xs
xsm
sm
md
lg

จับตาซับไพรม์ระลอกใหม่ ดัชนีชี้เงินไหลกลับเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กูรูยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ "อุ๋ย" จับตาปัญหาซับไพรม์สหรัฐฯ เดือนกันยายน ระบุเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน ชี้ ถ้ายังไม่จบ ยื้อเวลาเงินไหลกลับเอเชียออกไปอีก ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยหมดห่วงแล้ว หลังราคาน้ำมันขยับลง จนคลายความกังวลที่แบงก์ชาติ จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อ ด้าน "ทนง" แนะ เร่งการบริโภค-พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งเป็นฐานรับการพัฒนาประเทศ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนา "ทิศทางดอกเบี้ยและค่าเงินบาท" ซึ่งจัดโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย จำกัด ว่า ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ในประเทศสหรัฐฯ นั้น น่าจะยังไม่จบ และต้องจับตาต่อไปในเดือนกันยายนนี้ว่าจะเกิดปัญหารอบใหม่อีกหรือไม่ ซึ่งหากในเดือนดังกล่าว ไม่มีสถาบันการเงินในสหรัฐถูกปิดอีก เม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียเพื่อไปแก้ไขปัญหา น่าจะไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคเอเชียอีกครั้งรวมทั้งประเทศไทย

ขณะเดียวกัน หากมีการปิดสถาบันการเงินเกิดขึ้น เม็ดเงินลงทุนที่คาดว่าจะไหลกลับเข้ามาในเอเชียรวมทั้งไทย อาจจะไม่ไหลกลับเข้ามา และน่าจะกินระยะเวลาไปอีกนาน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทย เนื่องมาจากปฏิเสธไม่ได้ว่า การขึ้นลงของตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ แม้กลุ่มนักลงทุนดังกล่าวจะมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยประมาณ 40% ของมูลค่าตลาดรวม แต่มีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นไทยประมาณ 80-90% ขณะที่นักลงทุนในประเทศที่มีสัดส่วนลงทุนประมาณ 60% ของมูลค่าตลาดรวม กลับมีผลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยเพียงนิดหน่อยเท่านั้น

“ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเองคงไม่มีอะไรแล้ว จากนี้ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลงจากระดับ 147 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล มาอยู่ที่ 115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล น่าจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสบายใจขึ้นได้จากเดิมที่คาดว่าเงินเฟ้อจะขึ้นไปถึงตัวเลข 2 หลัก แต่ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้ออีกต่อไป เพราะสัดส่วนของพลังงานในเงินเฟ้อมีอยู่ประมาณ 3.94% โดยเป็นราคาอาหารดิบ 2.69% และเงินเฟ้อพื้นฐาน 2.57% เมื่อราคาพลังงานลดลงประกอบกับราคาอาหารดิบไม่เติบโตขึ้นจากเดิมมากนัก ชัดเจนว่าเงินเฟ้อจะต้องลง ดังนั้นความจำเป็นที่แบงก์ชาติจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อหมดไปแล้ว” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวอีกว่า โอกาสที่ช่วงไตรมาส 3 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าเหมือนช่วงเดือนมีนาคมถึงปัจจุบันมีน้อยลง เนื่องมาจากเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 3 น่าจะกลับมาโตได้เล็กน้อยประมาณ 1% หลังจากที่โตมากในไตรมาสที่ 2 ประมาณ 3% เป็นผลมาจากการที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ที่ชะลอตัวลงไป จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในระยะสั้นแข็งค่าขึ้นมา

ทั้งนี้ คาดว่าไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจของยุโรปน่าจะกลับมาบวกได้เล็กน้อยไม่ถึง 0.5% ในขณะที่ญี่ปุ่นการเติบโตในไตรมาสที่ 3 อาจจะยังติดลบ โดยในไตรมาสที่3/51 เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นน่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสหรัฐโดยเปรียบเทียบยังน่าจะดีกว่ายุโรปและญี่ปุ่น

