xs
xsm
sm
md
lg

เลือกทางสว่าง 17 : เอาประชาธิปไตย ไม่เอาธุรกิจครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนตรี ศรไพศาล
ช่วงนี้ ผมขอถอดหมวกนักธุรกิจ แต่สวมหมวกฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย อดีตนักกิจกรรม นายกสโมสรนิสิต จุฬาฯ ปี 2527 ด้วยความรักและห่วงใยในบ้านเมืองจริงๆครับ หลายวันนี้ มีปรากฏการณ์ดีๆเกิดขึ้นหลายประการ

(1) อดีตนายกฯ ถูกพิพากษาตรงไปตรงมาว่า**รายการทีวีนั้น เป็นโครงสร้างที่ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะไม่ว่าจะเป็นลูกจ้าง ให้คนรถรับค่าน้ำมัน (ทั้งที่บางวันไม่ต้องเดินทาง ก็อ้างว่าที่ได้รับเป็นค่าน้ำมัน) หรือ 3 ใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าเป็นการร่วมหุ้นส่วนธุรกิจกันเพื่อหากำไร สถานีทีวีจัดเวลาให้เป็นการเอื้อประโยชน์ส่วนตัวได้หรือไม่ ? ** ผู้เป็นสปอนเซอร์จะได้ประโยชน์จากอำนาจรัฐ เช่นการได้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ? ฯลฯ เป็นกรณีชัดเรื่องที่ อำนาจจากประชาธิปไตย พึงแยกจากธุรกิจครอบครัว นี่ยังนับว่าดีกว่าอดีตนายกฯต้นตำรับที่ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์กิจการที่ตนถือผ่านครอบครัวซึ่งเป็นโนมินีนับแสนล้านบาท

(2) พรรค พปช. และพรรคร่วมรัฐบาล เห็นแล้วว่า การฝืนเอาอดีตนายกฯกลับมารับตำแหน่ง สังคมจะยอมรับไม่ได้ก็ถอยไป จะว่าไป แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยกับวิธีการทั้งหมดของพันธมิตร แต่ก็น่าคิดว่า** ถ้าคนไทยเราไม่มีบุคคลกลุ่มนี้ ที่มีความกล้าหาญ และเสียสละแสดงออกขนาดนี้ นักการเมืองจะต้องตระหนักในความถูกต้องมากกว่าที่เป็นหรือไม่ ? **โดยเหตุที่ประชาชนทั่วไปไม่อยากให้มีภาพความไม่สงบของการประท้วงจากประชาชน นักการเมืองควรมีสำนึกรักชาติพอเพียงที่จะมีความ "ละอายใจ" แก่บาป ไม่ต้องรอให้ประชาชนต้องแสดงออกขนาดนั้น จึงจะรู้สึกว่าต้องใช้จิตสำนึกบ้าง

(3) นายกฯ รักษาการ ได้ประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็เป็นเรื่องชัดเจนว่า **กลุ่มพันธมิตรฯ และประชาชนนับแสนมาชุมนุมตากแดดตากฝนด้วยใจบริสุทธิ์ (ลองไปดูจะเห็นว่า เป็นผู้มีฐานะ มีการศึกษา มีเจตนารักชาติ ไม่ได้จัดจ้างมา) ตลอดเวลากว่า 3 เดือนไม่ได้อยากสร้างความรุนแรง ผู้ใช้ความรุนแรง คือ รัฐบาลนายกฯสมัคร และ นปช. ที่ไปรุกโจมตีพันธมิตรฯ รัฐบาล** เพียงแต่คิดว่า ประกาศสภาวะฉุกเฉินไป หลายประเทศยกเลิกการท่องเที่ยว ก็สามารถใส่ร้ายพันธมิตรฯได้ ประชาชนทั่วไปก็จะไม่นิยมพันธมิตรฯ แต่วันนี้ ก็พิสูจน์แล้วว่า บ้านเมืองไม่ได้ฉุกเฉิน เฉพาะตำแหน่งนายกฯที่ไม่อยู่ในครรลองคลองธรรมต่างหากที่ฉุกเฉิน

