xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกปี52ไม่ใช่ฮีโร่พยุงศก. 3ธ.ค.ลุ้นทิศทางดอกเบี้ยกนง.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประเทศไทยค่อนข้างอ่อนไหวต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากทีเดียว เนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 50% เป็นการส่งออกและภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ถือเป็นกลจักรสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ มันน่าสนใจมากที่ ธปท.ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปีนึ้ขึ้นจากกรอบ 16.0 - 19.0% เป็น 20.0 - 23.0% แต่ปรับลดประมาณการในปี 2552 ลง”

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท,) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยควรให้ความสนใจกับประเด็นสำคัญในเรื่องการปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของปี 2551 และ 2552 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก เศรษฐกิจไทยได้ชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้อย่างแน่ชัด

เดือนที่แล้วทางบริษัทได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2551และปี 2552 ลงเหลือ 5.0% และ 4.0% ตามลำดับ ซึ่งดูเหมือนว่าเราจะมองโลกในแง่ดีเกินไป ดังนั้นเราจึงปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้าลงเหลือ 4.5% และ 3.5% ตามลำดับ

GDPครึ่งปีหลังชะลอตัวลงเร็วกว่าที่คาดไว้

กนง. ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจากกรอบ 4.8 - 5.8% เหลือ 4.3 - 5.0% โดย GDP ของไทยเติบโตในอัตรา 6.1% ในไตรมาส 1/51 และ 5.3% ในไตรมาส 2/51 จากกรอบประมาณการใหม่ของ ธปท. บ่งชี้ว่า ธปท.ได้คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตจะชะลอตัวลงอย่างแรงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เหลือเพียง 2.9% ในกรณีเลวร้ายที่สุด และ 4.3% ในกรณีที่ดีที่สุด

ประเด็นสำคัญอีกอันที่นักลงทุนควรใส่ใจคือกรอบคาดการณ์ดังกล่าวถือว่ากว้างมากผิดปกติสำหรับการคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งสะท้อนได้ว่าผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงินในยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาสภาพคล่องตึงตัวต่อภาคการค้าระหว่างประเทศและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความไม่แน่นอนสูงมาก

อย่างน้อยที่สุดแม้ภาคการส่งออกจะค่อนข้างมีเสถียรภาพอย่างน่าเหลือเชื่อ แต่การบริโภคและการลงทุนในประเทศกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากต่างได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบข้างต้น รวมถึงปัญหาการเมืองในประเทศ ดังนั้นประมาณการของเราจึงโน้มเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมมากกว่า โดยอยู่ในช่วงกลางล่างของกรอบดังกล่าว หรือ 3.3% ซึ่งส่งผลให้ประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีอยู่ที่ระดับ 4.5% เช่นเดียวกันเราเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงยาวนานหลายปีและคาดว่าจะไม่เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่สูงกว่าระดับคาดการณ์ที่ 3.5% ในปี 2552

แรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่อนคลายลง

ข้อดีของการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างรุนแรงคือการช่วยผ่อนคลายแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมัน จากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาด Dubai เฉลี่ยปี 2551 และ 2552 ที่ระดับ 104.1 และ 95 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล กนง.จึงได้ปรับลดประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ลงจากระดับ 7.5 - 8.8% เหลือ 6.0 - 6.5% และในปีหน้าลงจากระดับ 5.0 - 7.5% เหลือ 3.0 - 4.0% แม้ว่าราคาน้ำมันดิบล่าสุดได้ปรับตัวลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ

อย่างไรก็ตาม แม้ กนง.จะเขียนในรายงานฉบับดังกล่าวว่า ขณะที่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้ออย่างชัดเจนผ่อนคลายลง แต่ก็ไม่มีสัญญาณโดยตรงถึงแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 3 ธันวาคม กนง.อีกเช่นกัน

ดังนั้น อาจกล่าวว่าหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจแย่ลงมาก กนง.เองก็พร้อมที่จะเข้ากอบกู้สถานการณ์ด้วยนโยบายการเงินที่เหมาะสม เรายังคงเชื่อว่าจะเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเดือนธันวาคมและอีก 0.5% ในปี 2552 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายคืออัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วันปรับตัวลงเหลือ 3.00% ในเดือนธันวาคมปีหน้า

