่วม รบ.โหวต 298 เสียง นั่งเก้าอี้นายกฯ ตามคาด
“สนธิ” เผยบทสนทนากับ “สมชาย” ยืนกราน พปช.ต้องออกไป
“จำลอง”ยัน“สมชาย”ต่อสายตรงอ้อน“พันธมิตรฯ”ยุติการชุมนุม
“สมชาย” รับโผ ครม.มีปัญหายังไม่ลงตัว อุบควบกลาโหม
3. “ไทย”ยัน วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ กระทบแค่เล็กน้อย ด้าน “ประกันสังคม”เจ๊งหุ้นเลห์แมน 40 ล้าน!
เมื่อวันที่ 15 ก.ย.สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ปัญหาหนี้เสียจากวิกฤตสินเชื่อบ้านที่ปล่อยกู้แก่ผู้มีเครดิตต่ำกว่ามาตรฐาน(ซับไพรม์) ได้ส่งผลให้วาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง เลห์แมน บราเธอร์ ที่มีอายุเก่าแก่เกือบ 160 ปี ต้องยื่นขอล้มละลายต่อศาลล้มละลายในนครนิวยอร์ก ขณะที่เมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนกิจและบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ ก็ขาดทุนมหาศาลจนต้องขายกิจการให้แบงก์ ออฟ อเมริกาในราคา 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้านบริษัทประกันภัยใหญ่ที่สุดในโลกแห่งสหรัฐฯ อย่างเอไอจี ก็ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ส่งผลให้กระทรวงการคลังและธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ได้ตัดสินใจเข้าอุ้มด้วยการผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยกู้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจชั้นนำของโลก 10 แห่งได้ลงขันกัน 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดการเงิน เพื่อสยบความตื่นตระหนกของตลาด ทั้งนี้ ข่าวการล้มของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้หุ้นทั่วโลกร่วงอย่างหนัก โดยดัชนีหุ้นไทยรูดต่ำสุดในรอบ 20 เดือน อย่างไรก็ตาม นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สายเสถียรภาพการเงิน เชื่อว่า ผลกระทบต่อระบบการเงินของไทยจากปัญหาเลห์แมน คงน้อย เพราะเลห์แมนไม่มีสาขาในไทย เพียงแต่เลห์แมนทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารไทย 14 แห่ง ซึ่งมีขนาดธุรกรรมในเกณฑ์ต่ำ จึงไม่กระทบต่อฐานะและความมั่นคงของธนาคารไทย ด้านนายกฤษดา กวีญาณ ที่ปรึกษาการลงทุนบริษัท เลห์แมน บราเธอร์(ประเทศไทย) เผยว่า เลห์แมนมีธุรกรรมในไทยประมาณ 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการปล่อยกู้โดยตรงในรูปหุ้นกู้ประมาณ 4 หมื่นล้าน ส่วนที่เหลือเป็นเงินลงทุนต่อเนื่องที่เคยสัญญาว่าจะปล่อยกู้ให้เมื่อโครงการมีความคืบหน้า ซึ่งส่วนนี้ผู้กู้จะได้รับผลกระทบทันที เพราะบริษัทไม่สามารถให้เงินลงทุนต่อเนื่องได้แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจท่องเที่ยวและบริการซึ่งมีอยู่ 2-3 แห่ง ส่วนกรณีที่เอไอจีขาดสภาพคล่อง จะส่งผลต่อฐานะของเอไอเอที่เป็นบริษัทลูกหรือไม่นั้น นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ยืนยันว่า ไม่น่าจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของเอไอเอในไทย ที่มีสัดส่วนสินทรัพย์ในเอไอจีเพียง 1.036% เท่านั้น และว่า จากการตรวจสอบฐานะการเงินของเอไอเอยังแข็งแกร่ง โดยสิ้นเดือน ก.ค.2551 มีสินทรัพย์รวม 383,000 ล้านบาท มีกำไรสะสมกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท มีเงินสำรอง 286,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ข่าวการขาดสภาพคล่องของเอไอจีได้ส่งผลให้ลูกค้าในหลายประเทศแห่ถอนเงินจากเอไอจีและถอนกรมธรรม์จากเอไอเอ กระทั่งธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนช่วยเหลือสภาพคล่องด้วยการปล่อยกู้ให้เอไอจี 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์(ประมาณ 2.89 ล้านล้านบาท)เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่น นับเป็นมาตรการช่วยเหลือครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อป้องกันความปั่นป่วนในตลาดเงินและจำกัดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับสิทธิถือหุ้นในเอไอจี 79.9% รวมทั้งมีสิทธิวีโต้การจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้น