xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนค้านรัฐแทรกธปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีสัมมนาประจำปี ธปท.วันสุดท้าย ภาคเอกชนชี้แบงก์ชาติต้องเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือและดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน "ปิยสวัสดิ์" ยันการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาถูกทาง ชี้การเมืองไม่ควรเข้ามาแทรกแซง เพราะอาจส่งผลต่อด้านนโยบายในระยะยาว "ธาริษา" คาดภายเดือน ต.ค.นี้น่าจะได้ กนง.ชุดใหม่ ทันการประชุมครั้งหน้า พร้อมเล็งใช้เงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าแทนเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน

งานสัมมนาวิชาการธปท.ประจำปี 2551 เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.) เป็นวันที่ 2 ได้มีการสัมมนา สำหรับหัวข้อ "การดำเนินนโยบายการเงินในโลกที่ผันผวน : ความท้าทายและกลยุทธ์ตั้งรับ"นั้น นายวีรพงษ์ รามางกรู ประธานทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็น 1 ในผู้ร่วมอภิปรายนั้นได้แจ้งว่า ไม่สามารถมาร่วมงานเสวนาได้ ทำให้ในการเสวนาวานนี้ มีนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานคณะที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่บริการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) และนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท.
นางอัจนา กล่าวว่า กว่า 80%ของประเทศทั่วโลกใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน(Inflation Targetting) มีอัตราเงินเฟ้อหลุดกรอบที่กำหนดไว้แทบทั้งสิ้น ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูง จึงต้องมีการปรับกรอบเงินเฟ้อที่เป็นเป้าหมายใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

**หนุนนโยบายธปท.เดินถูกทาง**
ขณะที่นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การตัดสินใจในการใช้นโยบายการเงินไม่ควรให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคลังกับธปท. จึงควรมีการพูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผลที่แท้จริง และไม่ควรอย่างยิ่งที่มีการข่มขู่กันหรือใช้อำนาจการเมืองเข้ามาบีบบังคับ ขณะเดียวกันการคัดเลือกคณะกรรมการธปท.ก็ไม่ควรมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมีการดูแลปัญหานี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาขึ้นในระยะยาวได้ ซึ่งตัวบุคลากรที่เข้ามาทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงินและระบบสถาบันการเงินจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่ดีกว่าสถาบันการเงินในระบบที่ธปท.ดูแลอยู่ จึงจำเป็นต้องให้ได้คนที่ดีและไม่มีมลทิน เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของธปท.และรักษาผลประโยชน์ของภาคธุรกิจเอกชนในระบบด้วย
"นโยบายการเงินไม่ได้เป็นคำตอบทุกอย่าง ซึ่งทุกฝ่ายต่างต้องการให้ธุรกิจของตนเองเติบโตดี ดังนั้น วิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ ต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ใช้เครื่องมือที่ดี และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ จึงจะส่งผลให้นโยบายการเงินและนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ราบรื่นด้วยดี อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว และเห็นว่าช้าเกินไป ซึ่งควรดำเนินการเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ"นายปิยสวัสดิ์กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายการเงินในปัจจุบันกำหนดให้ผู้ว่าการธปท.มีกลไกความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งบุคลากรของธปท.ก็มีการดำเนินการที่ดีอยู่แล้ว ฉะนั้นนักการเมืองที่ทำผิดก็ควรทำตัวอย่างที่ดีโดยการรับผิดชอบด้วยการลาออกไป จึงเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วส.ส.จะมีมติขับไล่และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ด้านนายศุภวุฒิ กล่าวว่า การคาดการณ์หรือแนวโน้มการดำเนินนโยบายของธปท.ในปัจจุบันนี้ มีผลกระทบต่อการตัดสินของภาคธุรกิจ มากกว่าเมื่อมีการการดำเนินนโยบายการเกิดขึ้นจริง เช่น การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธปท.จริงๆ เสียอีก ทำให้ธปท.จำเป็นที่จะต้องระวังผลกระทบในส่วนนี้ด้วย เพราะในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ตนยังมองว่า แรงกดดันของเงินเฟ้อต่อระบบเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะในขณะนี้ ผลกระทบจากปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินที่เกิดต่อเนื่องจากวิกฤตซับไพร์มได้ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลก จำเป้นต้องอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงินโลกต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความเสี่ยงให้เกิดเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
"ธปท.จำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือต่อสังคม และมีการดำเนินงานนโยบายการเงินที่มีความชัดเจน โปร่งใส ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการกระทำ เพราะขณะนี้สถาบันการเงินในระบบส่วนใหญ่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และดูแลความเสี่ยงของตัวเองดีอยู่แล้ว นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยควรมีการสนับสนุนเรื่องการลงทุนให้มากขึ้น รวมทั้งลดการใช้น้ำมันให้น้อยลงในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงมากกว่าที่จะห่วงว่าเศรษฐกิจโลกชะลอกระทบส่งออกของไทย และมองว่าธปท.ควรให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดการคาดการณ์เงินเฟ้อของตลาดได้ดี"นายศุภวุฒิกล่าว

