xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ลั่นต้องอิสระนโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติฮึดสู้ ต้านการเมืองคุกคาม รองผู้ว่าฯ ลั่นขอแค่อิสระในการใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน ส่วนที่เหลือพร้อมให้ความร่วมมือกับคลังกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ย้ำยังเน้นดูแลปัจจัยเงินเฟ้อด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เชื่อจีดีพีตามเป้า 4.8-5.8% ขณะที่ รมช.คลังมือใหม่นั่งไม่ติด สวนควรคุยในที่ลับ ยันต้องลดดอกเบี้ยปล่อยบาทอ่อนค่า ส่วนประชาธิปัตย์ทำงานอืดกรณีเลี้ยบตั้งบอร์ด ธปท.ผิดกม. ล่าสุดจะยื่น ป.ป.ช.

ในงานสัมมนา "ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ทางเลือก...ทางรอด" จัดโดยคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ที่ รร.เรดิสัน กรุงเทพฯ วานนี้ (7 ส.ค.) นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร้องขอความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน จากกระทรวงการคลังและรัฐบาล โดยชี้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระด้านนโยบายา
"ขณะนี้ปัจจัยภายนอกทั้งราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลก กดดันเศรษฐกิจไทยค่อนมากอยู่แล้ว ทุกฝ่ายไม่ควรจะสร้างปัจจัยซ้ำเติมไปมากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นและเรื่องการเมือง" นางอัจนากล่าวและยอมรับว่า ธปท.พร้อมให้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลังในการการวางแผนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เนื่องจาก ธปท.ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชน ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายที่จะมาตั้งนโยบายเศรษฐกิจของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่เพราะสามารถเห็นแตกต่างกันได้ แต่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ได้คำนึงถึงเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอยู่แล้วว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งที่ผ่านมาเศรษฐกิจน่าจะรับได้ และถ้าลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ก็ไม่แน่ใจว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องได้อย่างไรหากความเชื่อมั่นไม่มี
"การวัดผลของการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยจะต้องมองในระยะยาว เพราะการตัดสินใจในวันนี้กว่าจะส่งผลก็ต้องใช้เวลา 4-8 ไตรมาส ดังนั้นถ้าหากในอนาคตเศรษฐกิจแย่ลงหลังจากที่มีการขึ้นดอกเบี้ยก็คงไม่สามารถบอกได้ว่า มาจากการขึ้นดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเศรษฐกิจประกอบด้วยหลายๆ ปัจจัย"
ทั้งนี้ กนง.จะประชุมครั้งถัดไป ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ หลังเมื่อ วันที่ 16 ก.ค. ได้มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร(อาร์/พี) ระยะ 1 วัน จาก 3.25% เป็น 3.50% เป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี
รองผู้ว่าฯ ธปท.ยังกล่าวถึง 6 มาตรการ 6 เดือน ของรัฐบาลด้วยว่า คงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เพราะราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงขณะนี้ยังเป็นตัวบั่นทอนอำนาจซื้อของประชาชนอยู่ต่อไป แต่คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียง หรือน้อยกว่าไตรมาสแรกที่โต 6% เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2 ยังคงขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวประมาณ 6.9% เนื่องจากรายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วง คือการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงในไตรมาส 2 แต่ถือว่าดีกว่าในครึ่งแรกปี 50 ที่ติดลบ 3% ขณะที่การส่งออกยังเป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ
"ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาอย่างเดียวคือ อัตราเงินเฟ้อสูงซึ่งหากปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงนานๆ เช่น ระดับ 5-6% ประมาณ 2-3 ปี ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีการดูแลเรื่องเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับ 2-3% ได้ ก็จะส่งผลให้ไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้" นางอัจนาย้ำ
ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมช.คลัง กล่าวว่า หน่วยงานของรัฐมีอิสระในการใช้เครื่องในการดำเนินนโยบาย แต่ไม่ควรมีอิสระมากเกินไป ตนเห็นว่าปัญหาความเชื่อมั่น ปัญหาซับไพรม์ ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อสูง ใช้การปรับเพิ่มดอกเบี้ยแก้ปัญหาไม่ได้ดีที่สุด ควรปรับลดดอกเบี้ยมากว่า โดยเห็นว่าดอกเบี้ยร้อยละ 2 และปล่อยให้ค่าเงินบาทออ่อนค่าลง อยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มการส่งออก
"กระทรวงการคลังและ ธปท.ไม่ควรออกมาให้ความเห็นที่ขัดแย้งกันในเชิงนโยบาย และหากรัฐบาลมุ่งเน้นการบริหารงานเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต การดำเนินนโยบายการเงินการคลังก็ควรจะต้องสอดคล้องกันไป หากจะทะเลาะกันต้องพูดเป็นการภายใน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมีจุดยืนของตนเอง และต้องยอมที่จะนิ่ง" นายสุชาติกล่าวและว่า นโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมาถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐ หากดำเนินนโยบายผิดทางรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่หากนโยบายถูก แต่นำไปปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลก็ต้องหาผู้รับผิดชอบด้วยเช่นกัน และในเร็วๆ นี้จะหารือกับนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจพร้อมรองผู้ว่าฯ ธปท.เพื่อรับทราบกรอบความคิดและการดำเนินงานของ ธปท.ว่ามีปัญหาและมีความประสงค์อย่างไร
เช้าวันเดียวกัน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กล่าวผ่านรายการวิทยุในฐานะคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้มีปัญหาจริง แต่ไม่ได้ถึงขั้นวิกฤติรุนแรงตามที่มีการพูดกัน ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ควรใช้มาตรการที่รุนแรง เช่น ชะลอการลงทุน ปรับขึ้นดอกเบี้ย ชะลอการบริโภคภายในประเทศ บีบสถาบันการเงินไม่ให้ปล่อยกู้ เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม
"แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ว่าฯ ธปท. และไม่ควรไปก้าวก่ายการทำหน้าที่ของ ธปท.เพราะมีอำนาจตามกฎหมาย ขณะเดียวกันทีมที่ปรึกษาก็จะให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลว่าควรจะทำอย่างไร ถ้าแนวนโยบายไปในทางเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล เป็นเรื่องของนโยบาย...จะไม่ชอบใจใครแล้วไปเที่ยวปลดคงไม่ได้หรอก" นายณรงค์ชัยกล่าว
นายณรงค์ชัย กล่าวถึงกระแสต่อต้านการเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลว่า จะไม่ถอนตัวออกจากการเป็นที่ปรึกษารัฐบาลแม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ในบริษัทเอกชนเพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่สำคัญคือทำให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจทุกแห่งเข้าใจถึงปัญหาให้ตรงกันก็จะสามารถกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี

***ปชป.ขู่ซ้ำ ฟ้อง ป.ป.ช.เชือดเลี้ยบ
นายกรณ์ จาติกวาณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รมว.คลังเงา กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเป็นบอร์ด ธปท.ว่า ตั้งใจว่า จะยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาในกรณีดังกล่าว ส่วนนายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค กล่าวว่า หากพบว่า มีความเสียหายให้แก่รับก็จะร้องต่อ ป.ป.ช.และแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้กับคนที่ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
"ผมไม่ได้ขู่ แต่อยู่ที่กระทรวงการคลังจะให้ความร่วมมือส่งเอกสารคำสั่งของ รมว.คลังให้เราได้เร็วแค่ไหน หากจะกั๊กไว้ก็อาจจะช้าหน่อยหากไม่กั๊กก็เร็ว" นายถาวรกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น