ด้านเอไอจี ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันด้วยว่า จะเพิ่มสภาพคล่องในบริษัทแม่ด้วยตัวเอง จะไม่มีการลดทุนของบริษัทลูกหรือดึงเงินจากบริษัทลูกในเอเชียมาช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัทแม่แต่อย่างใด ขณะที่นายโทมัส เจมส์ ไวท์ รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไปบริษัท เอไอเอ ประเทศไทย เปิดแถลงยืนยันฐานะการเงินของบริษัทว่า มั่นคงแข็งแกร่ง ไม่ได้รับผลกระทบใดใดจากบริษัทแม่ที่นิวยอร์ค พร้อมย้ำว่า ผู้ถือกรมธรรม์ของเอไอเอประเทศไทยกว่า 4.8 ล้านราย จะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ,ธปท.,สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ฯลฯ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. เพื่อหารือวิกฤตเศรษฐกิจโลกหลังเลห์แมนประสบภาวะล้มละลาย โดยหลังประชุม นายสมชายได้อ่านเอกสารแถลงข่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อประเทศไทยบ้าง แต่ไม่น่าหนักใจ พร้อมยืนยันว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่รัฐบาลจะเดินหน้าทำต่อไปแน่นอน ด้านนายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เผยว่า กองทุนประกันสังคมมีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท และผลจากการที่เลห์แมนประสบปัญหา ทำให้มูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศลดลงประมาณ 0.2% หรือประมาณ 40 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นายสุรินทร์ อ้างว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยได้กำชับให้ผู้จัดการกองทุนต่างประเทศทั้ง 6 ราย เพิ่มความระมัดระวังในการเข้าลงทุนแล้ว
AIA โชว์ฐานะการเงินแข็งแกร่ง ยันไม่ล้มตามบริษัทแม่ในสหรัฐฯ
เครือ"AIG-ING"วิ่งพล่านลั่นฐานะการเงินยังแกร่ง
แบงก์ชาติจับตาต่างชาติโยกเงินกลับ เชื่อไม่รุนแรงเหมือนซับไพรม์
เฟดประกาศอุ้ม AIG ให้กู้ $85,000 ล้าน หวั่นเกิดหายนะการเงินทั่วโลก
4. “ศาลฎีกาฯ”เลื่อนพิพากษาคดีซื้อที่รัชดาฯ พร้อมออกหมายจับ “ทักษิณ-พจมาน” ขณะที่เจ้าตัว ยังอ้าง ถูกใส่ร้าย!
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ,ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงานและผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)พ.ศ.2542 มาตรา 4 ,100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ,83 ,86 ,91 ,152 และ 157 จากกรณีที่คุณหญิงพจมานเข้าประมูลซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ 4 แปลง มูลค่า 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เมื่อถึงกำหนดนัด ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองและทนายจำเลยไม่มาศาล ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลได้ติดประกาศหมายนัดฟังคำพิพากษาให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่มาฟังคำพิพากษา จึงต้องออกหมายจับตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 32 วรรคสอง จึงให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 21 ต.ค.(เวลา 14.00น.) พร้อมมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษาต่อไป ด้านนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ชี้ว่า การติดตามตัวจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษา เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหากประสานมายังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอตัวจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร้ายข้ามแดน พนักงานอัยการก็มีคณะทำงานเตรียมพร้อมดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตาม นายเศกสรรค์ บอกว่า หากวันที่ 21 ต.ค.