“ในส่วนเอเชียเองเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลงมามาก ประมาณ 1-2% จากไตรมาสที่1 แต่ไทยปรับตัวลงน้อยกว่าเพื่อนบ้านเพราะได้ผลดีจากเศรษฐกิจในภาคการเกษตรช่วยเอาไว้ ทั้งนี้มองว่าในไตรมาสที่ 3 ทั่วโลกมีแนวโน้มจะหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย และบางประเทศเริ่มลงอัตราดอกเบี้ยแล้ว เพื่อหันมาดูการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงไป ซึ่งเชื่อว่าไทยเองก็จะเป็นเช่นนั้นคือจะหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นมากกว่าจะดูแลเรื่องเงินเฟ้อ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศไทยยังนับว่าแข็งแกร่งและน่าจะสามารถเติบโตต่อไปได้จาก 4 ปัจจัย นั่นคือ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งมากไม่เหมือนในอดีต โดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมมาถึงจุดที่มีความต้านทางต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเห็นว่าการส่งออกของไทยยังไปได้ดีไม่ว่าค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาจะแข็งค่าขึ้นก็ตามแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพ

ส่วนปัจจัยที่ 2 คือ ปัญหาการเมืองไม่ได้กระทบเศรษฐกิจไทย โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยยังเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามถ้าปัญหาการเมืองยังไม่จบและรุนแรงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบให้นักลงทุนใหม่ไม่เข้ามาในเมืองไทย หรือนักลงทุนเก่าถอนเงินลงทุนออกไปได้ แต่มองว่าปัจจุบันสถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่เลวร้ายขนาดนั้น

ปัจจัยที่ 3 ความไม่แน่นอนในตลาดโลกยังมีอยู่ ในขณะที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียมีกำไรเยอะแต่ประเทศสหรัฐฯกลับขาดทุนจำนวนมาก ส่วนภาวะเศรษฐกิจในยุโรปค่อนข้างกลางๆ จากจุดนี้ทำให้โลกจะต้องหาจุดสมดุลต่อไป ขณะที่ปัญหาซับไพร์มเองยังไม่จบ โดยมีผู้ประเมินว่าน่าจะมีความเสียหายจากปัญหาดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปัจจบันเพิ่งแก้ไขปัญหาไปได้เพียง 50% ส่วนอีก 50% ที่เหลือยังต้องติดตามกันต่อไป

ส่วนปัจจัยสุดท้ายตือ ตลาดเงินตลาดทุนของประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้นมาก เพราะประเทศไทยผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทยมีมาตรฐานที่เป็นสากลและอยู่ในระดับที่ดี เช่นเดียวกับตลาดทุนที่พัฒนาไปมากหลังวิกฤติ

“อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีจุดอ่อนที่สำคัญ 2 จุด ความสามารถในการบริโภคที่ลดลง จากราคาพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น และนโยบายของภาครัฐในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศซึ่งไทยช้ามากในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Mega Project) ในประเทศ โดยเฉพาะระบบขนส่ง ซึ่งปัจจุบันท่าเรือ ถนน หรือระบบขนส่งยังมีเท่าเดิมซึ่งถึงจุดที่ควรจะขยายแล้ว ไม่เช่นนั้นการพัฒนาประเทศในอนาคตจะเกิดปัญหาได้ถือเป็นจุดอ่อนในการพัฒนาประเทศในระยะยาว” นายทนง กล่าว

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตอนนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคด้วยกันถือว่ามีเสถียรภาพ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทอ่อนค่า 2.9% , สิงคโปร์ 4.3% , มาเลเซีย 4.9% , อินเดีย 4.8% ขณะที่ค่าเงินในยุโรปตะวันออกนั้น ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาอ่อนค่าไปแล้วกว่า 10% และยุโรปอ่อนค่าไป 6.6% ทั้งนี้การอ่อนค่าลงของเงินทั่วโลกนี้เป็นผลจากค่าเงินสหรัฐที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ที่ปรับตัวดีขึ้น

“ในระยะสั้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มแข็งค่า ดังนั้นค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในระยะสั้นยังมีแนวโน้มทรงตัวหรืออ่อนค่าลงได้เล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับภูมิภาคถือว่ามีเสถียรภาพอยู่” นายคณิศ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น