(4) มีแนวโน้มที่จะมีการชูท่านสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯคนใหม่ ด้วยบุคคลิกความใจเย็น ดูประนีประนอม เริ่มกล่าวอย่างมีคุณธรรมระดับหนึ่งน่าชื่นชมว่า เห็นใจพี่น้องประชาชนที่ทำเนียบฯบางคนเจ็บป่วย มีความเห็นใจ แต่สื่อของรัฐ และสื่อที่กลุ่มรัฐบาลยังคุมได้ ยังคงสื่อความเพียงว่า** "พันธมิตรฯประกาศไม่รับ 3 ส." "ประชาชนเบื่อการประท้วง" ผมเห็นว่า ยังไม่เป็นธรรมพอเพียงที่จะเรียกว่าเป็น "ประชาธิปไตย" ที่แท้จริง **ผมได้ฟัง คุณ พิภพ ธงชัย ปราศรัยบนเวทีว่า "ถ้าจะเอาน้องเขยมาเป็นนายกฯ กรณีการโยกย้ายดีเอสไอเพื่อปกป้องพี่ภรรยาผู้ต้องหาทุจริตนับแสนล้านบาท จะให้ประชาชนไว้วางใจได้อย่างไร ? จะบิดเบือนต่อไปหรือไม่ ? การใช้อำนาจรัฐ เพื่อปกป้องประโยชน์ของรัฐ ติดตามจับผู้ฉ้อโกงรัฐจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ กับพี่ภรรยาผู้สนับสนุนหลักของพรรค ? ไม่ควรที่จะสื่อในลักษณะที่ว่า "เอาใครพันธมิตรฯ ก็ไม่ยอมรับ" "เลือกตั้งมาแล้วพันธมิตรฯไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่"

**ว่าที่นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พร้อมจะประนีประนอม และให้ความเป็นธรรมได้พอเพียงหรือไม่ว่า พันธมิตรฯยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องเดียว ตราบเท่าที่นักการเมืองยังใช้อำนาจรัฐเหนือความถูกต้อง เอามาโกงชาติ เอามาปกป้องคนผิด เอามาปกปิดความผิดจากกระบวนการยุติธรรม** (ไม่ใช่เฉพาะระบบพิพากษา แต่รวมถึง ปปง. ตรวจการฟอกเงิน ปปช. ตรวจการเปิดเผยทรัพย์สิน กลต. ตรวจการซุกหุ้น สรรพากร ที่เก็บภาษีอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่หาเรื่องคืนเงินผู้มีอำนาจ) พันธมิตรฯจึงยอมรับไม่ได้ ประเด็นเหล่านี้ หากว่าที่นายกฯ สมชายหวังความสงบในชาติจริง โปรดดูแลการสื่อความใช้ถูกต้องชัดเจนเป็นธรรมตามนี้ มิใช่เป็นเพียงการแสดงให้ประชาชนเชื่อว่า เลือกคนบุคคลิกนุ่มนวลแล้ว ทำไมพันธมิตรฯไม่ยอมรับอีก

วงการหุ้นเข้าใจดี การคัดเลือกคณะกรรมการบริษัทมหาชน เลือกจากผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ก็ยังต้องมีกฎห้ามทุจริต เอาประโยชน์ของกิจการมหาชน ไปให้ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นบางกลุ่ม กรรมการตรวจสอบต้องอิสระจากผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหาร กรณีมีการตรวจสอบการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยเช่นนี้ ประชาชนจะวางใจได้ผู้มีอำนาจซึ่งเป็นน้องเขยได้อย่างไร ?