ยังไม่ได้ตัวจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษา ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่า จะอ่านคำพิพากษาลับหลังหรือไม่ ด้าน พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พูดถึงการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานมาฟังคำพิพากษาว่า ต้องรอศาลส่งหมายจับจำเลยทั้งสองมาก่อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการออกประกาศสืบจับ โดยกองทะเบียนประวัติอาชญากรจะกระจายประกาศสืบจับไปยังสถานีตำรวจและด่านตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ เพื่อติดตามจับกุมตามคำสั่งศาล แล้วรายงานไปยังอัยการ ส่วนเรื่องการประสานส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนนั้น พล.ต.ต.สุรพล บอกว่า ขณะนี้ศาลได้ออกหมายจับใหม่มา(ก่อนหน้านี้ศาลเคยออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานให้มารายงานตัว หลังขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ แล้วหนีไปอังกฤษ) จึงต้องพิจารณาว่าจะมีผลต่อหมายจับเก่าหรือไม่อย่างไร โดยอัยการต้องเลือกว่าจะใช้หมายไหน และทางกองคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาว่าหมายจับเก่าสิ้นสุดลงหรือไม่ ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จะเลื่อนอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ 1 วัน(16 ก.ย.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ได้นัดพิจารณาคดีที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้รัฐบาลพม่าวงเงิน 4 พันล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณถูกฟ้องเป็นจำเลย ฐานใช้อำนาจกระทำผิด โดยเป็นเจ้าพนักงานเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จากกรณีอนุมัติเงินกู้ดังกล่าวแก่รัฐบาลพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียม โดยให้รัฐบาลพม่าสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัท ชิน แซทเทลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร ทั้งนี้ การพิจารณาคดีในวันดังกล่าวจะเป็นการพิจารณาคดีครั้งแรก หลังจากที่ศาลได้รับฟ้องไว้ แต่เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณไม่มาศาล ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบความชั่วคราว และให้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป โดยเมื่อใดที่ได้ตัวจำเลยมา ศาลจะนำคดีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง นอกจากความเคลื่อนไหวในแง่คดีความแล้ว ก็ยังมีความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณด้วย โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย. พ.ต.ท.ทักษิณได้ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังหลบหนีไปอยู่ประเทศอังกฤษ โดยยืนยันเหมือนที่เคยพูดก่อนหน้านี้ว่า ตนถูกใส่ร้าย และว่า “ข้อกล่าวหาทั้งหลายของตนที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการสมคบคิดกันเล่นงานตนในทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม เมื่อคดีมีเหตุจูงใจจากเรื่องทางการเมือง จึงต้องแก้ด้วยวิถีทางการเมืองเท่านั้น” พร้อมย้ำว่า “ตนจะไม่เดินทางกลับประเทศไทยเพื่อต่อสู้คดี จนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม” พ.ต.ท.ทักษิณ ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้ตนมุ่งสมาธิไปที่การทำมาหากินในต่างแดนเพื่อเลี้ยงลูกและเมีย แต่ปฏิเสธที่จะพูดถึงการขายสโมสรแมนฯ ซิตี้ให้แก่บริษัทจากอาบูดาบีในราคา 200 ล้านปอนด์ ซึ่งสูงกว่าตอนแรกที่ พ.ต.ท.ทักษิณซื้อกิจการดังกล่าวมาในราคา 81 ล้านปอนด์ พ.ต.ท.ทักษิณยังออกอาการเสียดายที่เงินของตนถูกอายัดไว้ ไม่เช่นนั้นตนคงหาประโยชน์จากวิกฤตทางการเงินในสหรัฐฯ ขณะนี้ได้ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่า “มีโอกาสเกิดขึ้นมากมายในสหรัฐฯ ตอนนี้ แต่เพราะเงินทั้งหมดของผมถูกอายัดไว้ ผมเลยไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปฉกฉวยโอกาสที่นั่นได้”
“แม้ว” เริงร่า! ศาลเลื่อนพิพากษาคดีทุจริตซื้อที่ดิน
“แม้ว” ส่งสัญญาณ! แค้นนี้ต้องชำระด้วยปัจจัยการเมือง
5. “กัมพูชา”อัด ทหารไทยพฤติกรรมเยี่ยงโจร รุก “ปราสาทตาควาย” ขณะที่ “ไทย”ยัน ของไทย 100%!