ตัวเลขส่งออกปีนี้ดีขึ้นแต่ปีหน้าลดลง

ประเทศไทยค่อนข้างอ่อนไหวต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากทีเดียว เนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมมากกว่า 50% เป็นการส่งออกและภาคการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ถือเป็นกลจักรสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ มันน่าสนใจมากที่ ธปท.ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปีนึ้ขึ้นจากกรอบ 16.0 - 19.0% เป็น 20.0 - 23.0% แต่ปรับลดประมาณการในปี 2552 ลงจากระดับ 12.5 - 15.5% เหลือ 7.0 - 10.0% ซึ่งเหตุผลในการปรับประมาณการของปีนี้ขึ้นถือว่าชัดเจนทีเดียว เนื่องจากเมื่อวันที่17ต.ค.ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์เพิ่งประกาศตัวเลขการส่งออกของไทยว่าขยายตัวในอัตรา 19.4% โดยประมาณ ซึ่งส่งผลให้การส่งออก 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวประมาณ 24% การปรับลดประมาณการในปีหน้านั้นค่อนข้างชัดเจนเหมือนกัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของอัตราการขยายตัวของภาคส่งออกในปีนี้ จะปรับตัวลง

ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

รายงานภาวะเงินเฟ้อฉบับดังกล่าวยังเน้นย้ำด้วยว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและเราก็เห็นด้วยเช่นกัน โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ไทยปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าระดับหนี้สินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับตัวลงเช่นกัน นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯด้วย

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯจะอ่อนตัวลงจากเงินทุนไหลกลับไปยังอเมริกา ในมุมมองของเราเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะไม่ส่งผลบวกต่อภาคการส่งออกมากนัก แต่จะทำให้การกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อมาลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีปัญหามากกว่า ในทางตรงกันข้ามเนื่องด้วยสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ไม่มีความแน่นอน จึงดูเหมือนว่า กนง.ได้ปรับลดบทบาทของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้เคยให้ความเห็นถึงเสณาฐกิจของประเทศไทยในปี 2552 ว่า โจทย์เศรษฐกิจของไทยวันนี้แม้ว่าจะหนัก แต่ไม่ยากเกินไปเพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้วจากปี 2540 ขึ้นอยู่กับผู้ทำโจทย์คือรัฐบาลว่ามีความพร้อมหรือไม่ โดยเฉพาะใน 3 สถานการณ์ที่จะนำประเทศไทยไปสู่ความเสี่ยงต่อความมั่นคง ประกอบด้วย 1. การเมืองไม่มีเสถียรภาพ บ้านเมืองเสมือนปกครองไม่ได้และไม่เป็นปึกแผ่น 2. อยู่ภายใต้สภาพการณ์บ้านเมืองที่รัฐบาลเปราะบาง มีเหมือนไม่มีเพราะทำงานยาก ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้หากเกิดในสภาวะปกติคงไม่เป็นไร แต่เกิดตอนนี้น่าเป็นห่วง และ 3. ประเทศไทยไม่มีความหมายใดๆในสายตาเวทีโลก ถูกดูแคลนจากประเทศขนาดเล็ก

ในส่วนของการเตรียมมาตรการป้องกันวิกฤติการเงินโลกที่จะกระทบต่อประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ต้องหาร่วมกันอย่างใกล้ชิดในทุกมิติ เพราะเมื่อเกิดวิกฤติขึ้นจริงๆแล้วจำเป็นต้องใช้ เช่น การพิจารณาถึงความจำเป็นในการค้ำประกันสินเชื่อระหว่างธนาคาร การค้ำประกันเงินฝาก โดยที่การเตรียมการเหล่านี้อาจหยิบใช้ได้เมื่อจำเป็น

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มองว่าแย่แน่ ทั้งการบริโภค การท่องเที่ยว ซึ่งประเด็นที่สำคัญคือ จำเป็นต้องโฟกัสตลาดใหม่ที่ชัดเจน เช่น ตลาดในตะวันออกกลางและจีน โดยอาศัยจังหวะและสถานการณ์นี้ดำเนินการทีเดียว 2 อย่างพร้อมกันคือ กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐาน

"โดยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยนั้นไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องร่วมกันคิดหาทางออก รอบคอบ ไม่ประมาท โดยเฉพาะในภาวะเช่นนี้ จำเป็นต้องมีรัฐบาลที่ทำงานได้ (Workable Government) ขณะเดียวกับที่รัฐบาลต้องพยายามสื่อความเข้าใจต่อประชาชน ฝากรัฐมนตรีคลังว่าอย่าเลียนแบบปี 2540 เราต้องคิดเอง อย่าเชื่อฝรั่ง"

ที่มา : ฝ่ายวิจัย บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น