xs
xsm
sm
md
lg

จากกรณี Lehman Brothers ถึงการเมืองใหม่ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

วันที่ 15 กันยายน 2551 จะเป็นวันที่ทั้งโลกเศรษฐกิจต้องจารึกไว้ว่า เป็นวันที่บริษัททางการเงินขนาดยักษ์อันดับต้นๆ ของโลกที่มีนามว่า กลุ่มบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส จำกัด (Lehman Brothers) ต้องประกาศขอเข้าฟื้นฟูกิจการภายใต้ มาตรา 11 ของกฎหมายการเงินสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้บริษัทที่มีปัญหาทางการเงิน ประกาศขอล้มละลายและต้องการฟื้นฟูกิจการด้วยตนเอง

กรณีนี้นับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุด ที่แสดงให้เห็นถึงการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาหนี้เสียในสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้กับลูกค้าที่มีปัญหาความไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่มีเครดิต (ปัญหา Sub-Prime Lending)

เลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) มีจุดกำเนิดเมื่อ 158 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัวที่เป็นนายหน้าซื้อขายสินค้าเกษตร แล้วพัฒนาตัวเองต่อมาจนเป็นนายหน้าซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า, กลุ่มเลห์แมน บราเธอร์สมีธนาคารและสถาบันการเงินประเภทต่างๆ เป็นของตนเอง, เป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่เป็นนายหน้ารายหลักของการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน (Primary Dealer in the US Treasury Securities Market), เป็นบริษัทที่มีการลงทุนทั่วโลกทั้งในตลาดเงิน และตลาดทุน เป็นทั้งบริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์ และเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

นอกจากนี้ยังเป็นนายหน้ารายใหญ่ในตลาดอนุพันธ์ (Future Markets) ในตลาดการเงินต่างๆ ทั่วทั้งโลก, เป็น Investment Banker รายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก และเป็นเจ้าของบริษัทบัตรเครดิตที่มีจำนวนผู้ใช้มากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นคือบัตร American Express ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มหานครนิวยอร์ก และมีสาขาอยู่ในตลาดการเงินใหญ่ๆ ทั่วโลก ทั้งที่ลอนดอน โตเกียว และเป็นผู้เข้ามาประมูลรับช่วงเข้าไปบริหารจัดการหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินของประเทศไทย ในช่วงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงิน พ.ศ. 2540 (โดยถึงปัจจุบันผู้บริหารหลายคนก็ยังคงมีคดีค้างอยู่กับองค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)

จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท เลห์แมน บราเธอร์ส มีขนาดทางธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ (Market Cap) ประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท) มีรายรับต่อปีอยู่ที่ 59 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) ในปี 2550 และมีประมาณการรายได้สุทธิของปี 2550 อยู่ที่ 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.278 แสนล้านบาท) สินทรัพย์ของบริษัท ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 691 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 23.5 ล้านล้านบาท) มีพนักงานทั่วโลกมากกว่า 26,000 คน และเคยฟันฝ่าวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้ตลอดทั้ง 150 กว่าปีของการดำเนินงานที่ผ่านมา

แต่ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวถึงกิตติคุณในอดีตที่ผ่านมาก็ต้องมาล้มละลายลง เมื่อหนึ่งในบริษัทลูกที่มีนามว่า BNC Mortgage ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่มีปัญหาด้านเครดิต (Sub-prime Lending) ที่ต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะบ้านและที่ดิน เกิดปัญหาหนี้เสียครั้งมโหฬาร และต้องปิดตัวลงในปี 2550 โดยการปิดตัวนี้ทำให้บริษัทขาดทุนถึง 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้มูลค่าของชื่อเสียงของบริษัท (Goodwill) เสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และความเสียหายนี้ยังคงลุกลามต่อเนื่องไปจนถึงบริษัทแม่ ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 กลุ่มบริษัท เลห์แมน บราเธอร์สมียอดขาดทุนถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์ และทำให้บริษัทต้องขายสินทรัพย์ออกไปถึง 6 พันล้านดอลลาร์ หุ้นของบริษัทมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 73 และมีแนวโน้มจะลดลงต่อไปเรื่อยๆ จนในวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมาบริษัทประกาศการขาดทุนเพิ่มอีก 3.9 พันล้านดอลลาร์ และทำให้หุ้นของบริษัทดิ่งลงอีกร้อยละ 40

และแล้ววันสิ้นสุดก็มาถึงเมื่อบริษัทต้องขอความคุ้มครองตาม มาตรา 11 ของกฎหมายการเงินสหรัฐอเมริกา ที่อนุญาตให้บริษัทที่มีปัญหาทางการเงิน ประกาศขอล้มละลาย และต้องการฟื้นฟูกิจการด้วยตนเอง

ความล่มสลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ยังส่งผลทำให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อีก 2 แห่ง อันได้แก่ Merrill Lynch และ American International Group (AIG) มีแนวโน้มที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางธุรกิจที่รุนแรง และยังจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปถึงบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ อีกเป็นวงกว้าง และนักการเงินส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าปัญหาที่คงจะยิ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจแท้จริงของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง รวมทั้งยังจะส่งผลต่อระบบการเงินในระดับโลกอย่างแน่นอน

“Hamburger Crisis” เกิดขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว และเมื่อสหรัฐฯ เจ็บป่วย โลกร้ายก็จะแพร่ไปทั่วโลกอย่างแน่นอน

คราวนี้มาดูผลต่อเศรษฐกิจไทยกันบ้าง ดร.บัณฑิต นิจถาวร จากธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าประเทศไทยคงจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แต่คงไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงนัก เนื่องจากระบบสถาบันการเงินของประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องไม่มากนักต่อระบบตลาดการเงินโลก จำนวนธุรกรรมโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในตลาดล่วงหน้า และตลาดอนุพันธ์ (Future and Derivative Markets) ของประเทศไทยยังมีไม่มากนัก นอกจากนี้แล้วจากประสบการณ์เลวร้ายในวิกฤตทางการเงินในปี 2540 ที่ผ่านมา ยังทำให้ระบบสถาบันการเงินในประเทศไทยยังคงมีความระมัดระวังตัวในระดับที่สูง ไม่กล้าที่จะทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูงจนเกินไปนัก

ในตอนที่ 2 ผมจะขออธิบายปฐมเหตุของการล่มสลายของ Lehman Brothers และข้อเสนอแนะสำหรับระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่จะอยู่คู่กับระบบการเมืองใหม่ที่เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย (อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้)

ดร.ปิติ ศรีแสงนาม อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กำลังโหลดความคิดเห็น