หลังจากกัมพูชาได้พยายามอ้างสิทธิเหนือปราสาทและพื้นที่ทับซ้อนหลายแห่งของไทยบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เช่น ปราสาทตาเมือนธม และพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร ปรากฏว่า ล่าสุด กัมพูชาได้กล่าวหาว่าไทยเข้ายึดครองปราสาทตาควาย ทั้งที่ฝ่ายไทยยืนยันว่าปราสาทดังกล่าวเป็นของไทย อยู่ใน จ.สุรินทร์ ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ของกัมพูชารายงานเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ว่า ทหารไทยกว่า 100 นายได้เข้าไปยึดครองปราสาทตากระเบย(ตากระบือ หรือปราสาทตาควาย)เมื่อวันที่ 10 ก.ย.และปฏิเสธที่จะเคลื่อนย้ายออกไป แม้ว่าทหารกัมพูชาที่ตรึงกำลังอยู่ในพื้นที่ประมาณ 50 นายจะพยายามส่งสัญญาณให้ทหารไทยออกนอกพื้นที่ ด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้าก็ตาม ด้านนายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า จากข้อมูลที่มีอยู่ ปราสาทตาควายอยู่ฝั่งไทย และว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าใจว่าทหารของทั้งสองฝ่ายคงส่งคนไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้รับรายงานว่าสถานการณ์ได้คลี่คลายลงแล้ว หลังจากนั้น 2 วันต่อมา(16 ก.ย.) นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ประท้วงกรณีที่กัมพูชารุกล้ำพื้นที่ปราสาทตาควายของไทย โดยได้ยื่นบันทึกช่วยจำให้ฝ่ายกัมพูชาโดยผ่านนายอึง เซียน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อยืนยันว่าปราสาทดังกล่าวเป็นของไทย ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศระบุเหตุที่ต้องยื่นบันทึกช่วยจำว่า เพื่อประท้วงกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากฝ่ายท้องถิ่นของไทยประท้วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ไม่เป็นผล พร้อมกันนี้ บันทึกช่วยจำของกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้กัมพูชาหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุกล้ำพื้นที่ดังกล่าวอีก พร้อมยืนยันว่า จะใช้กลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี)เพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี วันต่อมา(17 ก.ย.) มีรายงานว่า ทหารไทยและทหารกัมพูชาระดับท้องถิ่นตกลงกันว่า จะมีการประชุมของผู้นำระดับสูงไทย-กัมพูชาเพื่อหารือกรณีปราสาทตาควายในปลายเดือน ก.ย.นี้ และระหว่างนี้ ห้ามฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรุกล้ำเข้าไปยังองค์ปราสาทดังกล่าว อย่างไรก็ตาม วันเดียวกัน(17 ก.ย.) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ได้กล่าวหาทหารไทยว่า มีพฤติกรรมเยี่ยงโจร โดยการสร้างสภาวะอนาธิปไตยบริเวณพื้นที่ชายแดน รวมทั้งที่ปราสาทตาเมือนและปราสาทตาควายด้วย พร้อมย้ำว่า กัมพูชาไม่สามารถยอมรับการกระทำดังกล่าวได้ พร้อมเรียกร้องให้มีการเจรจาแก้ปัญหาชายแดนอีกครั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียงสมเด็จฯ ฮุน เซน จะกล่าวหาว่าไทยรุกล้ำปราสาทต่างๆ แต่เขายังพยายามนำข้อขัดแย้งกับไทยขึ้นสู่ศาลโลกและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี)อีกครั้ง โดยสมเด็จฯ ฮุน เซน กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขาต้องเตรียมการและเตรียมเอกสารต่างๆ ให้ดี เพราะไม่แน่ใจว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงการนำเรื่องความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาไปสู่การพิจารณาของศาลโลกอีกครั้ง หรือเลวร้ายกว่านั้นก็คือ การนำเรื่องกลับสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพราะกัมพูชาใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุดต่อการรุกรานดินแดนกัมพูชาของทหารไทย และการบุกรุกนั้นมีขึ้นในหลายพื้นที่ตลอดแนวชายแดนที่ติดกับไทยซึ่งยาวกว่า 500 กิโลเมตร ด้านนายพูลศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ยืนยันว่า ปราสาทตาควายเป็นของไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ มีประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปชัดเจน อยู่กันมาเป็นร้อยปีแล้ว ถ้าเขมรรุกล้ำเข้ามา ก็มีทหารจากกองกำลังสุรนารีคอยรักษาอธิปไตยของชาติอยู่ ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้เข้ารับฟังบรรยายสรุปที่กระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อ 18 ก.ย. และให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า จะมีความเห็นแจ้งไปยังกัมพูชาว่า ไทยยินดีจะเจรจาเพื่อความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยอาจจะมีการประชุมทวิภาคีในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐฯ.
“ฮุนเซน” ปากดีด่าทหารไทย “โจร” หาล้ำแดนอีก