โดยเฉพาะเรื่อง "บุคคลที่เกี่ยวโยงกัน" ประเภทมีธุรกิจของญาติของผู้บริหารรับสัมปทานบางอย่างเช่น บริหารงานขนส่ง หรือจัดจำหน่าย ก็คงไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะห่วงเรื่อง "ผลประโยชน์ทับซ้อน" กรณีบ้านเมืองก็ยิ่งกว่านั้น เพราะแต่ละคนมีหุ้นส่วนในเงินของรัฐ 1 ใน 65 ล้าน การบริหารเข้ากระเป๋าตัวเป็นเรื่องความขัดแย้งของผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ชาติที่ต้องระวัง ภารกิจสำคัญ ** กรณี "คดีอดีตผู้นำ" เป็นจุดสำคัญของประเทศ เราเริ่มมี "การเมืองใหม่" มาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีบทบัญญัติมากขึ้นเรื่อง การกำกับดูแล การตรวจสอบ รัฐธรรมนูญห้ามถือหุ้นเกิน 5% ต้องเปิดเผยสินทรัพย์อย่างโปร่งใสทั้งในและต่างประเทศ กฎหมาย ปปช. ห้ามมีหุ้นสัมปทาน วุฒิสภาแต่งตั้งองค์กรตรวจสอบต้องอิสระจากพรรคการเมือง เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ถูกผู้ที่อ้างว่ารักรัฐธรรมนูญ 2540 ฉีกหมดแล้ว**

รัฐธรรมนูญป้องกันเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ก็โอนหุ้นให้ลูก (แต่มีหนี้แถม 4,500 ล้านบาท 1 วันก่อนโอนหุ้นจริง 734 ล้านบาท) โอนไปต่างประเทศ กลายเป็นหุ้นสโมสรฟุตบอลได้อย่างไร ในส่วนวุฒิสภาก็มีการส่งลูกพี่น้องภรรยา ส.ส. เข้ามาในวุฒิสภา ฯลฯ จึงมีความสำคัญที่ทำคดีให้กระจ่าง เรื่องดีที่สุดคือการเป็นบทเรียนแบบอย่างนักการเมืองคือ "อย่าเข้ามาโกงชาติ" หากยกระดับคุณธรรมจริยธรรมนักการเมืองได้ ก็จะเป็นคุณูปการต่อแผ่นดินทีเดียว

(5) เรื่องสุดท้ายที่เห็นด้วยกับ ว่าที่นายกฯ สมชาย คือ ความรักผูกพันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในฐานะพี่น้องคนไทยร่วมชาติ ที่ผ่านมา สังคมถูกนักการเมืองวางหลุมพรางให้เชื่อว่า ถูกแบ่งเป็น 2 ข้าง คนที่อยู่ข้างระบอบทักษิณก็ถูกหลอก คนที่อยู่คนละข้างกับระบอบทักษิณก็ถูกหลอก คนตรงกลางที่เบื่อหน่ายกับการทะเลาะกันของคน 2 ข้างก็ถูกหลอก เพราะเล่ห์กลนักการเมือง ต้องการให้สังคมรู้สึกว่า เป็นความขัดแย้งทะเลาะกันของคน 2 กลุ่มเท่านั้น เพียงเพื่อกลบเกลื่อนความผิดของตัว และ ปกปิดแนวความคิดอันตราย ที่มุ่งใช้อำนาจรัฐ กดดันแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม บิดเบือนความถูกต้องชอบธรรม เพื่อหาช่องทางเอาสมบัติที่ได้จากการใช้อำนาจรัฐสร้างความได้เปรียบ **บนภาระของภาครัฐและประชาชนกลับไปกระเป๋าผู้ทุจริตอีกครั้งหนึ่ง หากนายกฯสามารถประนีประนอม สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การประท้วงเกิดขึ้นเพื่อพิทักษ์ความถูกต้อง** เช่น ไม่โยกย้ายดีเอสไอ ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อดีตนายกฯพ้นผิด หรือให้พรรคที่กรรมการบริหารทุจริตเลือกตั้งพ้นความผิด ไม่ทำให้คนเชื่อเพียงว่า มีการประท้วงเพราะเป็นคนละพวก ! จึงเป็นการริเริ่มความสมานฉันท์อย่างแท้จริง

สุดท้ายนี้ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตยได้ขอชวนให้พี่น้องร่วมกันเรียกร้องว่า เราคาดหวังที่จะได้ "นายกรัฐมนตรีที่มีจิตประชาธิปไตย ฝักใฝ่ความดี มีความรัก และเป็นศักดิ์ศรีของชาติไทย" ไม่เป็นโนมินีของใครอีกต่อไป ไม่เอาประชาธิปไตยไปเป็นธุรกิจครอบครัวอีกต่อไป

มนตรี ศรไพศาล
ฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย
(montree4life@yahoo.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น