**ชี้ ศก.ไทยยังมีความเสี่ยง 3 ด้าน**
ขณะที่นายบัณทิต กล่าวว่า อิสระของการดำเนินนโยบายของธปท.เป็นความอิสระในการใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายตามความเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลเถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลไม่เข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจการใช้เครื่องมือต่างๆ
สำหรับความท้าทายในช่วงต่อไปนั้น เศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับความเสี่ยง 3 ด้าน คือ 1.อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งธปท.ใช้นโยบายการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นเครื่องมือในการดูแล โดยผ่านกลไกของดอกเบี้ย เพื่อดูแลไม่ให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกินไป คืออยู่ในระดับ 0-3.5% เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจของภาคเอกชน
2.ฐานะต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และหนี้ต่างประเทศ รวมทั้งความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งธปท.ยืนยันว่าสามารถดูแลได้ แม้มีความเสี่ยง โดยจะใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว แบบมีการจัดการเข้า และนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเป็นเครื่องมือในการดูแล 3.ระบบสถาบันการเงิน ซึ่งธปท.กำลังจะประกาศใช้บาเซิล 2 ในปี 2552 ซึ่งขณะนี้สถาบันการเงินต่างก็มีการปรับตัว และเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเกินกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดไว้ 8.5%

***ธาริษาหวังบอร์ด ธปท.คลอด
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.คาดว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ชุดใหม่ หลังจากชุดเก่าหมดวาระลงเมื่อสิ้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมาน่าจะไม่เกิดสูญญากาศในการทำงานและคาดว่าในเดือนต.ค.นี้จะได้กนง.ชุดใหม่ ถือเป็นการประชุมของกนง.ครั้งต่อไป โดยในการทำงานครั้งแรกต้องมีการศึกษากระบวนการทำงานก่อน หลังจากนั้นกนง.ชุดใหม่จะมีการกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินร่วมกับกระทรวงการคลังและจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
"จากการศึกษา พบว่า กรอบเงินเฟ้อที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแทนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเงินเฟ้อทั้งสองตัวนี้เดิมก็มีการเกาะไปในทิศทางเดียวกัน และอัตราเร่งของการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงใกล้เคียงกัน แต่ในขณะนี้การเพิ่มขึ้น และระยะเวลาของอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 ตัวแตกต่างกัน"
ส่วนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ทำประชามติ เพื่อแก้ปัญหาประเทศชาตินั้น ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาประเทศนั้น ควรจะใช้วิธีการที่เบ็ดเสร็จ ทำครั้งเดียวไม่ต้องทำอีก และจะต้องเป็นกระบวนการที่มีความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยการลดแรงกดดันสถานการณ์ทางการเมืองถึงเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรทำแล้วจบได้จริง จบได้เร็ว ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกลับมากระทบเศรษฐกิจได้มากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น